โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

ฤาความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง?

สยามรัฐ

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
ฤาความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง?

ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล

ข่าวคราวการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิเท่าเทียมที่ลุกลามใหญ่โตในหลายเมืองหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ อัฟริกัน-อเมริกันวัย 46 ที่ถูกตำรวจผิวขาวเมืองมินเนอาโพสิส ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปบนเข่าที่กดคอของ ฟลอยด์ นานกว่า 8 นาที ระหว่างนั้นเขาก็พูดออกมาหลายครั้งว่า “ผมหายใจไม่ออก” และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการลุกลาม (และรุนแรง) ขยายไปทั่ว มีผุ้คนหลากหลายวงการออกมาแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการเหยียดผิวครั้งนี้มากมาย ไม่จำเพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ยังกระจายไปยังหลายประเทศในยุโรป แม้จะไม่มีความรุนแรงอย่างที่เกิดในประเทศที่เกิดเหตุก็ตาม แล้วถ้าย้อนกลับไปไกลเมื่อห้าทศวรรษที่แล้ว ยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกา คนดำยังถูกจำกัดสิทธิให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แม้แต่บนรถโดยสารประจำทาง-ก็ยังต้องเดินไปนั่งด้านหลัง!

การเหยียดผิวมีมานานนับทศวรรษ แม้ว่าช่วงหลังจะดูเหมือนว่าซาๆลงไปบ้างแล้ว แต่เราก็ยังได้ยินได้เห็นพฤติกรรมน่ารังเกียจดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

และข่าวการประท้วงล่าสุดนี้ ทำให้คิดถึง “A Change is Gonna Come” เพลงที่อยู่ในสตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้ายของ แซม คุค ที่มีชื่อว่า Ain’t That Good News ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1964 สิบเดือนก่อนที่เขาจะถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้นเอง

สร้างชื่อขึ้นมาในฐานะนักร้องกอสเพลก่อนจะก้าวมาเป็นขวัญใจวัยรุ่นกับเพลงป๊อปอย่าง “You Send Me” เมื่อปลายทศวรรษ 1950 และเป็นนักร้องผิวดำคนแรกๆที่มีพื้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีที่คนผิวขาวเป็นใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้น ความเป็นคนผิวดำของเขาก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอยู่ดี อย่างเช่นครั้งหนึ่งในปี 1963 เขากับวง ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพักในโรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ ที่ ชเรฟพอร์ท, ลุยเซียนา เกิดการโต้เถียงกันระหว่างพวกเขากับผู้จัดการพนักงานต้อนรับอย่างรุนแรง ก่อนจะยอมจากมาและไปพักอีกที่หนึ่ง-ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรอเขาอยู่ที่นั่น จับกุมเขาข้อหา “ก่อกวนความสงบเรียบร้อย”

หลังออกจากคุกได้ราวเดือนสองเดือน เขาแต่งเพลง “A Change is Gonna Come” โดยได้แรงบันดาลใจจาก “Blowin’ in the Wind” ของ บ็อบ ดีแลน เพลงที่ว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนสำคัญอีกเพลงหนึ่ง เขารักเพลงนั้น แต่ก็คิดว่าความรู้สึกแบบนี้ “ควรจะ” ออกมาจากคนผิวสีมากกว่า

เพลงนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่ แซม คุค พบเจอ กลั่นออกมาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันยุคนั้น ดัวยภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เนื้อเพลงเต็มๆมีดังนี้

“I was born by the river in a little tent / Oh and just like the river I've been running ev'r since / It's been a long time, a long time coming / But I know a change gonna come, oh yes it will

*“It's been too hard living, but I'm afraid to die / 'Cause I don't know what's up there, beyond the sky / It's been a long, a long time coming / But I know a change gonna come, oh yes it will

“I go to the movie and I go downtown / Somebody keep tellin' me don't hang around / It's been a long, a long time coming / But I know a change gonna come, oh yes it will

“Then I go to my brother / And I say brother help me please / But he winds up knockin' me/ Back down on my knees*

“There have been times that I thought I couldn't last for long / But now I think I'm able to carry on / It's been a long, a long time coming / But I know a change is gonna come, oh yes it will”

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ (ขณะเขียนต้นฉบับ) และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะนำพาไปสู่ “ความเปลี่ยนแปลง” ทัศนคติของคนทุกสีผิวได้อย่างถาวรจริงๆหรือไม่?

บางทีก็อาจจะตอบคำถามนี้ได้ด้วยท่อนหนึ่งของเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจของเพลงนี้

“The answer, my friend, is blowin’ in the wind”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0