โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รู้ยัง ดึงเงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตมาใช้ได้

SET ตลาดหลักทรัพย์ฯ

เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • SET Education ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน

วันดี คืนดี หากเกิดความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนจะทำอย่างไร ถ้าเงินฝากในบัญชีก็หมดเกลี้ยง ทองที่ซื้อมาใส่ก็เอาไปจำนำหมดแล้ว จะหันหน้าไปหยิบยืมใครตอนนี้ก็คงจะยาก

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ในมือ แปลว่า คุณมีเงินที่สามารถหยิบออกมาใช้ได้แล้วทันที เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยรู้ เท่านั้นเอง 

 

หลายคนคงแย้งอยู่ในใจว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีเงินให้เอาออกมาใช้ได้อย่างไร ในเมื่อกรมธรรม์ที่ทำไว้เป็นกรมธรรม์แบบตลอดชีพ ไม่ใช่กรมธรรม์แบบมีเงื่อนไขการคืนเงิน นี่คือ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคนส่วนใหญ่ ที่มักเข้าใจว่ากรมธรรม์ที่เป็นแบบมีเงินคืนตามเงื่อนไขกรมธรรม์และไม่นำเงินคืน จะสามารถนำเงินออกมาได้ก็ต่อเมื่อถึงกำหนดการคืน โดยการฝากเงินจำนวนนั้นไว้ในกรมธรรม์เท่านั้น

 

ในความเป็นจริง กรมธรรม์ทุกฉบับ (ยกเว้นกรมธรรม์ควบการลงทุน : Unit Link) เมื่อมีการชำระเบี้ยตามกำหนดและต่อเนื่องเป็นเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นตามตารางแห่งมูลค่าในกรมธรรม์ ซึ่งมีทั้งหมด 3 มูลค่า

 

1. มูลค่าเวนคืนเงินสด

2. กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ

3. การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา 

 

โดยมูลค่าดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการเงิน หากทราบถึงวิธีการแปลความหมายของแต่ละตัว แต่ในที่นี่จะกล่าวถึงเฉพาะประโยชน์ของมูลค่าเวนคืนเงินสดเท่านั้น

 

มูลค่าเวนคืนเงินสด คือ มูลค่าในตารางแห่งมูลค่าในกรมธรรม์ โดยทั่วไปจะเริ่มมีมูลค่าเกิดขึ้นตั้งแต่สิ้นปีที่ 2 เป็นต้นไป ในตารางจะกำหนดมูลค่าเวนคืนเงินสดต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท

มูลค่าเวนคืนเงินสดมีประโยชน์ คือ

 

1. กรณีที่ต้องการยกเลิกความคุ้มครองตามกรมธรรม์และต้องการเงินคืน ผู้เอาประกันสามารถนำกรมธรรม์ไปขอเวนคืนเปลี่ยนเป็นเงินสดกลับมาได้ ซึ่งจะได้รับมูลค่าเวนคืนเงินสดเต็มจำนวน (ตามตารางตัวอย่างข้างต้น)

 

หากทำทุนประกันชีวิตไว้ 500,000 บาท และต้องการเวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีที่ 4 ซึ่งมีมูลค่าเวนคืนเงินสด 18 บาทต่อจำนวนเงินเอาประกันภัยทุกๆ 1,000 บาท ดังนั้น มูลค่าเวนคืนเงินสดที่จะได้รับคือ (18/1000) x 500,000 = 9,000 บาท แต่เมื่อทำการเวนคืนกรมธรรม์แล้ว ความคุ้มครองต่างๆ ตามกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงทันที

 

ดังนั้น หากจะเวนคืนกรมธรรม์ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่ามีผลกระทบต่อแผนการเงินหรือแผนชีวิตมากน้อยเพียงใด เพราะหากเกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้นก็จะไม่มีทุนประกันชีวิตเหลืออีกเลย

 

2. กรณีที่ผู้เอาประกันต้องการเงินด่วนพร้อมใช้ยามฉุกเฉิน สามารถขอกู้จากมูลค่าเวนคืนเงินสดออกมาไว้ใช้จ่ายหรือกู้เพื่อจ่ายเบี้ยอัตโนมัติได้ และการกู้ย่อมมาพร้อมกับดอกเบี้ยซึ่งถูกกำหนดอัตราที่แน่นอนไว้แล้วในกรมธรรม์แต่ละฉบับ

 

โดยส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 6 – 8% ต่อปี ซึ่งอัตรานี้ไม่เพียงแต่ใช้กำหนดเป็นอัตราสำหรับคำนวณดอกเบี้ยจากการกู้มูลค่าเวนคืนเงินสดเท่านั้น บริษัทประกันชีวิตยังใช้อัตรานี้ในการคำนวณดอกเบี้ยให้ผู้เอาประกันในกรณีที่ต้องการคงเงินคืนตามเงื่อนไขกรมธรรม์หรือเงินปันผลไว้กับบริษัทประกันชีวิตด้วย

 

ข้อดีของการคงเงินไว้กับบริษัทประกันชีวิต คือ ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องมีภาระภาษี หมายความว่าถ้าผู้เอาประกันได้รับเงินจากกรมธรรม์ในรูปของเงินคืนตามเงื่อนไขกรมธรรม์หรือเงินปันผลจากกรมธรรม์ และต้องการฝากเงินนั้นไว้กับบริษัทประกันชีวิต ก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน

 

ในทางกลับกันหากผู้เอาประกันต้องการนำเงินออกมาใช้โดยการกู้มูลค่าเวนคืนเงินสด ก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันเช่นกัน แต่การกู้มูลค่าเวนคืนเงินสดต่างจากการเวนคืนในข้อ 1 คือ การกู้มูลค่าเวนคืนเงินสดนั้นโดยทั่วไปจะสามารถกู้ได้ 70 – 85% ของมูลค่าเวนคืนเงินสดขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ชำระเบี้ย

 

ยิ่งชำระเบี้ยต่อเนื่องเป็นจำนวนปีที่ยาวนาน ก็จะสามารถกู้มูลค่าเวนคืนเงินสดได้มากขึ้น จากตารางตัวอย่างข้างต้น หากผู้เอาประกันทำทุนประกันชีวิตไว้ 500,000 บาท และต้องการกู้มูลค่าเวนคืนเงินสดเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเองหรือกู้จ่ายเบี้ยอัตโนมัติ (สมมติว่ากู้ได้ 70% ของมูลค่าเวนคืนเงินสด) จะกู้เงินจากมูลค่าเวนคืนเงินสดได้ 6,300 บาท (คำนวณจาก 70% x (18/1000) x 500,000)

 

อาจมีคำถามว่าทำไมกู้ได้ไม่เต็มจำนวนของมูลค่าเวนคืนเงินสด คำตอบคือ ส่วนต่างที่เหลือนั้น บริษัทประกันชีวิตจะเผื่อสำรองกันเอาไว้เพื่อแปลงมูลค่าเป็น “การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา” ในกรณีที่กรมธรรม์ไม่ได้อยู่ในสถานะปกติ หรือมูลค่าเวนคืนเงินสดมีไม่พอที่จะทำการกู้จ่ายเบี้ยอัตโนมัติ กรมธรรม์ก็จะถูกแปลงเป็นกรมธรรม์แบบขยายระยะเวลาทันทีเพื่อให้อย่างน้อยยังคงมีความคุ้มครองเรื่องทุนประกันชีวิตในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์แบบขยายระยะเวลาให้ความคุ้มครองอยู่

 

ดังนั้น หากผู้เอาประกันมีความจำเป็นต้องกู้จากมูลค่าเวนคืนเงินสดเพื่อใช้ในยามจำเป็น เมื่อมีความพร้อมที่จะคืนเงินกู้และดอกเบี้ยที่กู้มาก็ควรจะคืน เพื่อทำให้เงินสำรองในกรมธรรม์มีไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินในโอกาสต่อไป เพราะความแน่นอนของชีวิต คือ ความไม่แน่นอน

 

กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ใครๆ มักคิดว่าเป็นภาระในยามที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกๆ ปี แต่ในวันหนึ่งที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น กรมธรรม์ประกันชีวิตก็เปรียบเหมือนแสงเทียนที่ส่องแสงสว่างในวันที่ไฟฟ้าดับมืดมิด พอให้มีเวลาคิดแก้ไขและหาทางเดินให้กับชีวิตต่อไปได้ 

 

เฉลิมวรรณ หอทองคำ CFP®

ที่ปรึกษาภาษีและวางแผนการเงินอิสระ

 

อ่านบทความอื่นๆ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อได้ที่ คลิก >> https://setga.page.link/MLK2eRhZYhBZgCUL7

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0