โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

รู้หรือไม่? เสื้อผ้าที่สวมใส่ ก็มีค่าวัดในการปกป้องผิวจากรังสียูวีด้วยเช่นกัน - เกาะแกะแฟชั่น

LINE TODAY

เผยแพร่ 16 พ.ค. 2563 เวลา 18.30 น. • pimphicha
Photo by <a href=
Tamara Bellis | unsplash.com ">
Photo by Tamara Bellis | unsplash.com 

เสื้อผ้าที่มีอยู่ในตู้ นอกจากจะใช้ในการสวมใส่เพื่อบ่งบอกสไตล์ของคุณและเหมาะสำหรับในโอกาสต่างๆ ยังสามารถปกป้องผิวเราจากการถูกทำร้ายโดยรังสียูวี ต้นเหตุของมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย ดังนั้นหากเลือกเสื้อผ้าได้ถูกต้อง อาจมีค่าเหมือนได้ครีมกันแดดชั้นดีที่ไม่ต้องทาซ้ำระหว่างวันเลยเชียว

วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าค่า “UPF” ที่อยู่ในเนื้อผ้า ทำหน้าที่ปกป้องผิวเราจากแสงแดดโดยไม่ต้องทาให้เหนียวเหนอะหนะรำคาญใจ

UPF (Ultraviolet Protection Factor) คือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวี (ทั้งยูวีเอและยูวีบี) บนสิ่งทอต่างๆ โดยในที่นี้จะพูดถึงบนเสื้อผ้า ค่าของ UPF จะขึ้นอยู่กับวัสดุสิ่งที่ใช้ทอเป็นผืนผ้า รวมถึงความละเอียดของเนื้อผ้า (หรือช่องว่างระหว่างเส้นด้าย) และสารที่นำมาเคลือบใยผ้าเป็น ซึ่ง UPF จะมีค่าเริ่มต้นที่ UPF15 และสูงสุดอยู่ที่ 50+ ค่าของ UPF 50 จะสามารถบล็อกรังสียูวีได้มากถึง 98% นั่นหมายความว่ารังสียูวีจะสามารถเข้าถึงผิวได้เพียง 2% เท่านั้น (หากค่า UPF น้อยกว่า 50 ความสามารถในการปกป้องก็จะลดหลั่นลงไป) เนื้อผ้าที่มีค่า UPF 30 ขึ้นไป จะได้รับตราสัญลักษณ์แนะนำจากมูลนิธิโรคมะเร็งผิวหนัง โดยค่าของ UPF30-49 แสดงให้ทราบถึงการปกป้องที่ค่อนข้างดี ในขณะที่ UPF50 ขึ้นไปคือปกป้องได้อย่างยอดเยี่ยม

สัญลักษณ์แนะนำโดยมูลนิธิมะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer Foundation) | รูปจาก <a href=
skincancer.org">
สัญลักษณ์แนะนำโดยมูลนิธิมะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer Foundation) | รูปจาก skincancer.org

แล้ว UPF แตกต่างจาก SPF อย่างไร?

อธิบายง่ายๆ คือค่า UPF จะว่าด้วยเรื่องของความสามารถในการสกัดกั้นรังสียูวีไม่ให้แทรกซึมผ่านเนื้อผ้าเข้ามาถึงผิวหนัง ในขณะที่ SPF (Sun Protection Factor) นั้นจะแสดงเวลาที่สามารถปกป้องผิวจากอาการแสบแดง  ยกตัวอย่างเช่นหากปกติคุณรู้สึกแสบผิวหลังจากออกไปตากแดดประมาณ 20 นาที แต่หากใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 จะช่วยปกป้องผิวจากอาการแสบแดงได้นานขึ้น 15เท่า นอกจากนี้ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ UPF จะจัดการสกัดกั้นทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ในขณะที่ SPF จะรับมือได้เฉพาะรังสียูวีบีเท่านั้น 

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วอาจมีคำถามว่า "แล้วถ้าไม่มีค่า UPF แสดงบนป้ายแท็กเสื้อผ้า จะรู้ได้อย่างไรว่าเสื้อผ้าที่ใช้แบบไหนบ้างที่จะช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีได้?" เราจึงแบ่งออกตามลักษณะของเนื้อผ้าเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกสวมใส่ไว้ดังนี้…

พิจารณาจาก "สี" 

สีที่เข้มหรือสีที่สดใสจะช่วยป้องกันผิวของคุณจากรังสี UV ได้โดยการ “ดูดซับ” แทนที่จะปล่อยให้ทะลุผ่าน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสีเหล่านี้จึงให้การปกป้องผิวได้ดีกว่าเฉดสีที่อ่อนกว่า

เลือกที่ "เนื้อผ้า" 

ผ้าทอแบบหนาแน่นเช่นผ้าเดนิม(ยีนส์), ผ้าใบ, ผ้าขนสัตว์หรือใยสังเคราะห์ จะให้การป้องกันได้ดีกว่าผ้าที่ทอแบบบาง วิธีการตรวจสอบง่ายๆ คือลองขึงผ้าให้แสงส่องผ่าน หากแสงสามารถทะลุผ่านได้ง่ายๆ นั่นก็แปลว่ารังสีผ่านทะลุมาได้ง่ายเช่นกัน

กระบวนการการผลิต ก็สำคัญ

ผ้าฝ้ายที่ไม่ได้ผ่านการฟอกนั้นจะมีเส้นใยธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับรังสียูวีไว้ ในขณะที่ผ้าโพลีเอสเตอร์แบบเงาและผ้าซาตินน้ำหนักก็เบาสามารถป้องกันได้ด้วยการ 'สะท้อนแสง' ออกไปด้วยความเงาของเนื้อผ้า นอกจากนี้ผ้าที่ผ่านการย้อมสารป้องกันการแทรกซึมจากรังสียูวีก็ช่วยได้เช่นกัน 

ขนาดและความ 'พอดี'

เลือกใส่เสื้อผ้าที่พอดี หรือกึ่งหลวมจะช่วยให้ผ้าปกป้องผิวได้ดีกว่าการใส่เสื้อผ้าที่ฟิตแน่น เพราะเมื่อเนื้อผ้าถูกยืดออกจะเป็นการเปิดขยายช่องของเส้นด้ายให้แสงแดดผ่านทะลุเสื้อผ้าไปสู่ผิวได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก : <a href=
textileshotline.co.uk">
ภาพจาก : textileshotline.co.uk

สัญลักษณ์แสดงค่า UPF 

ผู้ผลิตเสื้อผ้าบางรายมีฉลากสัญลักษณ์ UPF ที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าสามารถป้องกันรังสียูวีได้มากแค่ไหน จำไว้ว่าค่า UPF ยิ่งเยอะ ยิ่งปกป้องได้ดี

ดูที่ ดีไซน์และการออกแบบ:

แน่นอนว่า เสื้อผ้าจะปกป้องผิวเราได้ตามขอบเขตความสามารถที่จะปกคลุมร่างกายของเราเท่านั้น ดังนั้นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว จึงปกป้องผิวเราได้ทั่วถึงกว่าการเสื้อผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย

*ข้อควรรู้ นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากเสื้อผ้าถูกยืด หรือเริ่มมีความย้วยกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งความเปียกชื้น จะเป็นการลดความสามารถในการปกป้องผิว ทำให้รังสียูวีสัมผัสกับผิวได้ง่ายยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้เวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ลองพลิกป้ายหาค่า UPF กันเล่นๆ หากเจอก็จะได้เป็นเหตุผลดีๆ ในการตัดสินใจซื้อ แต่ถ้าหาแท็กไม่เจอก็เลือกจากแบบที่ชอบ เนื้อผ้าที่ใช่ สวมใส่สบาย ไม่บางและไม่คับจนเกินไปเป็นใช้ได้

ข้อมูลจาก Skin Cancer Foundation , 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0