โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ลาวเดินหน้าสร้าง ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ บนแม่น้ำโขง เมินเสียงคัดค้าน 3 ชาติ

The Bangkok Insight

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 11.25 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 09.52 น. • The Bangkok Insight
ลาวเดินหน้าสร้าง ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ บนแม่น้ำโขง เมินเสียงคัดค้าน 3 ชาติ

เขื่อนหลวงพระบาง ไม่หยุด ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ บนแม่น้ำโขง เมินเสียงเรียกร้องชาติเพื่อนบ้าน ที่วิตกว่า เขื่อนแห่งนี้ อาจสร้างความเสียหายให้กับการทำประมง และการเกษตร บริเวณปลายแม่น้ำ

โครงการ เขื่อนหลวงพระบาง ที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็นเขื่อนแห่งที่ 3 และเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่มีขนาดใหญ่สุดของลาว ซึ่งตามกำหนดการที่วางไว้นั้น เขื่อนแห่งนี้จะมีกำหนดเริ่มต้นการก่อสร้างในปีนี้

เขื่อนหลวงพระบาง
เขื่อนหลวงพระบาง

รัฐบาลกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ต่างแจ้งให้ลาวรับทราบ ถึงความกังวลของประเทศเหล่านี้ ที่มีต่อการสร้างเขื่อนดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลลาว ใช้เวลาในการประเมินผลกระทบให้นานกว่านี้ หลังจากที่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) เสร็จสิ้นกระบวนการปรึกษาอย่างเป็นทางการ นาน 6 เดือน ต่อโครงการดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (30 มิ.ย.)

"แม้ทั้ง 3 ประเทศ จะตระหนักดีถึงอธิปไตย และสิทธิของลาว แต่พวกเขาขอเรียกร้องให้ลาว พิจารณาคำแนะนำของพวกเขาด้วย" เอ็มอาร์ซี แถลง

อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาแม่น้ำโขง ปี 2538 ไม่ได้สิทธิทั้ง 3 ประเทศในการคัดค้านโครงการใดๆ ที่เกิดขึ้นในลาว

ระหว่างกระบวนการปรึกษานั้น รัฐบาลกัมพูชาได้แจ้งต่อเอ็มอาร์ซีว่า ควรที่จะใช้เวลาในการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนมากกว่านี้ ส่วนเวียดนามขอให้ลาว ใช้เวลา และทรัพยากร ในการประเมินผลกระทบโครงการให้มากกว่านี้เช่นกัน

ผลการศึกษาของเอ็มอาร์ซี แสดงให้เห็นว่า เขื่อนหลักบนแม่น้ำโขง อาจสร้างความเสียหายให้กับการเกษตรบริเวณปลายน้ำ เพราะจะสกัดการไหลของตะกอนในแม้น้ำ และกีดขวางการอพยพของปลา

ทั้งนี้ การพัฒนาเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่ ถือเป็นเป้าหมายหลัก ในแผนการของลาว ที่ต้องการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ราว 20,000 เมกะวัตน์ ภายในปี 2573

เมื่อปีที่แล้ว ลาวเพิ่งเสร็จสิ้นการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 2 แห่ง คือเขื่อนไซยะบุรี ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,285 เมกะวัตต์ และเขื่อนดอนสะโฮง แม้ว่าจะถูกค้ดค้านจากบรรดานักอนุรักษ์อย่างหนักก็ตาม

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อลาวเริ่มเดินเครื่องเขื่อนใหม่ทั้ง 2 แห่ง ก็ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี และทำให้บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ โครงการหลวงพระบาง เป็นการร่วมทุนพัฒนาระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัทลูกของ ปิโตรเวียดนาม พาวเวอร์ โคออปเปอเรชัน บริษัทน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของเวียดนาม และบริษัทช.การช่างของไทย

กระบวนการปรึกษาสร้าง เขื่อนหลวงพระบาง ที่ไม่มีสิทธิยับยั้ง

พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง อยู่บนแม่น้ำโขงตอนบนของนครหลวงพระบาง 25 กิโลเมตร เป็นโครงการเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) แบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขง มีแผนก่อสร้างในปี 2563 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการระบบผลิตไฟฟ้าในปี 2570 พื้นที่อ่างเก็บน้ำคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่ จังหวัดอุดมไซ และหลวงพระบาง

เขื่อนหลวงพระบาง
เขื่อนหลวงพระบาง

ในการให้ข้อมูลที่เวทีประชุมปรึกษาหารือ และให้ข้อมูลระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 (Regional stakeholder forum) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้แทนกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาว เปิดเผยว่า โครงการนี้มีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ ผู้ดำเนินการ คือ บริษัท ไฟฟ้าหลวงพระบาง จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ลาว และบริษัท ปิโตรเวียดนาม และมีผู้พัฒนาจากไทย คือ ช.การช่าง

เอกสารข้อมูลโครงการระบุว่า โครงการมีความยาวของโรงไฟฟ้า 275 เมตร กว้าง 97 เมตร และสูง 80 เมตร มีการก่อสร้างทางผ่านปลา และช่องทางเดินเรือบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำ มีสายส่งไฟฟ้า ไปยังเวียดนาม และไทย

เอ็มอาร์ซี  ระบุว่า กระบวนการปรึกษา ไม่ใช่สิทธิในการยับยั้ง หรือสิทธิในการดำเนินการ "ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น" และไม่ได้เป็นกระบวนการตัดสินใจต่อโครงการว่า "ให้หรือไม่ให้ก่อสร้าง" แต่เป็นการให้ประเทศสมาชิกอื่นตกลงกำหนดมาตรการร่วมกัน ในการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดน

"ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ ไม่ใช่การให้คำตอบว่าให้ หรือไม่ให้ก่อสร้าง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก อย่างเช่นในกรณีเขื่อนไซยะบุรี และดอนสะโฮง" เจ้าหน้าที่เอ็มอาร์ซี กล่าว

ในครั้งนั้่น สุริยา โคตะมี ภาคประชาสังคมจากลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม แสดงความกังวลต่อกระบวนการ ในการบรรเทาปัญหาผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ทั้งปัญหาน้ำไม่พอใช้ สัตว์น้ำลดลง และการขึ้นลงผิดปกติของน้ำ

"ในฐานะเป็นผู้เสียสละกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ เสียสละวิถีชีวิตไป เจ้าของโครงการได้ประโยชน์ แล้วเราได้ไหม ค่าไฟเราก็ยังเสียเหมือนเดิม"

ด้าน ศ.ดร. ทวนทอง จุฑาเกตุ นักวิชาการจาก ม.อุบลราชธานี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ซึ่งให้ความเห็นต่อร่างรายงานทบทวนทางด้านเทคนิคของโครงการ กล่าวว่า รายงานยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบระบบนิเวศสัตว์น้ำและปัญหาการกักตะกอน

เขาชี้ว่าข้อสังเกตที่สำคัญต่อรายงานฉบับนี้ คือ จำนวนของชนิดปลาที่มีการสำรวจแค่เดือนเดียว แต่ปลาอพยพไปมา และไม่ได้สำรวจในฤดูกาลที่เหมาะสม ซึ่งควรจะเป็นช่วงเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน ทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญที่อาจส่งผลต่อการตีความระดับความรุนแรงของปัญหา

"ข้อมูลไม่เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในรอบปี ทั้งชนิดปลาในบริเวณนั้นและผลการจับปลาในช่วงฤดูกาล"

เขื่อนไซยะบุรี
เขื่อนไซยะบุรี

กระบวนการปรึกษาหารือไม่ช่วยอะไร

เมื่อปีที่แล้ว  เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า กระบวนการปรึกษา "จะยิ่งทำให้เกิดการรับรองในระดับภูมิภาคในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงแห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น"

ขณะที่ปัญหาและผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข และมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน ทั้งจากภาครัฐและเจ้าของโครงการ

กระบวนการปรึกษา ไม่สามารถนำเสียงของประชาชนสู่กระบวนการตัดสินใจในการจัดการแม่น้ำโขงได้อย่างแท้จริง และการจัดเวทีให้ข้อมูล ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเฉพาะบริเวณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนหลวงพระบางมากที่สุด

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เสนอว่ารัฐควรจะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองประชาชน บนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0