โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รู้จัก “Perpetual Bond (หุ้นกู้ไม่มีอายุ)” กันอีกครั้ง

Wealthy Thai

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 03.48 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 03.48 น. • wealthythai
รู้จัก “Perpetual Bond (หุ้นกู้ไม่มีอายุ)” กันอีกครั้ง

ช่วงนี้ ‘คอตราสารหนี้’ คงต้องจับตาโอกาสการลงทุนที่นานๆ ที่จะมีหลุดมากระจายขายถึงกลุ่ม ‘นักลงทุนทั่วไป’

           

หลังจาก 4 บริษัทชั้นนำ (IVL, BCP, BGRIM และ TU) จ่อระดมเงินผ่านการออกตราสารหนี้ประเภท “Perpetual Bond (หุ้นกู้ไม่มีอายุ)” มูลค่ารวมกันประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 19 นี้ ดอกเบี้ยก็พร้อมใจกันเคาะที่ 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก เชื่อว่าน่าจะดึงดูดนักลงทุนที่สนใจได้ไม่มากก็น้อยเพราะถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

           

แต่สำคัญสุด ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม ความทำความเข้าใจในสิ่งนั้นสักนิด แน่นอนว่าทีมงาน 'Wealthythai’ ไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย

 

“แหล่งเงิน” ขยายการลงทุนขนาดใหญ่…ของบริษัท ‘Big Name’

 

จากข้อมูลของ “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)” ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาสที่3/19 มีมูลค่าคงค้างของ ‘Perpetual Bond’ ทั้งสิ้น 72,008 ล้านบาท จาก 7 ‘บริษัท Big Name’ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะยาวทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นของ ‘กลุ่ม CP’ ประมาณ 49% ของมูลค่าคงค้าง ‘Perpetual Bond’ ทั้งหมด

           

จะเห็นว่าบริษัทที่จะออก ‘Perpetual Bond’ นั้น ไม่ใช่บริษัทไหนก็จะออกกันได้ แต่ต้องเป็นบริษัทชั้นนำที่คนโดยทั่วไปต่างก็รู้จัก เพราะตราสารหนี้ประเภทนี้จะไถ่ถอนคืนเมื่อ ‘เลิกกิจการ’ หรือ ‘เจ๊ง’ นั่นเอง ดังนั้นถ้าบริษัทชื่อชั้นไม่ดังจริง ก็ออกยาก เพราะถ้านักลงทุนคิดว่าจะ ‘เจ๊ง’ ก็คงไม่ซื้อเช่นกัน

 

          

           

 

“ส่วนใหญ่บริษัทชั้นนำเหล่านี้จะเลือกออก ‘Perpetual Bond’ เมื่อมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องใช้เงินมากๆ แล้วไม่ต้องการที่จะกู้เงินเพราะอาจจะทำให้สัดส่วน ‘หนี้สิน’ ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้ ‘สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)’ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย หรือหากจะระดมทุนด้วยการ ‘เพิ่มทุน’ ขายผู้ถือหุ้นเดิมก็อาจทำได้ยากและจำกัดวงขายไว้แค่เฉพาะกลุ่ม ‘ผู้ถือหุ้นเดิม’ เท่านั้น ในขณะที่การออก Perpetual Bond นั้นสามารถขายให้นักลงทุนทั่วไปได้ด้วย”

 

           
บริษัท Big Name เหล่านี้จึงเลือกที่จะออก ‘Perpetual Bond’ แทน เนื่องจากตาม ‘มาตรฐานบัญชีปัจจุบัน’ สามารถนับเป็น ‘ทุน (equity)’ ได้ จึงเป็นประโยชน์ในการระดมทุนสำหรับบริษัทโดยไม่เพิ่ม D/E แต่ประการใด และยังช่วยทำให้ D/E ลดลงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย ย้อนอดีตไปเมื่อครั้ง CPALL ซื้อ MAKRO ก็ระดมทุนผ่าน ‘Perpetual Bond’ เช่นเดียวกัน

 

 

ทำความรู้จัก ‘Perpetual Bond’ กันอีกครั้ง

           

 

‘Perpetual Bond’ หรือ ‘หุ้นกู้ไม่มีอายุ’ นั้น เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะก่ำกึ่งระหว่าง ‘ตราสารหนี้’ และ ‘ตราสารทุน’ ซึ่งโดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะไถ่ถอนเงินต้นเมื่อบริษัทเลิกกิจการ โดยมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

 

  • ‘การไม่มีอายุ’ หรือ ‘ไม่กำหนดวันไถ่ถอน’ ผู้ลงทุนมีสิทธิได้ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ คล้ายๆ กับผู้ลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้เงินปันผลตราบใดที่บริษัทนั้นๆ ยังไม่เลิกกิจการไป ถ้าต้องการได้เงินก่อนครบกำหนดไถ่ถอนก็ต้องไปขายใน ‘ตลาดรอง’ เท่านั้น ซึ่งราคาขายที่ได้อาจจะ ‘สูงกว่า’ หรือ ‘ต่ำกว่า’ ต้นทุนที่ซื้อมาก็ได้

  • ‘เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ’ หากบริษัทที่ออก ‘ล้มละลาย’ นักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนหลังเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ ซึ่งอาจได้รับชำระหนี้คืน‘เต็มจำนวน’ หรือ‘บางส่วน’ ตามจำนวนเงินที่เหลือจากการชำระเจ้าหนี้ลำดับก่อนหน้า

  • ‘เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้’ ผู้ออกสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้โดยไม่มีเงื่อนไขแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรก็ตาม แต่เมื่อเลื่อนก็จะทบดอกเบี้ยเอาไว้ให้ด้วย ที่สำคัญถ้าบริษัทเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยออกไป ในระหว่างนั้นก็ไม่สามารถจ่ายปันผลกับผู้ถือหุ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘เงิน’ หรือ ‘หุ้นปันผล’ ก็ตาม ดังนั้นนักลงทุนต้องเตรียมการรองรับไว้ด้วยว่าอาจจะไม่ได้รับกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยทุกงวดเหมือนการลงทุนในหุ้นกู้ปกติ

 

 

“อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงผู้ออกก็คงไม่เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยตามอำเภอใจโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจากการงดจ่ายปันผล และมีผลต่อการขายหุ้นกู้ของบริษัทในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนจะมองว่าการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยเป็นการแสดงว่าบริษัทมีปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ และจากข้อมูลของ ThaiBMA ที่ผ่านมา ‘Perpetual Bond’ ที่มีอยู่ในตลาด ยังไม่มีรุ่นใดที่ผู้ออกมีการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย”

 

 

  • ‘มี Call Option’ คือ บริษัทผู้ออกมีสิทธิเรียก ‘ไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด’ โดยมักจะกำหนดให้เริ่มใช้สิทธิไถ่ถอนได้ตั้งแต่ปีที่ 5 ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกยังนับเป็น‘ทุน’ ได้ หลังจาก 5 ปีก็จะกลายเป็น ‘หนี้’ บริษัทที่ออกส่วนใหญ่ก็จะเลือกไถ่ถอนเมื่อครบ 5 ปี หากไม่สามารถนับเป็นทุนได้แล้ว หรือหากดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้นลดลงจากวันออก บริษัทก็อาจไถ่ถอนแล้วออกรุ่นใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงได้

 

 

“ดังนั้นหากมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด นักลงทุนก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราตามที่คาดหวังอีกต่อไป และเงินที่ได้รับจากไถ่ถอนเมื่อนำไปลงทุนต่ออย่างอื่นก็อาจได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง ในทางตรงข้าม หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ออกก็อาจเลือกที่จะไม่ไถ่ถอนก่อนกำหนด ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนก็หวังว่าบริษัทจะมีการไถ่ถอนในช่วง 5 ปีนั่นเอง”

 

 

  • ‘อันดับเครดิตของ Perpetual Bond’ โดยทั่วไปจะต่ำกว่าอันดับเครดิตบริษัทที่ออกอยู่ ‘2 ระดับ’ เช่น บริษัทมีเครดิตเรทติ้ง A ก็จะออก ‘Perpetual Bond’ มีเรทติ้ง BBB+ จากการมีสถานะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นผลให้ Perpetual Bond จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ปกตินั่นเอง เรียกว่าถ้าบริษัทออกหุ้นกู้โดยใช้เรทติ้งบริษัทก็จะออกได้ในต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า แต่ก็จะนับเป็น ‘ทุน’ ไม่ได้นั่นเอง

 

 

“Perpetual Bond จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนสูงที่ต้องการกระจายทางเลือกในการลงทุน หรือนักลงทุนเงินเย็นที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการรับเงินต้นคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยควรทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขพิเศษของ ‘Perpetual bond’ เพื่อประเมินความเสี่ยงของหุ้นกู้และระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ก่อนตัดสินใจลงทุน”

 

 

ทั้งนี้ในปี 2020 จะมีเรื่องของ ‘มาตรฐานบัญชีใหม่’ เข้ามา ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะยังนับ ‘Perpetual Bond’ ให้เป็น ‘ทุน’ ทางบัญชีเหมือนเดิมหรือไม่? ตรงนั้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้หลายบริษัทเลือกออกขายกันในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนทำความเข้าใจในลักษณะของ ‘ผลตอบแทน’ และ ‘ความเสี่ยง’ และยอมรับได้ ‘Perpetual Bond’ ก็เป็นอีกทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0