โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลิขสิทธิ์เจ้าปัญหา - สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก

THINK TODAY

เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 13.25 น.

ลิขสิทธ์ทางปัญญา

ปัญหาที่คาใจ

เรื่องนี้เป็นที่คาใจ เวลาไปพูดคุยกันที่ไหนก็มักจะได้ยินได้เห็นอยู่ร่ำไปว่า มีความสับสนปนเปไม่ค่อยเข้าอกเข้าใจ กันสักเท่าไหร่ 

นี่เอามาเขียนก็หวังว่าจะเข้าใจ แต่ไม่แน่ใจ ว่าจะเข้าใจหรือจะยิ่งคาใจ

เอาเพลงเป็นที่ตั้งก่อน เรื่องลิขสิทธิ์อาหารเสริมหรือ ลิขสิทธิ์ชีวิตตัวละครก็ฟังเป็นของเสริม 

เพราะเพลงนี่ได้ยินได้ฟังกันมา พอฟังแล้วก็ถามว่า ลิขสิทธิ์ของใคร 

ทำไมซื้อซีดีมาแล้ว เปิดให้ฟังในร้านกาแฟไม่ได้ เดี๋ยวจะละเมิดลิขสิทธิ์

ทำไมศิลปิน จึงนำเพลงไปร้องให้คนฟังไม่ได้ เดี๋ยวจะโดนจับ  

จะพยายามไม่อธิบายด้วยภาษากฏหมาย เพราะอธิบายแล้วจะยิ่งไม่เข้าใจ ถ้าไม่จำเป็น

เริ่มต้นที่ ความคิดง่ายๆ เอาของของคนอื่นไปใช้นั้นได้หรือไม่ 

เพื่อนเอาผ้าเช็ดตัวที่เราตากไว้ไปใช้อาบน้ำ แล้วเอามาตากคืน ได้หรือไม่

ตอบว่า เอาไปใช้ได้ แต่เราไม่ค่อยพอใจ หรือเราจะอนุญาตไม่ให้เอาไปใช้ก็ได้ ถ้าของชิ้นนั้นเป็นของเรา

ถูกไหม

เราต้องตั้งต้นให้ถูกกันก่อนว่า ของชิ้นนั้นเป็นของเรา จะให้ใครเอาไปใช้ควรเป็นสิทธิ์ของเรา ไม่ใช่ว่าก็เห็นกางเกงใน เห็นผ้าเช็ดตัวตากอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรให้เสียหาย แค่เอาไปใส่เอาไปใช้ ทำไมจึงไม่ยอม ใช้แล้วก็จะเอามาตากไว้ที่เดิม

ถ้าเราคิดว่า ของของใคร จะให้ใครใช้หรือไม่ เราต้องอนุญาตก็อ่านต่อ 

แต่ถ้าคิดว่า ของของใคร ถ้าใครไม่ใช้ ถือว่าคนอื่นใช้ได้ ก็ไม่ต้องอ่านแล้ว เพราะที่เหลืออ่านไปก็คงไม่เข้าใจ

ทีนี้มาถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ ก็ต้องให้รู้แน่ว่าใครเป็นเจ้าของ บางทีคนใช้ คนร้อง อาจไม่ได้เป็นเจ้าของก็ได้ 

ก็อุปมาว่าคล้ายๆ ผ้าไหม ผ้าทอ ผืนงาม เบื้องต้นให้รู้ว่าใครทำ ใครถัก ใครทอ คนนั้นก็เป็นเจ้าของ

เอาง่ายๆ สมชายแต่งเพลง สมชายก็ควรเป็นเจ้าของ แต่เพลงหนึ่งเพลง ก็เหมือนผ้าทอผืนนึง ทอคนเดียวก็ได้ ทอสองคนก็ได้ อีกคนทอ อีกคนปักลายใส่ ถามว่าใครเป็นเจ้าของ ก็ต้องสองคนที่ช่วยกันทำ

เพลงคล้ายผ้าทอ ตรงที่ ถักคนหนึ่ง ปักคนหนึ่ง ทออีกคนหนึ่ง ปัญหาคือมีเจ้าของสองสามคน 

เช่น เพลงนี้ คนหนึ่งทำทำนอง อีกคนเขียนเนื้อเพลง อีกคนทำดนตรี 

ทำแล้วก็มีอีกคนมาร้อง แล้วในขณะที่ทำก็มีคนมีความสามารถ มีความเก๋ามาช่วยคิดแนวทาง ว่าทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ ทำเป็นเร็ปท่อนนึง ทำเป็นร็อคท่อนนึง เดี๋ยวจะชวนนักร้องคนนี้มาร้องให้ เดี๋ยวจะพาไปเดินสาย

กว่าเพลงจะเสร็จออกมา ก็มีคนหลายคนมาช่วยๆกัน 

ทีนี้ก็เลยงงว่า แล้วเพลงจะเป็นของใคร 

ถ้าดูจากทีวี เขาอาจจะเขียนว่า เพลงนี้ ศิลปินคือ ยอดรัก สลักเพชร

แต่จริงๆ ยอดรัก สลักเพชร อาจจะเป็นคนร้อง ไม่ได้เป็นคนแต่ง เจ้าของจริงๆ น่าจะเป็นคนแต่ง

แต่ปรากฎว่า ทั้งคนแต่งเนื้อ และแต่งทำนอง ไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะตกลง เซ็นสัญญามอบให้ เถ้าแก่ฮงไป ส่วนเถ้าแก่ฮงก็ตายไปแล้ว เลยตกเป็นของ เสี่ยเฮงที่เป็นลูก

ดังนั้น พอลูกชายของยอดรัก สมมุติว่าชื่อ ยอดรบ จะเอาไปร้องบ้างจะเอาไปอัดเสียงบ้าง ก็เลยมีปัญหา

เพราะว่า เสี่ยเฮง ไม่อนุญาต หรือแม้กระทั่งยอดรักเองจะเอาไปร้องแสดงที่วัดบางหว้า

มีปัญหาเพราะเสี่ยเฮงไม่อนุญาติไง อยากร้องต้องมาขอ อยากร้องต้องมาจ่าย

ส่วนที่ร้องเมื่อตอนอัดแผ่นเสียงทำอัลบั้ม นั้นเสี่ยเฮงบอกว่าเถ้าแก่ฮ้อ เตี่ยที่ตายไปจ่ายตังค์ให้แล้ว ก็จบกัน

ซึ่งลิขสิทธิ์ดังว่าก็มีสองส่วนอีก คือลิขสิทธิ์เพลงที่แต่งขึ้นมา กับลิขสิทธิ์เพลงที่บันทึกเสียง 

แต่ละส่วนก็มีลิขสิทธิ์กันคนละแบบ จะเอาไปใช้ก็ต้องคุยให้ชัดว่า เพลงที่คุยนี่แบบเสร็จเป็นเพลงฟังได้แล้วหรือ เพลงที่แต่งเอาไว้บนกระดาษ

แต่เดิมนั้น ถ้าใครแต่งคนนั้นเป็นเจ้าของ 

หากแต่งกัน สิบสองคน สิบสองคนนั้นก็เป็นเจ้าของ

และเนื่องจากผลงานจำนวนไม่น้อย ช่วยกันมากกว่าหนึ่งคน จึงทำให้มักจะมอบให้ใครสักคนดูแล ให้ตัดสินใจเพียงคนเดียว กับอีกกรณี คือ มีการตกลงมอบ หรือยกให้ใครสักคนเป็นเจ้าของ ก็เพราะว่าคนคนนั้น มีอำนาจ มีเงิน มีบริษัท มีการจัดการที่เห็นช่องทางว่า ถ้ามอบให้ไปแล้วเพลงจะมีโอกาสโด่งดังกว่า และมีวิธีจัดการที่ดีกว่า

การมอบนั้น ก็มีทั้งมอบให้ไปเลย ยกให้ไปเลย กับ มอบให้ดูแล เป็นระยะเวลากี่ปี หรือมอบให้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ชั่วนาตาปี   

แต่ในกรณีนี้กฏหมายสากลเขากำหนดว่า ถ้าคนแต่งตายไปห้าสิบปี งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นขอให้กลายเป็นสมบัติของโลกคือใครจะเอาไปใช้ก็ได้

อันนี้ บางคนก็คิดว่าไม่แฟร์ ซึ่งก็แล้วแต่จะคิด บางคนว่าถ้าลิขสิทธิ์ ไม่หลุดมาเป็นของโลก แล้วลูกหลานบางคนไม่รู้คุณค่า หรือมีใครซื้อลิขสิทธิ์ไว้แล้วไม่ได้เอาไปทำอะไร ผลงานดีๆ ก็อาจถูกเก็บถูกดองไว้ไม่ใช้ โลกก็จะเสียโอกาส ดังนั้น คนแต่งตายไปห้าสิบปีเอามาให้โลกเสียดีๆ

ส่วนลูกหลานนั้น ก็เหมือนมรดกโดยทั่วไป ถ้าพ่อแม่เขาไม่ยกให้ ก็แปลว่าไม่ได้ 

แต่ถ้าพ่อแม่ตายแล้วไม่ได้เขียนพินัยกรรม ก็ตกเป็นของลูกของเมียเหมือนมรดก

แต่ที่ไม่ค่อยตกถึงลูกหลานก็เพราะส่วนมาก พ่อยกให้เถ้าแถ่ไปก่อนตาย เพราะต้องเอาเงินมาใช้นั่นแล

ส่วนนักร้อง ก็คือคนมาร้องมาทำงาน พอร้องเสร็จ ผลงานออกมามีชื่อเสียง  

ส่วนเพลงนั้นยังไม่ใช่ของนักร้อง

ส่วนนักร้องที่แต่งเพลงเอง ถ้าเอาไปยกให้คนอื่น ก็กลายเป็นของคนอื่น ถ้าไม่ยกให้ ก็เป็นของตัวเอง

แต่ถ้าไม่ยกให้นายทุนนายห้าง เขาก็ไม่ให้ออกอัลบั้ม เขาก็ไม่ซื้อ เขาก็ไม่จ่ายสตังค์ ส่วนมากก็เลยบังคับ ไปในตัวว่า เอามาให้อั๊วจัดการเหอะ

ส่วนใหญ่เข้าวงการมาก็อยากดัง ไม่ได้อยากได้ลิขสิทธิ์อะไรไว้หรอก พอเขาให้เซ็นยกให้ก็เซ็นไป   

แล้วค่อยมาบ่น มาเสียดายทีหลัง เพราะตอนแรก ก็ไม่รู้หรอกว่า เพลงไหนจะดังจะไม่ดัง

ถ้าเพลงไม่ดังก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอดังทีนี้แหละก็ต้องไปดูสัญญาว่า ยกให้ใครไปด้วยสัญญาว่ายังไง

ยกให้กี่ปี หรือยกให้ทั้งชีวี

แม้เพลงตัวเองแต่งถ้ายกให้เขาไปแล้ว พอจะไปเอามาร้องก็ต้องไปซื้อ หรือไปขอเขากลับมา 

เขาไม่ให้ แต่อยากร้อง ก็ต้อง โดนฟ้อง โดนต่อว่า

ส่วนคนที่ซื้อซีดี หรือเอาไปเปิดในร้านกาแฟ ให้ลูกค้าฟังเขาก็ว่าเปิดไม่ได้  

เพราะซีดีที่จำหน่ายนั้น จำหน่ายให้ฟังที่บ้าน ไม่ได้ให้เอาไปเปิดใช้เรียกแขกหรือทำธุรกิจ ถ้าทำก็ผิดข้อตกลง ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ก็เพราะว่า เราไม่สามารถเอาของๆ คนอื่น ที่ไม่อนุญาตไปทำอะไรได้ตามใจ

งานสร้างสรรค์แบบเพลง แบบหนัง มันไม่ใช่แค่กางเกงใน เพราะมันมีคุณค่า มีพลัง ที่จะไปเปลี่ยนแปลงหรือสร้างบรรยากาศ ในการซื้อขาย เขาก็จึงคุ้มครองไว้ว่า ถ้าหากเอาไปใช้ก็ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะว่าการเอาไปใช้นั้นเพื่อทำการค้า หากคิดว่าไม่ทำการค้าก็ไม่ต้องเปิด  

เหมือนเปิดแอร์เราก็คือต้องการให้เย็น ให้ร้านเรานั่งสบายเราก็จ่ายค่าไฟ

พอเราเปิดเพลงเราก็อยากให้ร้านเรา ฟิน เราก็ต้องจ่ายค่าเพลง

ซึ่งอันนี้คนเอาไปใช้มักจะรู้สึกว่ามันเกินไป

ก็ต้องกลับไปที่เก่าว่า ของของเขา ถ้าเราเอาไปใช้งานแล้ว มันสมควรไหม 

ถ้าคิดว่าสมควร ก็คิดได้ เพราะเราจ่ายเงินมาแล้วนี่นาตอนซื้อ แต่บางคนไม่ซื้อด้วยซ้ำก็อปปี้มา แล้วก็ยังมาบ่นว่า ทำไมไม่ให้เปิดไม่ให้เผยแพร่

ทีนี้ก็แล้วแต่นานาจิตตัง ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของแต่ละคน ว่าคิดจากฐานอะไร

ที่เล่านี้ ก็ไม่ได้คิดว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้ง  

แต่คิดว่า พอจะเริ่มให้เข้าใจในอีกด้านอีกมุม

ส่วนคนที่คิดจะจ่าย ก็ต้องคิดอีกว่าจะจ่ายใคร เพราะมันไม่ได้จ่ายเพลงเดียว หรือรายการทีวี บางทีเอาเพลงมาร้อง รายการละหลายๆเพลง แบบนี้ บางทีก็มีการเหมาจ่าย บางคราก็มีบริษัทจัดการให้  

อย่างศิลปินต่างประเทศ จะให้เจ้าของมาเดินเรียกเก็บที่เมืองไทยก็คงลำบาก จึงมีการตั้งตัวแทนให้มาดำเนินการ รับทำหน้าที่รับจ่ายกันแทน

หนังสือหนังหาจะเอาไปแปลมาก็คล้ายกัน ไม่รู้จะไปหาคนเขียนเจอที่ไหนก็มีตัวแทน เป็นการค้าขายแบบมีอนุสัญญา ว่ากันไปตามแต่กฏหมายจะกำหนด เราก็ต้องเคารพกฏหมาย 

แต่ถ้าเห็นว่ามันไม่เป็นธรรมก็บอกศาล เจ้าหน้าที่ เขาก็จะไกล่เกลี่ยหรือตัดสินกันอีกที บางทีกฏหมายบอกไว้เช่นนี้ แต่ศาลอาจจะพิจารณาว่า กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

เช่น พ่อแต่งเพลงแล้วมอบให้นายห้าง แต่พอลูกจะเอามาร้องเอามาใช้นายห้างไม่ให้ใช้ บอกพ่อขายให้อั๊วแล้ว 

กรณีแบบนี้ศาลก็อาจพิจารณาว่า ตอนขายให้นั้นเป็นภาวะจำยอม เพราะตอนนั้นอาจไม่เข้าใจกฏหมายหรือลำบาก ขายให้ไปไม่กี่บาท นายห้างเอามาทำกำไรได้มากมาย

ตอนนี้นายห้างได้เอามาใช้คุ้มค่าแล้ว ศาลอาจพิจารณาตัดสินให้กลับมาเป็นของบุตร หรือให้สิทธิ์ในการครอบครองร่วมกัน

มันก็เป็นไปได้ เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0