โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รู้ไหมทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย?!

Next Empire

อัพเดต 15 ธ.ค. 2561 เวลา 14.49 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2561 เวลา 07.46 น. • krit.std
รู้ไหมทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย?!
รู้ไหมทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย?!

    จำนวนพนักงานของ Google ในช่วงปี 2017 มีอยู่ราว 70,000 กว่าคน

    ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในประเทศๆเดียวทว่ากระจายไปในทุกภูมิภาค ตัวเลขนั้นอาจดูเหมือนมากแต่หากคิดว่าลูกค้าของ Google คือผู้ใช้งานทั่วโลกแล้ว มันแทบเทียบกันไมได้เลย

    แค่ตัวเลขการใช้งาน Gmail ช่วงปี 2017 ที่มีคนใช้กว่า 1.2 พันล้านก็หนาวแล้ว ยังไม่นับว่าในตอนที่เราต้องการหาอะไรซักอย่าง สถานที่ซักที่ หรือชีวประวัติใครซักคน Google จะต้องมาเป็นตัวเลือกแรกๆเสมอ เพราะมันครอบคลุมที่สุดชนิดหาอะไรก็เจอเกือบหมด สมชื่อ Search Engine อันดับ 1

    ต้องทำงานกันยังไง ถึงจะสามารถรองรับผู้ใช้งานเป็นพันล้านได้ ต้องครีเอตขนาดไหนถึงคิดค้นสารพัดสารพันอุปกรณ์และฟีเจอร์ต่างๆออกมาได้ ลองมาดูกัน

    1. วัฒนธรรมองค์กรสุด Strong

    คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวผู้ก่อตั้งอย่าง Larry Page และ Sergey Brin มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ Google พัฒนามาจนถึงวันนี้ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยน CEO ไปกี่คนต่อกี่คนมันมีสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองได้ทำการวางรากฐานเอาไว้ นั่นคือวัฒนธรรมขององค์กร

    จะเห็นได้จากการเขียน สารจากผู้ก่อตั้ง ที่ทั้งสองแนบไปกับเอกสารชี้ชวนเพื่อเสนอขายหุ้นในวันที่เปิด IPO ไปด้วย แสดงให้เห็นถึงแนวทางการปฏิบัติงานต่อจากนี้ที่จะไม่เปลี่ยนไปไหน 

    นั่นคือรากฐานบางๆแต่ครอบคลุมที่ถูกวางเอาไว้แต่ต้น และทาง google ก็วางแผนสร้าง “วัฒนธรรม” ลงไปทีละชั้นเหมือนกับปาดครีมบนขนมเค้ก ทุกคนมีอิสระในการค้นคว้า วิจัย แต่สิ่งเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ใน Google ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย
5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย

    สิ่งหนึ่งที่เราอาจมองข้ามไปคือความเป็น Search Engine ไม่ว่างานแต่ละภาคส่วนจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่สิ่งที่ Google อยากรั้งตัวเองไว้ที่อันดับ 1 ตลอดกาลคือระบบค้นหาของตัวเอง พวกเขาจะไม่ยอมทิ้งรากเหง้าดั้งเดิมที่สร้างบริษัทขึ้นมา และพัฒนามันไปให้ดียิ่งขึ้น ไปเสมอ

    2. สถานที่ทำงานที่ไม่ว่าใครก็พูดถึง

    นั่นหมายถึงทั้งข้างนอกและข้างใน Google 

    หากเราเข้าไปด้านใน Google สิ่งแรกที่จะเจอก็คือการตกแต่งสีสันสดใส มุมพักผ่อนให้คุยกันอย่างสบายๆ เครื่องเล่นต่างๆมากมาย และอาหารอร่อยๆที่เรียงรายเป็นแถบ

   

    สิ่งที่อยากให้โฟกัสคือส่วน ในยิ่งกว่า ที่เป็นสถานที่ทำงานจริงๆ มันถูกสร้างเป็นออฟฟิศรกๆดูแออัดที่ไม่มีอะไรปิดกั้น ตามคำบอกเล่าของ Eric Schmidt ผู้บริหารของ Google ในหนังสือของเขา ทุกฝ่ายจะนั่งรวมๆกันไม่มีแบ่งห้อง รวมไปถึงฝ่ายบริหารก็ด้วย 

    หน้าที่ของผู้บริหารไม่ได้มีแค่การนั่งโต๊ะเฉยๆ เขาต้องศึกษาหาข้อมูลปัจจุบัน และรับฟังความคิดเห็นของคนที่เดินไปมาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับโปรเจ็คหรือแนวทางการทำงาน ทุกข้อมูลจะถูกส่งต่ออย่างไหลลื่นไม่มีกั๊ก เพราะทุกฝ่ายอยากให้งานนั้นสำเร็จ และมันดีมากหากเดินไปถามผู้รับผิดชอบแผนกนั้นๆได้ทันที ไม่ใช่ต้องส่งอีเมล์หรือเดินข้ามตึก

   3. แบ่ง 20% นอกตำราเข้าไว้ 

    20% นั่นคือปริมาณเวลาที่ google เปิดกว้างให้วิศวกรของตัวเองทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ จะศึกษาหาความรู้ หรือนั่งเล่นก็ย่อมได้ และหลายๆคนเลือกทำโปรเจ็คของตัวเองไปต่อยอดให้บริษัท

    สิ่งที่คนเหล่านั้นได้ไม่ใช่แค่เวลา แต่เป็นอิสระที่คิดอะไรก็ได้ทั้งนั้น มันไม่มีอะไรตายตัวแม้แต่นิดเดียวและไม่มีอะไรรับประกันว่ามันได้ผล แต่ลองดูสิ่งที่ google ได้จาก 20% ของพนักงาน คุณอาจจะคิดว่า เฮ้ย…บางทีบริษัทเราก็น่าจะทำแบบนี้้บาง

5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย
5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย

    Google Earth, Google news, ระบบทำเส้นทางของ google map, ระบบ โฆษณาอัตโนมัติของ Gmail และอื่นๆอีกมากมาย แม้แต่ระบบคำค้นหาอัตโนมัติที่ดึง history ผู้ใช้มาโชว์ ก็ได้มาจาก 20% ของวิศวกรนี่ล่ะ

    4. รับฟังทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นใคร

    แน่นอน เรื่องทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเจอเหล่าผู้บริหารค้านหัวชนฝา

    การค้านหัวหน้าหรือว่าเถียงคนเก่งอาจทำให้ถูกเขม่นในหลายบริษัท แต่ไม่ใช่กับ Google ที่นี่การเห็นแย้งกับความคิดชาวบ้านดูจะเป็นหน้าที่เสียมากกว่าด้วย ไอเดียต่างๆจะถูกเสนอขึ้นมาและถกเถียงอย่างเข้มข้น เพราะไม่ใช่ว่าไอเดียของ CEO จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป

    แม้แต่ผู้ก่อตั้ง Google ยังโดนพนักงานค้านหัวชนฝาในที่ประชุมมาแล้ว

การจะทำแบบนี้ได้บริษัทต้องมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ต้องทำให้บรรดาพนักงานเห็นว่าการแสดงออกทางความคิดของพวกเขานั้นไม่ได้กระทบอะไรกับตำแหน่งหรือเงินเดือนในภายภาคหน้า 

5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย
5 ปัจจัยใหญ่ ทำไม Google ถึงดูไม่เคยขาดไอเดียเลย

    สิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลสืบเนื่องต่อไปในด้านกลยุทธ์ของ Google บรรดาพนักงานจะถือว่าไม่มีอะไรเพอร์เฟ็คไปเสียทุกอย่างและต้องมีการพัฒนาปรับแก้อยู่เสมอ และแผนการต่างๆไม่จำเป็นต้องตายตัว สิ่งที่ต้องทำให้แน่นขึ้นคือองค์ประกอบพื้นฐานของแผนการนั้นต่างหาก 

    เหล่าพนักงานจะทำหน้าที่สานต่อมันเอง ว่าอะไรในส่วนไหน เวิร์คหรือไม่เวิร์ค สิ่งนั้นสิ่งนี้ในแผนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเมื่อตกผลึกไปแล้วจึงนำไปใช้ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผ่านไอเดียของทั้งทีมมาแล้ว

    อย่างที่กล่าวไป ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียง 

    5. ไม่ตามคู่แข่ง

    การมีคู่แข่งคือโอกาสการพัฒนาบริษัทด้วยการสรรหาอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่การเดินตามรอยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมที่เราจะต้องหาทางแยก การมัวจดจ่ออยู่กับฝ่ายตรงข้ามเกินไปจะไม่สามารถนำความก้าวหน้าเข้ามาสู่บริษัทจริงๆได้ ศึกษาคู่แข่งพอเป็นพิธีจะดีกว่า

ยกตัวอย่างจากหนังสือ How google works ในตอนที่ Microsoft ปล่อย Bing ออกมาใหม่ๆ พนักงาน Google ทุกคนกังวลอย่างมากจนต้องวางมือจากงานมาทำเรื่องเสิร์ชกันหมด  

    ผลที่ได้คือฟีเจอร์ใหม่ๆภายใน Google Search ทั้งการแสดงผลการค้นหาแม้จะยังพิมพ์ไม่เสร็จ การค้นหาจากรูปภาพ รวมไปถึงการอัพเกรดยิบย่อยข้างในระบบทำให้สามารถหาข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลต้องขอบคุณ Bing 

  • ถ้าไม่มีคู่แข่งคงไม่พัฒนาไวขนาดนี้

    การที่ Google มีพนักงานเพียงแค่ 70,000 กว่าคนไม่ได้หมายความว่าบริษัทไม่มีปัญญาจ้าง แต่ Google ต้องการควบคุมปริมาณพนักงานไว้เท่านั้น และเลือกจ้างคนที่พวกเขาคิดว่าเป็น The Best ทั้งในแง่การเรียนและการทำงานร่วมกับผู้อื่น มันยังมีแบบทดสอบยิบย่อยสำหรับพนักงานทำเพื่อให้มั่นใจว่าถ้าอยู่ๆคนๆนั้นโดนแต่งตั้งให้คุมโปรเจ็ค เขาหรือเธอก็ต้องสามารถทำได้ 

    มันคือมาตรฐาน และ Google เองก็ไม่คิดจะลดมาตรฐานนี้แม้ว่าจะอยากเพิ่มคนขนาดไหนก็ตาม

  • คุณภาพต้องมาก่อนเสมอ 

    ทั้งหมดทั้งมวลนั่นคือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ว่าทำไม Google สามารถสร้างอาณาจักรของตัวเองได้แม้ว่าจะมีคนจำนวนน้อย และสามารถคิดอะไรใหม่ๆออกมาอยู่เรื่อยๆแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับโลกแล้วก็ตาม

    …แล้วบริษัทคุณเป็นแบบ Google มั้ยเอ่ย?…

Source 

หนังสือ : How google works

https://expandedramblings.com/index.php/gmail-statistics/

https://abc.xyz/investor/founders-letters/2004/ipo-letter.html

https://www.internetworldstats.com/stats.htm

https://www.quora.com/What-are-the-negatives-in-working-in-a-too-good-to-be-true-office-like-Google?redirected_qid=1080239

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0