โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “สิวทารก” เพราะเด็กน้อยตัวจิ๋วก็มีสิวได้

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 04.00 น. • Motherhood.co.th Blog
รู้จัก “สิวทารก” เพราะเด็กน้อยตัวจิ๋วก็มีสิวได้

รู้จัก "สิวทารก" เพราะเด็กน้อยตัวจิ๋วก็มีสิวได้

หลังจากทารกน้อยคลอดและกลับมาอยู่บ้านแล้ว ผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพบว่าลูกมีตุ่มๆเล็กๆขึ้นตามใบหน้า คล้ายว่าจะเป็น "สิวทารก" อย่างไรอย่างนั้น และคงรู้สึกกังวลว่าเป็นปัญหาผิวหนังหรือเปล่า ตุ่มพวกนี้เกิดจากอะไร จะส่งผลเสียกับลูกหรือไม่ มาติดตามกันค่ะว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

สิวบนผิวของทารกแรกเกิด

สิวทารกแรกเกิด โดยมากจะเริ่มปรากฎขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 2-6 สัปดาห์ และช่วงอายุระหว่าง 3-6 เดือน ซึ่งสิวเหล่านี้จะหายไปเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2 ปี ขึ้นไป และลักษณะของการเกิดสิวก็จะแตกต่างกันไปในทารกแต่ละคน ซึ่งทำให้ต้องใช้วิธีการรักษาสิวที่แตกต่างกันตามไปด้วย

ทารกเริ่มมีสิวได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน
ทารกเริ่มมีสิวได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน

ลักษณะของสิวทารก

สิวของทารกแรกเกิดจะมีลักษณะเป็นตุ่มหนองสีชมพูหรือสีแดงบริเวณใบหน้า แต่สิวประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดการอุดตัน และไม่ได้ทำให้เกิดแผลเป็นหรือหลุมสิวแต่อย่างใด ในบางครั้งก็จะมีลักษณะเป็นตุ่มหนองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก แก้ม และคาง ซึ่งสิวในทารกมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ

  • สิวในทารกแรกเกิด (Neonatal acne) มีลักษณะเป็นสิวเม็ดเล็กๆ และอาจเป็นตุ่มหนอง (Pustules) ร่วมด้วย พบบ่อยที่บริเวณหน้าผาก จมูก และแก้ม โดยพบได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกเกิด และพบได้ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
  • สิวในทารกอายุ 3-6 เดือน (Infantile acne) มีลักษณะเหมือนสิวของวัยรุ่น โดยเป็นสิวอุดตันทั้งแบบสิวหัวเปิดและสิวหัวปิด มีตุ่มหนอง (Pustules) มักจะมีการอักเสบ (Inflammatory papules) มากกว่า มีอาการรุนแรงกว่าสิวในทารกแรกเกิด หรือบางครั้งอาจเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ได้ อาจเริ่มมีอาการตอนทารกอายุ 2-3 เดือนหรือเป็นสิวที่ขึ้นต่อเนื่องมาจากช่วงแรกเกิดและไม่หายก็ได้

ทำไมทารกถึงเป็นสิวได้

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการเป็นสิวจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เท่านั้น พอเห็นว่าทารกแรกเกิดมีตุ่มเล็กๆแบบสิวผดก็สร้างความสงสัยว่าทารกจะมีสิวได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวในทารก แต่มีการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าสิวในทารกอาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ของแม่อาจทำให้เกิดสิว เพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนแอนโดรเจนระหว่างช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจไปกระตุ้นต่อมไขมันในร่างกายของทารกให้ทำงานมากกว่าปกติจนเกิดสิว ทำให้ลูกน้อยเป็นสิวในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด เมื่อระดับฮอร์โมนดังกล่าวลดลง สิวก็จะหาย และผิวของลูกก็จะกลับมาเป็นปกติ

2. การใช้ยาบางประเภท

การใช้ยาบางประเภทของแม่อาจกระตุ้นการเกิดสิวในทารกผ่านการให้นมแม่ โดยสารออกฤทธิ์ในตัวยาอาจเข้าสู่ร่างกายของลูกผ่านน้ำนมแม่และทำให้เกิดสิว

3. การแพ้สารบางอย่าง

อาจเกิดจากการที่ทารกแพ้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิด หรือการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อันตรายบางอย่าง เช่น มิเนอรัลออยล์ อาจไปอุดตันรูขุมขนของลูก ทำให้เกิดสิวที่แก้มและใบหน้า

นอกจากนี้สิวบนผิวทารกอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม และยังมีการศึกษาที่พบว่าสิวในทารกแรกเกิดอาจเป็นปฏิกิริยาการอักเสบที่ทารกมีการตอบสนองต่อเชื้อรา Malassezia spp. อีกด้วย

ปกติแล้วสิวของทารกแรกเกิดจะค่อยๆหายไปเองแต่อาจใช้เวลานานสักเล็กน้อย

สาเหตุที่ทารกเป็นสิวมีหลายอย่าง แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้
สาเหตุที่ทารกเป็นสิวมีหลายอย่าง แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้

หากลูกเป็นสิวทารกควรทำอย่างไร

1. หลีกเลี่ยงการเกา 

สิวบนผิวหนังของลูกจะต่างจากสิวในผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น การรักษาสิวในทารก คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่แกะหรือเกาสิวบนใบหน้าของลูกน้อยอย่างเด็ดขาด และต้องสวมถุงมือให้ลูกน้อยเพื่อป้องกันการเกาผื่นหรือสิวที่อาจทำให้อาการยิ่งแย่ลงและติดเชื้อทางผิวหนัง

2. ปรึกษาแพทย์

ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาใดๆ เช่น Benzoyl peroxide หรือ Erythromycin gel ที่เหมาะสมสำหรับสิวที่มีการอักเสบ หรือยาฆ่าเชื้อรา (Salicylic Acid) ถ้าแพทย์สั่งให้ใช้ยาได้ ให้ทายาลงผิวทารกโดยใช้คอตตอนบัดนุ่มๆ ทั้งในช่วงเช้า​และเย็น​ ทาทิ้ง​ไว้​ 5-10 นาที​แล้ว​จึง​ล้าง​ออก​

ในทารกรายที่มีอาการรุนแรงมากแพทย์อาจสั่งให้ใช้กลุ่มยากินคือ Erythromycin และ Trimethoprim หรือ Isotretinoin แต่จะไม่ให้ใช้ Tetracycline เพราะยาตัวนี้จะทำให้ฟันแท้ของเด็กเหลืองถาวร

3. รักษาความสะอาดให้ใบหน้าของลูกเสมอ

ล้างหน้าลูกด้วยสบู่อ่อนๆที่ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง หากรูขุมขนอุดตันจะยิ่งกระตุ้นการเกิดสิว สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ผิวของเด็กแรกเกิดยังอ่อนบางมาก จึงควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดหน้าลูกอย่างเบามือเพื่อทำความสะอาดสิวบนใบหน้า

4. ดูแลผิวลูกให้แห้งเสมอ

อย่าให้ใบหน้าลูกเปียกชื้นนานๆ ให้ใช้ผ้านุ่มๆเช็ดหน้าลูกทันทีที่ลูกพ่นน้ำลาย เพราะความเปียกชื้นจะทำใหเกิดอาการคัน และลูกจะยิ่งหงุดหงิดรำคาญ และควรเลือกใช้ผ้าเช็ดตัวที่มีขนอ่อนนุ่ม ไม่ระคายเคืองผิวทารก

5. ซักผ้าให้ลูกเป็นประจำ

ซักผ้าลูกเป็นประจำเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่มาสู่ผิวลูก ซักเสื้อผ้าและผ้าขนหนูใหม่ของลูกก่อนใช้ทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวของทารกเช่นกัน

อย่าทำความสะอาดจนเกินพอดี เพราะสิวทารกไม่ได้เกิดจากความสกปรก
อย่าทำความสะอาดจนเกินพอดี เพราะสิวทารกไม่ได้เกิดจากความสกปรก

สิ่งที่ไม่ควรทำกับสิวของลูก

  • ไม่ควรซื้อยารักษาสิวมาใช้กับทารกด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้
  • ไม่ควรใช้เบบี้ออยล์ทาสิว
  • พยายามอย่าเช็ดถูหรือทำความสะอาดมากกว่าปกติ เพราะสิวเด็กไม่ได้เกิดจากสิ่งสกปรก

หากลูกโตแล้วยังไม่หาย?

โดยทั่วไปสิวในทารกจะหายไปได้เองเมื่อทารกอายุมากกว่า 6 เดือน เพราะในวัยนี้ทารกจะมีขนาดของต่อมไขมันที่เล็กลง สิวจึงค่อยๆลดลงไป หากสิวที่เป็นมีสาเหตุเกิดจากฮอร์โมนในร่างกาย และเมื่อลูกโตขึ้นถึง 3-4 ขวบแล้วอาการสิวก็ยังไม่ดีขึ้นหรือยังมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราะการทำงานของฮอร์โมนอาจเกิดความผิดปกติ ทั้งนี้ ทารกที่เป็นสิวอาจมีโอกาสจะเป็นสิวในวัยรุ่นสูงกว่าปกติได้

สิ่งที่คุณแม่ช่วยป้องกันได้ระหว่างให้นมลูก

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในช่วงให้นม

ระหว่างให้นมลูก คุณแม่ควรระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงอาหารมันๆหรืออาหารฟาส์ทฟู้ด เพราะจะทำให้สิวในทารกแย่ลง ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับถ่ายสารพิษในร่างกาย และเพื่อให้ลูกน้อยได้รับนมแม่ที่สะอาด กินผักและผลไม้สดๆ เพื่อให้ผิวของลูกน้อยเปล่งปลั่งสดใส

  • แจ้งรายการยาที่ใช้ให้แพทย์ทราบ

การใช้ยาบางอย่างของคุณแม่อาจกระตุ้นการเกิดสิวของลูกน้อยโดยส่งผ่านน้ำนมแม่ได้ จึงควรแจ้งรายการยาทุกอย่างที่คุณแม่ใช้ระหว่างให้นมลูก หากมียาตัวไหนที่กระตุ้นการแพ้ในทารก แพทย์จะได้รีบเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นให้แทน

เรื่องสิวของทารกไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนะคะ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถหายเองได้ภายในเวลาไม่นานมาก เพียงแต่ต้องดูแลความสะอาดให้ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวทารกจริงๆ ก็จะเป็นการช่วยลดปัจจัยของสิวได้อีกทางค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0