โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

รู้หรือไม่? ซีสต์เต้านม ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป!!

MThai.com - Health

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 06.19 น.
รู้หรือไม่? ซีสต์เต้านม ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป!!
สาวๆ หลายคนที่คลำเจอก้อนที่หน้าอก ก็กลัวว่าตัวเองจะเป็น ซีสต์เต้านม จนต้องเข้าห้องผ่าตัด แต่รู้ไหมว่า การเป็นซีสต์ที่เต้านม ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป…

ขึ้นชื่อว่าคลำเจอก้อนที่หน้าอก สาวๆ หลายคนต่างก็เป็นกังวลกันทั้งนั้นแหละค่ะ กลัวว่าตัวเองจะเป็น ซีสต์เต้านม หรือ มะเร็งเต้านม จนต้องเข้าห้องผ่าตัด แต่สาวๆ รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว การเป็นซีสต์ที่เต้านม ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป…

ซีสต์เต้านม หรือ Fibrocystic (ไฟ-โบร-ซีส-ติค) เป็นภาวะที่เกิดมี ซีสต์ (Cyst) หรือที่แปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยว่า ถุงน้ำ

ในความเข้าใจของคนทั่วไป การมีก้อนอะไรที่เต้านม ก็เรียกว่า “ซีสต์” หมด ซึ่งอาจจะไม่ถูก หากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ อาจไม่ใช่ซีสต์ ตามความหมายทางการแพทย์ อาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งก็ได้ครับ ดังนั้นเมื่อมีใครเล่าให้ฟังว่าเป็น ซีสต์เต้านม ก็ควรจะถามยืนยันว่า หมอบอกว่าเป็นซีสต์หรึเปล่า?

ซีสต์เต้านม เหมือนหรือต่างกับซีสต์ตามตัวที่อื่นหรือไม่?

อวัยวะอื่นก็มีซีสต์ได้ “ซีสต์” หมายถึง พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายนับแต่ผิวหนังลงไป จนถึงอวัยวะภายใน เมื่อใดก็ตามมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเกิดเป็นถุงขึ้น ก็เรียกว่า ซีสต์ โดยข้างในอาจจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำ หรือสารหลั่งจากต่อมของร่างกาย ขนาดของซีสต์อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรืออาจมองเห็น คลำได้ ซีสต์ไม่ใช่เนื้องอก ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง

ซีสต์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จัก คือ ซีสต์ที่ผิวหนัง ซึ่งปรากฏบนผิวหนังเป็นก้อนเล็กๆ และอาจจะมีลักษณะค่อนไปทางนูนๆ และบางครั้งมองไปแล้วเหมือนข้าวสุกที่เราบด หรือเรียกว่าฝีข้าวสุก ฝีข้าวสาร มักจะเกิดจากกันอุดตัดของต่อมไขมันที่ผิวหนัง ทำให้มีขี้ไคลสะสมอยู่ภายในถุงซีสต์นั้น

ส่วนซีสต์ที่เต้านม เป็นภาวะที่น้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านม อยู่กันเป็นหย่อมๆ ทำให้เวลาตรวจดูจะพบเป็นถุงน้ำ หรือเมื่อคลำจากภายนอก ก็ได้เป็นก้อนในเนื้อนม เล็กบ้างใหญ่บ้าง

สาเหตุของซีสต์ที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านม?

สาเหตุที่แท้จริงบอกไม่ได้ อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่อมเต้านมในร่างกาย มีน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเต้านม รวมตัวเป็นถุงน้ำ สิ่งเหล่านี้มีการควบคุมโดยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน “เอสโตรเจน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีอยู่ เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเหล่านี้ มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านม และในที่สุดก็เป็นซีสต์ มักจะพบว่าซีสต์โตขึ้น และพบซีสต์ได้บ่อยขึ้นในช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา และซีสต์จะเล็กลง เมื่อประจำเดือนมาแล้ว

ลักษณะผิดปกติที่พอจะสังเกตได้

คนที่เป็นซีสต์ที่เต้านม อาจมีจะมีปัญหาปวดบริเวณเต้านม อาจจะเจ็บหรือปวดเนื่องจากน้ำในซีส ดันเนื้อนมรอบข้าง ทำให้เต้านมตึง จึงเกิดอาการปวด และบางครั้งอาจจะคลำ พบก้อนที่เต้านมด้วยก็ได้ ก้อนที่เต้านม อาจมีได้หลายตำแหน่ง และอาจโตๆ ยุบๆ

ซีสต์เนื้อกับซีสต์น้ำ

“ซีสต์” โดยทั่วไปจะเป็นถุงน้ำ จะโตๆ ยุบๆ และสามารถยุบหายจนสนิทได้ แต่ในบางตำแหน่งของเต้านมที่เกิดซีสต์บ่อยๆ อาจมีการอักเสบของเนื้อนม และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อนม จนกลายเป็นก้อนเนื้อได้ เรียกว่า ซีสต์เนื้อ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นซีสต์?

ก้อนที่เต้านมที่เป็นซีสต์จะโต ๆ ยุบๆ ตามรอบเดือน มะเร็งมักจะโตขึ้นเรื่อยๆ ซีสต์มักจะเจ็บ มะเร็งมักจะไม่เจ็บ ซีสต์มักจะนุ่มๆ หยุ่นๆ มะเร็งมักจะแข็ง ลักษณะดังกล่าวพบจะบอกได้คร่าวๆ ว่าเป็นซีสต์ หรือ เป็นมะเร็ง

การตรวจอื่นๆ ที่พอจะบอกได้ว่าเป็นซีสต์ หรือก้อนเนื้อ ก็คือ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ซึ่งจะบอกได้ว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นน้ำ หรือเป็นเนื้อ อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้เข็มฉีดยา ฃเจาะดู หากเป็นซีสต์น้ำจะได้น้ำออกมา และก้อนยุบหายไป

เป็นซีสต์แล้ว จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?

ซีสต์เต้านม ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ซีสต์ที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติ ตั้งแต่ต้นที่มีลักษณะเป็นมะเร็งเต้านม การจะทราบได้หรือไม่ว่า ซีสต์ที่เป็นนั้น มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ที่แน่นอนจะต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ แต่โดยทั่วไป แพทย์สามารถบอกได้ว่า ลักษณะของซีสต์ที่เกิดขึ้น ส่อเค้าว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่

เมื่อไหร่ เป็นซีสต์และไม่ต้องผ่าตัด

การพบก้อนที่เต้านม หากแพทย์แน่ใจว่าว่าเป็นซีสต์ เช่น พบว่าเป็นซีสน้ำ จากการเจาะดูด หรือจากการตรวจอัลตราซาวด์, ก้อนซีสต์ที่ยุบลงได้เอง ซึ่งจัดในกลุ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง จะไม่ต้องผ่าตัด แต่หากซีสต์ที่พบมีส่วนที่เป็นเนื้อปนอยู่ หรือเป็นซีสต์เนื้อ แพทย์จะพยายามพิสูจน์ว่าก้อนที่พบนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อพิสูจน์ชิ้นเนื้อจะด้วยการผ่าตัด หรือด้วยการเจาะเนื้อดูก็ได้

ดังนั้นหากรู้แน่ว่าเป็นซีสต์ก็ไม่ต้องผ่าตัด แต่หากไม่แน่ใจ แพทย์จะพยายามพิสูจน์ให้รู้ว่าเป็นซีสต์ หรือเป็นมะเร็ง
จะมีโอกาสกลับมาเป็นซีสต์ได้อีกหรือไม่? เนื่องจากสาเหตุการเกิดซีสต์ไม่แน่นอน และพบว่ามีการเกิดที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้นซีสต์จึงอาจกลับมาเป็นได้อีก ทั้งในจุดเดิม และที่ใหม่ การรักษาซีสต์จึงไม่ใช่การผ่าตัด เพราะตัดออกก็เป็นใหม่ได้ การรักษาซีสต์ จะเป็นการรู้จักกับซีสต์ และรู้ว่าเมื่อไร ก้อนในเต้านมจะเป็นมะเร็งไม่ใช่ซีสต์ต่างหาก

หากท่านไม่แน่ใจ… ว่าก้อนที่เต้านมที่ตรวจพบเป็นซีสต์หรือเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์

คลิป > สาวๆ ควรเช็ก อาการผิดปกติแบบไหน เสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านม

https://seeme.me/ch/health/kK33av

ที่มา : รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0