โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ร.ร.กวดวิชาปรับตัวหนีตาย เจ้าใหญ่ขายกิจการ-ยุบสาขา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 02.20 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 02.19 น.
02-ร.ร.กวดวิชา
แฟ้มภาพประกอบ(ไม่เกี่ยวกับเนื้อาในข่าว)
ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาหมื่นล้านระอุ ฟรีแลนซ์-รายย่อยเกลื่อนเมือง กำไรหด 20% รายใหญ่ดิ้นปรับตัวเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าร่วมมือทำ cobranding อัดโปรโมชั่นเสริมจุดแข็งแย่งเด็กนักเรียน วงในชี้บิ๊กเนมส่อขายกิจการไม่หยุด-กลุ่มท็อป 10 ยุบสาขา แข่งลดแลกแจมแถมอุตลุด

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากำลังเผชิญปัญหาจำนวนนักเรียนลดลงเฉลี่ย 10-20% กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กทยอยปิดกิจการหรือยุบเลิกสาขาที่ไม่มีผู้เรียนไปก่อนหน้านี้

ล่าสุดผลกระทบลามมาถึงกวดวิชารายใหญ่ อาจมีการขายกิจการและขายสาขามากขึ้น

จับตารายใหญ่เดี้ยงหนัก

ล่าสุด มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเป็นที่จับตามองแบรนด์ “เดอะติวเตอร์” ที่อาจต้องขายกิจการออกไป หลังจากเห็นทิศทางแล้วว่าปัญหาอัตราการเกิดน้อยลงทำให้ขาดแคลนนักเรียน ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (disruptive) ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้จากอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเข้าเรียนในระบบ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาโรงเรียนกวดวิชามีการปรับลดสาขาต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ (ครูอุ๊) มี 30 สาขา, แอพลายฟิสิกส์ 30 สาขา, กวดวิชาวี บาย เดอะเบรน 55 สาขา, กวดวิชายูเรก้า 17 สาขา, สถาบันเอ็นคอนเส็ปต์ 38 สาขา โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี (ครูสมศรี ธรรมสารโสภณ) มี 7 สาขา

กวดวิชาซุปเคเซ็นเตอร์ มี 32 สาขา กวดวิชาเดอะติวเตอร์ มี 4 สาขา, กวดวิชาออนดีมานด์ 52 สาขา ฯลฯ โดยบางสาขายกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ ใช้วิธีเน้นทำโปรโมชั่นผ่านสำนักงานใหญ่ และในสาขาที่ยังมีความต้องการเรียนกวดวิชาอยู่

โคแบรนด์-ร่วมมือเพื่ออยู่รอด

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีการแข่งขันสูงมาก ปัจจัยกระทบสำคัญคืออัตราการเกิดของประชากรลดลง กำลังซื้อลดลง มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนกวดวิชาเฉพาะวิชาที่มีความจำเป็นเท่านั้น แต่ด้วยมูลค่าตลาดรวม 10,000 ล้านบาททำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดทุกปี

จากสารพัดปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชามีการปรับกลยุทธ์รองรับ ดังนี้ 1) สร้างหลักสูตรให้เข้มข้นมีคุณภาพมากขึ้นในแบบที่หาจากโรงเรียนกวดวิชาอื่นไม่ได้ 2) นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนครูผู้สอนซึ่งเป็นต้นทุนหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ ระบบ IT 3) ร่วมมือกันทำ cobranding นำจุดแข็งมาเสริมจุดอ่อนของกันและกัน

4) เรียนผ่านระบบออนไลน์ 100% ในรายวิชาพื้นฐานที่ไม่มีความซับซ้อน และ 5) ใช้กลไกการตลาดเข้ามาช่วยทั้งการลด แลก แจก แถม เป็นต้น

“ตลาดรวมกำไรลดลง 20% แต่มูลค่าตลาดรวมสูงทำให้รายเก่าหายไปมีรายใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แนวโน้มคาดว่าจะเห็นภาพการทยอยปิดสาขาของโรงเรียนดังเพิ่มมากขึ้น”

โวยกวดวิชาผิด กม.เกลื่อนเมือง

นายอนุสรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชาที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย 2,300 แห่ง เพิ่มขึ้น 28% เทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 1,800 แห่ง ในขณะที่มีคู่แข่งโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อีกเกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนใหญ่เป็นคู่แข่งที่ไม่ผ่านเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อาคารเพื่อการศึกษา (อ.6) จะต้องเป็นอาคารที่มีความแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร (1 ตารางเมตร/คน) ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็กมีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกวดวิชาในรูปของการ “ตั้งโต๊ะกวดวิชา” หรือการรับสอนถึงบ้านโดยรุ่นพี่ที่เป็นนิสิตนักศึกษา ซึ่งแม้จะเป็นการหารายได้พิเศษแต่เมื่อทำในรูปแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเช่นกัน

“กรณีโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็กถ้าต้องทำตามกฎหมายก็ต้องขยายพื้นที่ซึ่งอาจเหมือนการลงทุนเกินจริง สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำคือต้องออกมาตรการให้โรงเรียนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตรด้วย”

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสำรวจสถิติ ณ ปี 2560 มีโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศ 2,483 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 546 แห่ง ต่างจังหวัด 1,937 แห่ง มีนักเรียน 503,918 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 166,877 คน ต่างจังหวัด 337,041 คน และมีครูในโรงเรียนกวดวิชา 10,148 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 5,050 คน ต่างจังหวัด 5,098 คน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0