โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รู้จัก เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ตัวแทน ส.ส. หญิงที่เกือบได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

THE STANDARD

อัพเดต 26 พ.ค. 2562 เวลา 09.31 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 09.29 น. • thestandard.co
รู้จัก เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ตัวแทน ส.ส. หญิงที่เกือบได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
รู้จัก เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ตัวแทน ส.ส. หญิงที่เกือบได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยมา 87 ปี เคยมีผู้หญิงทำหน้าที่ควบคุมการประชุมสภาฯ เพียงคนเดียวคือ ลลิตา ฤกษ์สำราญ เมื่อปี 2548 ในตำแหน่งรองประธานผู้แทนราษฎรคนที่ 2

 

ตำแหน่งสำคัญในการเมืองไทยจึงมักอยู่ในมือของผู้ชายมาโดยตลอด โดยในวันนี้ (26 พ.ค.) ชื่อของ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นที่จับตาอีกครั้ง เมื่อเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กับ สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ

 

แม้ว่าท้ายที่สุดผลคะแนนจะปรากฏว่า สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ เฉือนชนะ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ จากพรรคอนาคตใหม่ ไปด้วยคะแนน 248 ต่อ 246 คว้าตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ไปครอง แต่เยาวลักษณ์และพรรณิการ์ วานิช ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย ส.ส. หญิงของพรรคก็ได้ร่วมกันแถลงข่าว ‘บทบาทผู้หญิงในสภา’ โดยเยาวลักษณ์ได้กล่าวขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1

 

พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าผลคะแนนในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 มีคะแนนต่างกัน 2 คะแนน แสดงให้เห็นว่าสมาชิกให้ความสำคัญกับการมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้หญิง

 

แล้ว เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ คือใคร

 

เว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ให้ประวัติของเธอว่า เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เธอเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระทั่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เธอจึงย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าศึกษาต่อในสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเริ่มงานเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพายัพ ก่อนจะมาสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจจนถึงปัจจุบัน

 

เธอมีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยร่วมกับชุมชนจำนวนมาก เช่น การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการลงพื้นที่ให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชนในภาคเหนือมากว่า 15 ปี

 

กระนั้นก็ตาม เยาวลักษณ์รู้สึกว่าการทำงานวิชาการเพียงด้านเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเห็นสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าได้มากพอ เธอจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่

 

ในช่วงเวลาว่าง เยาวลักษณ์ชื่นชอบการดื่มชาและการจัดดอกไม้ เธอยังสนใจงานออกแบบ ศิลปะ และดนตรี เยาวลักษณ์เชื่อว่าสังคมที่จะเติบโตไปข้างหน้าได้ควรเริ่มต้นจากการพัฒนาจิตใจของผู้คนให้มีความอ่อนโยนต่อกัน เมื่อมีเวลาว่างเธอมักอ่านงานเขียนแนวปรัชญาและจิตวิทยาเพื่อนำมาวิเคราะห์ผู้คน รวมทั้งนำมาฝึกปฏิบัติกับตนเอง

 

สำหรับสัดส่วน ส.ส. ผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นี้ มีผู้หญิง 78 คน จากทั้งหมด 498 คน คิดเป็น 15.8% แบ่งเป็น ส.ส. เขต 53 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 25 คน ซึ่งพรรคที่มี ส.ส. หญิงมากที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐ 22 คน

 

ภาพ: พรรคอนาคตใหม่

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0