โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รู้จัก “ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง” ปิดกิจการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ไม่ใช่ “ซันโย” ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า

TODAY

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 11.16 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 11.16 น. • Workpoint News
รู้จัก “ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง” ปิดกิจการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ไม่ใช่ “ซันโย” ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า

กรณีบริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน วันที่ 31 ส.ค.นี้ ทำเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแท้จริงคือบริษัทผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ พบข้อมูลขาดทุนสะสมต่อเนื่อง 4 ปี ส่วนซันโย ที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายกิจการให้กับ Haier  เมื่อปี 2550 ปัจจุบันไม่มีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ SANYO (สีแดง)​ มาหลายปีแล้ว 

จากกรณี เพจ "เครือสหพัฒน์-แหลมฉบัง" โพสต์รูปภาพ บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศ ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยได้ระบุข้อความในประกาศว่า"เรียนพนักงานทุกท่าน บริษัทมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างพนักงานทุกคน เหตุผลของการเลิกจ้างครั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ประสบภาวะขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานาน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2562 เป็นต้นไป"

จนกระทั่งได้สร้างความเข้าใจผิดว่า เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายดังจากประเทศญี่ปุ่น ปิดกิจการ เตรียมเลิกจ้างพนักงาน เพราะพิษเศรษฐกิจ และขาดทุนสะสม

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค.62 เพจ "Reporter Journey ตามติดชีวิตนักข่าว" ได้นำกรณีดังกล่าวมาพูดถึง และอธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า บริษัทที่จะปิดตัวลงนี้ คือ บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทประกอบกิจการ ผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ และซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ

ส่วนบริษัท​ ซันโย (ไทยแลนด์)​ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มพานาโซนิค (ซันโย อิเล็กทริก ประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งได้หยุดทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560

หลังจากขายกิจการให้กับ Haier บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากประเทศจีนในปี 2550 ซึ่งไฮเออร์ซื้อกิจการโรงงานของบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พร้อมตั้งบริษัทขายของตัวเอง คือ บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานไฮเออร์ในประเทศไทยตั้งอยู่ที่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โรงงานแห่งนี้ผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศและตู้แช่ ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ยังมีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง เป็นต้น

ดังนั้น ปัจจุบันไม่มีสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ SANYO (สีแดง)​ มาหลายปีแล้ว

ขณะที่ข้อมูลนิติบุคคลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังจะปิดกิจการในวันที่ 31 ส.ค.2562 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ทุนปัจจุบัน 24,600,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่  789/196 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แจ้งจดทะเบียน หมวดธุรกิจ การผลิตเครื่องจักรสำหรับงานโลหะกรรม

เพื่อประกอบกิจการ ผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ และซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ

มีคณะกรรมการบริษัทเป็นชาวญี่ปุ่น 5 คน

ส่วนผลประกอบการย้อนหลัง พบว่ามีดังนี้

ปี 2558 รายได้ 6 ล้านบาท ขาดทุน 13.8 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 8.3 ล้านบาท ขาดทุน 28.8 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 38.3 ล้านบาท ขาดทุน 11.2 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 18.2 ล้านบาท ขาดทุน 15.7 ล้านบาท

โลโก้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าซันโย ของบริษัท ซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเล็คทริค จำกัด

ส่วนบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเล็คทริค จำกัด (โลโก้สีแดง) ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2502 ทุนจดทะเบียน 110,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 19 ซอยอุดมสุข (103) ถนนสุขุมวิท หนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

แจ้งจดทะเบียน หมวดธุรกิจ การผลิตเครื่องทำความเย็น

เพื่อประกอบกิจการ ตั้งโรงงานผลิต จำหน่าย และซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น

มีคณะกรรมการบริษัทเป็นชาวไทย 8 คน และชาวญี่ปุ่น 8 คน รวม 16 คน

สถานะปัจจุบัน ได้แปรสภาพเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พร้อมตั้งบริษัทขายของตัวเอง คือ บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทในเครือ “ซันโย” และบริษัทที่จดทะเบียนมีชื่อคล้ายกัน มีจำนวน 28 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทประกอบกิจการที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งยังดำเนินกิจการอยู่ แปรสภาพ และเป็นบริษัทร้างไปแล้ว

 

 

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, Reporter Journey ตามติดชีวิตนักข่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0