โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้และเข้าใจ 7 ขั้นตอนจัดการศพผู้ป่วย ‘โควิด-19’ ไม่แพร่เชื้อ!

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 10.15 น.

นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อจากโรค "โควิด-19" จะเพิ่มสูงขึ้นทุกวันแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามีวัดบางแห่งและมูลนิธิกู้ภัยบางแห่ง ไม่ยอมเข้ามารับศพของผู้ป่วย "โควิด-19" เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาตามที่ญาติร้องขอเพราะกลัวว่าจะติดเชื้อโรคร้ายจากศพ กรณีนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยบางส่วนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จนทำให้ตื่นตระหนกไปแบบผิดๆ

ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร สำคัญตรงที่เมื่อยอมรับว่าตัวเองไม่รู้แล้วก็ต้องหาความรู้ที่ถูกต้องมาทำให้ตัวเองเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น ดังนั้นสำหรับคนไหนที่ยังไม่รู้ให้ชัด ชวนมาเพิ่มเติมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์กันอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการของโรคระบาดชนิดนี้

อันดับแรกขอให้รู้ก่อนว่าโรค "โควิด-19" เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไข้ ไอแห้ง หอบเหนื่อย เพราะเชื้อไวรัสไปโจมตีที่ปอดและทางเดินหายใจเป็นหลัก ส่วนการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนั้นจะแพร่ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม ของคนป่วย หรือคนที่เป็นพาหะ (อาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ) เมื่อคนปกติเข้ามาใกล้ชิดคนป่วยน้อยกว่าหนึ่งเมตร ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้

เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วญาติสามารถเคลื่อนย้ายศพไปบำเพ็ญกุศลภายใต้การจัดการศพที่ถูกต้องของทีมแพทย์  ส่วนทางวัดก็สามารถรับศพไปฌาปนกิจได้ตามปกติ และด้วยความที่โรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ติดต่อได้ทางการหายใจ ไอ จาม เท่านั้น ไม่ใช่ว่าไปอยู่ใกล้ศพแล้วจะติดโรค อย่าสับสน ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าหลังจากผู้ป่วย "โควิด-19" หมดลมหายใจแล้ว ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก!

158564648872
158564648872

ส่วนขั้นตอนการจัดการศพของผู้ป่วย "โควิด-19" นั้น ทีมแพทย์มีขั้นตอนการจัดการอย่างรัดกุม ทำให้ประชาชน เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เจ้าหน้าที่วัด มั่นใจได้ในความปลอดภัย สำหรับขั้นตอนการดูแลร่างผู้เสียชีวิตจากโรค "โควิด-19" นั้น มีข้อมูลจากสถาบันบำราศนราดูร และสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้อธิบายให้ความรู้เอาไว้ดังนี้

1. ดูแลร่างผู้เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี

ทีมแพทย์จะดูแลร่างของผู้เสียชีวิตให้สมศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยในการจัดการศพ ทีมแพทย์มีความชำนาญในเรื่องโรคติดเชื้อ มีการซักซ้อมการจตัดการเรื่องนี้เป็นระยะๆ อยู่แล้ว สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายที่เสียชีวิตแบบนี้

2. ศพจะถูกฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70%

เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งก่อนจะเข้าไปได้นั้นเจ้าหน้าที่ต้องสวมใส่เครื่องป้องกันตัวอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้แปลว่าร่างผู้เสียชีวิตจะมีหรือไม่มีเชื้อโรค แต่เป็นการสวมชุดป้องกันที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจในการทำงาน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำร่างผู้เสียชีวิตไปชุบแอลกอฮอล์ในการแพ็ค ใช้น้ำยาแอลกอฮอล์ 70% พ่นฆ่าเชื้อทุกด้าน ทุกซอก และด้านหลังของร่างผู้เสียชีวิตเพื่อให้สะอาดที่สุด และใช้สำลีชุบน้ำยาแอลกอฮอล์อุดตามอวัยวะทวารต่างๆ ด้วย

3. บรรจุร่างในถุงซิปหนา 3 ชั้น

ร่างผู้เสียชีวิตจะถูกบรรจุในถุงซิปที่มีความหนาจำนวน 3 ชั้น โดยถุงแต่ละชั้นก็ต้องมีการฉีดน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% พ่นฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน

158564648933
158564648933

4. บรรจุร่างใส่ถุงแต่ละชั้นต้องปลอดเชื้อ!

ระหว่างการรูดซิปชั้นที่ 1 เจ้าหน้าที่จะต้องสเปรย์แอลกอฮอล์พ่นฆ่าเชื้อที่ถุงซิป จากนั้นผู้บรรจุศพต้องออกจากห้อง ถอดชุดป้องกัน ถอดถุงมือออกไปทำความสะอาดร่างกาย แล้วกลับมาบรรจุร่างใส่ถุงซิปชั้นที่ 2 และทำซ้ำแบบเดียวกันในการบรรจุร่างใส่ถุงซิปชั้นที่ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าถุงซิปชั้นที่ 2 และ 3 ไม่มีโอกาสที่จะมีเชื้อโรคเลย

5. นำร่างไปแช่แข็ง

การจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรค "โควิด-19" ทุกราย โรงพยาบาลทุกแห่งในไทยจะทำเป็นมาตรฐานเดียวกันคือ นอกจากการนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุลงในถุงซิป 2-3 ชั้นแล้ว ศพผู้ป่วยดังกล่าวจะไม่ได้ถูกฉีดน้ำยา แต่จะถูกนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสแทน

6. ไม่อนุญาตให้อาบน้ำศพ

ทีมแพทย์มีคำแนะนำสำหรับญาติให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ไม่อนุญาตให้ญาติการอาบน้ำ และไม่อนุญาตให้ญาติสัมผัสจับต้องศพหรือใช้มือเปล่าเปิดถุงซิปออกเอง 

7. การเผาศพมีความร้อนสูง เชื้อโรคตายหมด!

ศพผู้ติดเชื้อนั้น หลังจากเสียชีวิตแล้วระยะเวลายิ่งนานไปเชื้อโรคก็ยิ่งลดน้อยลง เพราะธรรมชาติของเชื้อโรคที่อยู่ในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เมื่อร่างกายนั้นๆ เสียชีวิตลง เซลล์และเนื้อเยื่อก็หยุดทำงาน ทำให้เชื้อโรคอยู่ไม่ได้ ก็ต้องตายตามไปเช่นกัน อีกทั้งโดยปกติการเผาศพจะใช้ความร้อนที่มีอุณภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ทำให้เนื้อเยื้อ ผิวหนัง และกระดูกของร่างมอดไหม้ ดังนั้นเชื้อโรคจะตายหมดแน่นอน 

สำหรับคนที่ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพควรระมัดระวัง อย่าไปอยู่ในจุดที่คนแออัดเบียดเสียด และนั่งให้มีระยะห่างจากกันมากกว่า 1 เมตร

และที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า ผู้เสียชีวิตจากโรค โควิด-19 ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เนื่องจากเชื้อได้ตายไปพร้อมกับผู้เสียชีวิตแล้ว และขอให้วัดดำเนินการรับศพผู้เสียชีวิตไปดำเนินการพิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการติดเชื้อแต่อย่างใด

158564683882
158564683882

-------------------------

ที่มา: สถาบันบำราศนราดูร, สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872375

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872370

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_other/G43.pdf

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0