โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ลงทุนหุ้นกู้เขาดูกันอย่างไร

The Momentum

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 15.57 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 15.57 น. • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

In focus

  • ในภาวะความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนหลายคนต่างมองหาสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง-ต่ำทำให้ตราสารหนี้ซึ่งมีผลตอบแทนพอถูไถ สภาพคล่องสูง และมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดทุนกลายเป็นดาวเด่น โดยเราอาจแบ่งประเภทตราสารหนี้ได้ตามผู้ออกตราสาร หากเป็นรัฐบาลจะเรียกว่าพันธบัตร แต่หากเป็นเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้
  • หุ้นกู้มีความแตกต่างจากหุ้นทุนที่เราคุ้นชินกันอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สถานะของนักลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนจะกลายสภาพเป็น ‘เจ้าหนี้’ ที่ไม่สามารถเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการการดำเนินงานของบริษัทได้ โดยจะได้รับผลตอบแทนคืออัตราดอกเบี้ยและเงินต้นตามจำนวนและวันที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และจะต้องรับความเสี่ยงด้านเครดิต กล่าวคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้นั่นเอง
  • หุ้นกู้ที่มีการซื้อขายในตลาดแทบทั้งหมดจะต้องได้รับการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ซึ่งคล้ายการให้เกรดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เครื่องหมายดังกล่าวเป็นผลลัพธ์จากการประเมินโดยบริษัทจัดอันดับซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่คือ Moody’s, Standard & Poor’s และ Fitch โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ โดยสูงสุดคือ Aaa และ AAA และต่ำสุดคือ D หรือหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ การจัดเกรดดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้น ‘สมน้ำสมเนื้อ’ กับความเสี่ยงหรือไม่

ในช่วงภาวะตลาดหุ้นขึ้นลงวูบวาบน่าใจหายเช่นนี้ นักลงทุนต่างก็เริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการ ‘พักเงิน’ จนกว่าปัจจัยภายนอกอย่างการระบาดของโควิด-19 จะสงบลง จะย้ายมาเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็ใช่ที่ หรือจะนำไปฝากประจำก็ใช่เรื่องเพราะหากปัญหาจบเร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้แล้วอยากนำเงินกลับมาลงในตลาดทุนต่อ จะกลายเป็นว่าเสียผลตอบแทนไปฟรีๆ หลายคนจึงเลือกที่จะย้ายตัวเองมายังตลาดหุ้นกู้ ซึ่งมีผลตอบแทนพอถูไถ สภาพคล่องสูง และมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดทุน

แต่นักลงทุนมือใหม่หลายคนอาจยังคงสงสัย ว่าจะลงเริ่มลงทุนในตลาดตราสารหนี้เราควรรู้อะไรบ้าง?

ตัวเลือกในการลงทุนหลักๆ จะแบ่งตามผู้ออกตราสารหนี้ หากรัฐบาลเป็นผู้ออก เราจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่หากภาคเอกชนเป็นผู้ระดมเงินทุน เราจะเรียกว่าหุ้นกู้ ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเรียกตราสารประเภทนี้รวมๆ ว่าหุ้นกู้นะครับ

ขอเตือนไว้สักนิด ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับหุ้นสามัญ และต้องมีพื้นฐานความรู้ในเชิงเทคนิคพอสมควร หากอ่านไปถึงตรงไหนแล้วรู้สึกท้อถอยไม่อยากไปต่อก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะเรายังมีทางเลือกในการลงทุนในหุ้นกู้ผ่านทางกองทุนรวม จ่ายค่าธรรมเนียมตัดความยุ่งยากแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนรวม สินทรัพย์คู่ใจมือใหม่หัดลงทุน)

หุ้นกู้ต่างจากหุ้นทุนอย่างไร?

หุ้นกู้มีความแตกต่างจากหุ้นทุนที่เราคุ้นชินกันอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สถานะของนักลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนจะกลายสภาพเป็น ‘เจ้าหนี้’ ที่ไม่สามารถเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการการดำเนินงานของบริษัทได้ โดยจะได้รับผลตอบแทนคืออัตราดอกเบี้ยและเงินต้นตามจำนวนและวันที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และจะต้องรับความเสี่ยงด้านเครดิต กล่าวคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้นั่นเอง

ในขณะที่การลงทุนในหุ้นทุน นักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท โดยสามารถเข้าไปลงมติเกี่ยวกับการบริหารในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตของบริษัทได้ แต่ผลตอบแทนของหุ้นทุนจะไม่แน่นอน โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนต่างราคาหุ้น (Capital Gain) ซึ่งผันผวนตามตลาด และเงินปันผล (Dividend) ซึ่งบริษัทจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและนโยบายการจ่ายเงินปันผล (อ่านเพิ่มเติมเรื่องหุ้นสามัญได้ที่ ตลาดหุ้นคึกคัก แต่จะซื้อหุ้นอะไร มาทำความเข้าใจเรื่องหุ้นกันก่อน)

ความแตกต่างอีกประการของหุ้นกู้และหุ้นทุนคือ หากบริษัทเกิดเข้าขั้นวิกฤตจนต้องปิดกิจการ ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องในทรัพย์สินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

ก่อนซื้อหุ้นกู้ต้องดูอะไร?

สำหรับใครที่คุ้นเคยกับการลงทุนในตลาดหุ้นสามัญ ครั้งแรกที่เดินเข้าตลาดหุ้นกู้อาจจะรู้สึกเงอะงะ เพราะเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่แตกต่างจากตลาดหุ้นสามัญราวฟ้ากับเหว

สิ่งแรกที่นักลงทุนหุ้นกู้ต้องมองหาคืออันดับเครดิต (Credit Rating) ที่มองผ่านๆ อาจคล้ายการให้เกรดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษและเครื่องหมายลบบวก เครื่องหมายดังกล่าวเป็นผลลัพธ์จากการประเมินโดยบริษัทจัดอันดับซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่คือ Moody’s, Standard & Poor’s และ Fitch โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ โดยสูงสุดคือ Aaa และ AAA และต่ำสุดคือ D หรือหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ การจัดเกรดดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้น ‘สมน้ำสมเนื้อ’ กับความเสี่ยงหรือไม่

เปรียบเทียบอันดับเครดิตของตามเกรดของบริษัทจัดลำดับทั้ง 3 บริษัท

เราสามารถจัดกลุ่มหุ้นกู้จากอันดับเครดิตเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เหมาะต่อการลงทุน (Investment Grade) คือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ Baa3 หรือ BBB- ขึ้นไป ความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ และกลุ่มที่เหมาะต่อการเก็งกำไร (Speculative Grade) คือกลุ่มหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง โดยนักการเงินมักเรียกภาษาปากว่าหุ้นกู้ขยะ (Junk Bonds) แน่นอนว่าสำหรับมือใหม่ ผู้เขียนแนะนำว่าควรลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มแรกให้คุ้นชินก่อน

หลายคนอาจสงสัยว่าจะมีใครไปลงทุนในหุ้นกู้ขยะเพราะแค่ฟังชื่อก็ชวนแขยง คำตอบคือมีครับแถมยังเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยในไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2562 หุ้นกู้ขยะในไทยมีมูลค่ารวมถึง 127,000 ล้านบาทซึ่งเพิ่มถึงสามเท่าตัวในเวลาห้าปีเท่านั้น เพราะความเสี่ยงที่สูงขึ้นก็มาพร้อมกับผลตอบแทนที่ยั่วยวนใจเช่นกัน

นอกจากอันดับเครดิตแล้ว นักลงทุนต้องพิจารณาราคาที่ตราไว้ (Face Value) อัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) วันไถ่ถอนเมื่อครบกำหนด (Maturity Date) ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อราคาซื้อขายและผลตอบแทนสุทธิของการลงทุนในหุ้นกู้ เพราะราคาซื้อขายของหุ้นกู้นั้นจะผันผวนตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด หากอัตราดอกเบี้ยลดจะทำให้ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้จะลดลง

หากอ่านแล้วงงก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ สาเหตุของการปรับตัวที่สวนทางกันนั้นมาจากการคำนวณผลตอบแทนของหุ้นกู้ซึ่งอิงจากการคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันตามแนวคิดค่าของเงินตามเวลา

การคำนวณผลตอบแทนของหุ้นกู้

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจในการคำนวณผลตอบแทนของหุ้นกู้คือ เงินในแต่ละช่วงเวลามีมูลค่าไม่เท่ากัน กล่าวคือ เงิน 100 บาทในปัจจุบันนั้น มีมูลค่ามากกว่าเงิน 100 บาทที่จะได้รับในอีก 10 ปีข้างหน้า วิธีการคำนวณมูลค่าตราสารหนี้ จะว่าไปก็คล้ายกับ การคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) โดยต้องพิจารณากระแสเงินสดในอนาคตที่จะได้รับจากการลงทุนดังกล่าว แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันนั่นเอง 

การหามูลค่าปัจจุบันเบื้องต้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คุ้มทุนแค่ไหน แค่ไหนเรียกคุ้มทุน? รู้จัก 3 เครื่องมือช่วยตัดสินใจการลงทุน)

สมมติเรากำลังมองหุ้นกู้ของบริษัท MMT อายุ 3 ปี มูลค่าที่ตราไว้ 1,000 บาทและจะจ่ายอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ด้วยธรรมชาติของหุ้นกู้ที่ผลตอบแทนแน่นอน เราสามารถมองไปในอนาคตได้ทันทีว่าปลายปีที่ 1 เราจะได้รับดอกเบี้ย 30 บาท ปลายปีที่ 2 เราจะได้รับดอกเบี้ย 30 บาท และในปีสุดท้ายเราจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 1,030 บาท สมมติว่าเรามีผลตอบแทนที่คาดหวัง ณ ระดับความเสี่ยงที่ลงทุนในหุ้นกู้ MMT เท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ที่เราจะซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวจะเท่ากับ 945.53 บาท

มูลค่ายุติธรรมของหุ้นกู้คือผลรวมของกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตคิดลดด้วยผลตอบแทนที่คาดหวัง

อย่างไรก็ดี ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแบบฝึกหัดของนักศึกษาการเงินเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เราทราบตัวแปรทุกอย่างรวมถึงราคาซื้อขาย สิ่งที่เราคำนวณได้จากข้อมูลดังกล่าวคือผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน หรือ YTM (Yield to Maturity) ซึ่งเป็นการคิดย้อนกลับว่าอัตราผลตอบแทนเท่าใดที่จะทำให้ราคาซื้อขายหุ้นกู้ในปัจจุบันเท่ากับกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคต จุดเด่นของการลงทุนในหุ้นกู้คือหากเราถือจนครบกำหนดไถ่ถอนและบริษัทไม่ผิดนัดชำระหนี้ เราจะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ YTM ไม่ว่าตลาดจะผันผวนเพียงใด

การคำนวณ YTM นั้นค่อนข้างยุ่งยากโดยต้องใช้วิธีแทนค่า (trial and error) แม้แต่การใช้เครื่องคิดเลขธรรมดาคำนวณก็ยังใช้เวลาค่อนข้างนาน โชคดีที่ปัจจุบันเราสามารถหาเครื่องคำนวณ YTM ได้ไม่ยากในโลกอินเทอร์เน็ตเพียงใส่ตัวแปรคือมูลค่าที่ตราไว้ อัตราดอกเบี้ย อายุครบกำหนดไถ่ถอน ความถี่ในการจ่ายดอกเบี้ย และราคาซื้อขายในปัจจุบัน เพียงหนึ่งคลิกเราก็จะได้ YTM เพื่อนำมาใช้พิจารณาว่าสูงหรือต่ำกว่าผลตอบแทนที่เรามีอยู่ในใจ

การลงทุนในตราสารหนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากที่มือใหม่ต้องเรียนรู้ สำหรับในประเทศไทย เราสามารถค้นคว้าหาข้อมูล อ่านบทวิเคราะห์ และพิจารณาภาพรวมตลาดตราสารหนี้ได้ที่เว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในโลกตราสารหนี้นั่นเอง

แม้การลงทุนในหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นสามัญ แต่อย่าลืมนะครับว่าการลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง อย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนนะครับ

Did You Know?

บริษัทสตรีมมิงชื่อดังอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีก็ระดมเงินทุนมูลค่ามหาศาลเพื่อภาพยนต์และซีรีส์ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงผ่านตลาดหุ้นกู้เช่นกัน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าหุ้นกู้ของเน็ตฟลิกซ์มีอันดับเครดิต Ba3 หรือจัดอยู่ในหมวดหมู่หุ้นกู้ขยะ เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสูงและกระแสเงินสดของเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่สู้ดีนัก อย่างไรก็ดี หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุน

เอกสารประกอบการเขียน

เริ่มต้นเรียนรู้ตราสารหนี้

4 Basic Things to Know About Bonds

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0