โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลัดเลาะหาของดีจาก "ยอดดอย" สู่ "โต๊ะอาหาร"

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 07.18 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 06.37 น.

กว่าจะได้จานอร่อยแต่ละรายการ ปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มรสชาตินอกจากฝีมือคนปรุง เห็นจะเป็นคุณภาพของวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตเชื่อถือได้ และโครงการหลวงก็เป็นหนึ่งต้นทางวัตถุดิบชั้นเลิศ ซึ่งเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่พืชผักจากที่นี่ถูกลำเลียงจากยอดดอยสู่ห้องครัวที่บ้านและร้านอาหารมีชื่อน้อยใหญ่ และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความสดใหม่ ตัวกลางในการส่งต่อความอร่อยอย่าง "สยามพารากอน" จึงจับมือกับมูลนิธิโครงการหลวง อาสาพาไปสืบสาวราวเรื่องตั้งแต่ต้นตอการผลิตก่อนจะลำเลียงถึงมือผู้บริโภคแล้วจบลงที่จานอร่อยบนโต๊ะอาหาร

เคปกูสเบอร์รี่

สุระศักดิ์ ชาญชำนิ

เรียกว่าทริปนี้จัดขึ้นเพื่อ"สายกิน" โดยเฉพาะก็ว่าได้ เริ่มลงแปลงเกษตรเบาๆ กันที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ส่งเสริมการปลูกเจ้าผลไม้ลูกเล็กแต่เจ๋งด้วยคุณประโยชน์มีวิตามินซี-วิตามินเอสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง"เคปกูสเบอร์รี่" หรือคนไทยเรียกแบบน่ารักๆ ว่า "โทงเทงฝรั่ง" โดย สุระศักดิ์ ชาญชำนิ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ชี้ชวนว่าเคปกูสเบอร์รี่ที่เห็นเป็นพันธุ์ "เกียโร รอสโต้" จากบราซิล ตอนนี้ส่งเสริมให้เกษตรกรละแวกใกล้เคียงปลูกแล้วกว่า 40 ราย จุดเด่นอยู่ที่เก็บผลผลิตได้ทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวลูกจะดกมาก ลูกยิ่งสีส้มจะยิ่งหวานฉ่ำ นิยมกินผลสดหรือนำไปแปรรูปทำแยมหรือขนม

สวนดอกไม้ตระการตาที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

"ไดแอนทัส" ดอกไม้กินได้

ไต่ระดับขึ้นดอยอ่างขาง อ.ฝาง ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ไม่ใช่แค่สัมผัสความหนาวเย็นตลอดทั้งปี หรือไปเซลฟี่สุดฟินกับดอกซากุระ แต่งานนี้อยากชวนไปทำความรู้จักพืชผักเมืองหนาวน้องใหม่หลายชนิดที่กำลังได้รับการฟูมฟักอย่างดี อย่างจำพวกดอกไม้กินได้ที่เราเห็นเชฟชอบนำมาตกแต่งจานอร่อย จนบางครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่าประดับสวยๆ หรือกินได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นดอกเนสเตอร์เตียมสีส้มๆ, ไดแอนทัส หรือดอกผีเสื้อ, บีโกเนีย มีสีชมพู สีขาว สีแดง, แพนซี เป็นต้น ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะบานสะพรั่งท้าลมหนาว กลีบจะบางไม่มีรสชาติ แต่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ คราวนี้ล่ะเห็นดอกพวกนี้ในจานอาหารอย่าเขี่ยทิ้งเด็ดขาด

แปลงปลูกลินิน

เมล็ดลินินแก่จัด

อีกหนึ่งพืชที่กำลังได้รับการส่งเสริมให้ปลูกมากคือ "ลินิน" พืชไร่ทนแล้งจากประเทศแคนาดาที่เริ่มนำเข้ามาปลูกมาตั้งแต่ปี 2512 โตไวและใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เมล็ดที่แก่จัดกระเทาะออกมาแล้วจะคล้ายๆ เมล็ดงา เอาไปสกัดเป็นน้ำมัน หมึกพิมพ์ แน่นอนว่ากินได้อร่อยด้วย สรรพคุณช่วยควบคุมน้ำหนัก ตามแผนเห็นว่าจะผลิตให้ได้ 4-6 ตันต่อปีเพราะตอนนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงพืชเนื้อหอมอย่างบลูเบอร์รี่ ส่วนชาอู่หลง และสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ไม่ต้องพูดถึง รู้กันดีว่าถ้ามาจากอ่างขางคุณภาพหายห่วง

จิบชาอู่หลงอุ่นๆ คลายหนาวที่อ่างขาง

สตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 สร้างรอยยิ้ม

ลงจากดอยมาที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อ.แม่อาย ที่นี่ สมนึก สมพงษ์ หัวหน้าศูนย์ฯ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งและทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้ตั้งหนวยงานพัฒนาอาสาขึ้น โดยให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาช่วยถ่ายทอดความรู้เรื่องการเกษตร ทุกวันนี้พืชผักที่ส่งเสริมมีตั้งแต่*ฟักทองญี่ปุ่นสีเขียว สีส้ม ฟักทองจิ๋ว มะเขือม่วงก้านเขียว-ก้านดำ ข้าวโพดม่วง เสาวรส เห็ดหลินจือแปรรูป บลูเบอร์รี่ รวมถึงผักสลัด *

เกษตรกรผู้ปลูกฟักทองสีส้ม

ฟักทองจิ๋ว

โดยเฉพาะฟักทองญี่ปุ่น เกษตรกรปลูกแล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก จนตอนนี้สามารถผลิตได้ถึง 400 ตันต่อปี จะปลูกหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เริ่มหยอดเมล็ดช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ฟักทองจะมีเนื้อแน่น ผิวสวย ถ้าชอบความหวานมัน เนื้อแน่นแนะนำให้เลือกเป็นฟักทองจิ๋วมากกว่าชนิดอื่นๆ เกรด 1 ราคาประมาณ 17 บาทต่อกก. ซึ่งเขาจะลำเลียงส่งให้โครงการหลวงก่อนจะกระจายเข้ากรุงเทพฯ และส่งออกไปให้คนญี่ปุ่นได้มีโอกาสลิ้มรสด้วย

เช้าๆ ไต่ระดับขึ้นดอยผาตั้งชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใคร

โรงเรือนอนุบาลต้นอ่อนผักสลัด

องุ่นดำไร้เมล็ด

จากนั้นเดินทางต่อไปยังเชียงราย ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อ.เวียงแก่น ลัดเลาะไปตามไหล่เขา วิวสองข้างทางสวยงามน่าตื่นตาพอๆ กับความเก่งกาจของชาวเขาที่พลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรมบนยอดดอยให้เป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการปลูกพืชผักตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลีหัวใจ เบบี้คอส ผักสลัด พลับหวาน ลูกพีช กาแฟ องุ่นดำไร้เมล็ด แม้กระทั่งมะนาวหวานที่กำลังพัฒนาและทำตลาด โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ให้ข้อมูลว่าจริงๆ แล้วพืชผักจากที่นี่จะถูกลำเลียงสองทางคือไปรวมที่ศูนย์เชียงใหม่สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ซึ่งใช้เวลาขนส่งขึ้นเขาลงห้วยกว่า 6 ชม.กับส่งตรงเข้ากรุงเทพฯ เลยสัปดาห์ละ 2 เที่ยวใช้เวลาพอๆ กัน รวมประมาณ 20 ตันต่อเดือน

มะนาวหวาน

สำหรับผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าจะได้รับพืชผักที่สดใหม่และปลอดภัยจากสารพิษ เพราะผลผลิตโครงการหลวงทุกตัวต้องผ่านการตรวจสอบสารตกค้างถึง 3 ครั้ง เริ่มจากการสุ่มตรวจในแปลง ต่อด้วยโรงเก็บย่อย และในศูนย์รวบรวมผลผลิต จากความมั่นใจตรงนี้บอกเลยว่าผลผลิตที่ได้มักออกมาน้อยกว่าความต้องการของตลาดมาก ดังนั้นมีเท่าไรผู้ประกอบการร้านค้ารับซื้อหมด

เพื่อไม่ให้พลาดลิ้มรสความสดจากยอดดอย ตอนนี้กำลังมีงานใหญ่ "รอยัล โปรเจกต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล 2020 แอด สยามพารากอน : คัลเลอร์ส ออฟ เฮลท์ สีสันแห่งยอดดอยสู่สุขภาพที่ดีของคนเมือง" ยาวไปจนถึง 8 มีนาคมนี้ ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ไปดูให้เห็นกับตาแล้วชิมให้รู้รส นอกจากจะสนองความอยากแล้วยังเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาด้วยนะ…@

เรื่อง/ชาญยุทธ ปะวะขัง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0