โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รู้จัก "บิ๊กอู๊ด" ผบช.น.ป้ายแดง เจ้าของวลี "มีวันนี้ได้เพราะลูกน้อง" ลั่น ผกก.อย่าให้ พงส.โดดเดี่ยว

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 23 ต.ค. 2562 เวลา 05.27 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2562 เวลา 05.27 น.
โล่เงิน204444

“มีวันนี้ได้เพราะผู้ใต้บังคับบัญชา เขาไว้วางใจเรา เขาเชื่อและร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเราอย่างเต็มกำลังความสามารถ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง ตัดสินใจให้เขา เวลาผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบให้ การทำงานต้องอดทน อดกลั้น หากเราไม่เป็นตัวอย่าง จะสอนลูกน้องได้อย่างไร”

เจ้าของรหัส “น.1” หรือ “บิ๊กอู๊ด” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.คนที่ 50 กล่าวหนักแน่นถึงหลักการทำงานตลอดการรับราชการที่ผ่านมา

เพราะเชื่อว่าหากไม่ยึดหลักนี้ การทำงาน การปกครองกันในหน่วยงานจะทำได้ยาก ส่งผลเสียหายต่อระบบราชการและการให้บริการประชาชนด้วย

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ได้รับการแต่งตั้งตามมติที่ประชุม “บอร์ด ก.ตร.” ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. แทน พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น อดีต ผบช.น. ที่เกษียณอายุราชการ โดยพื้นที่นครบาล คือ การดูแลความสงบสุขเรียบร้อยในเขตกรุงเทพฯ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของการถวายการอารักขาพระบรมวงศานุวงศ์ การดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาจราจร

และปัญหาอื่นๆ ที่เชื่อแน่ว่าต้องเป็นบททดสอบ “น.1” คนใหม่นี้แน่นอน

เจ้าของรหัสเรียกขาน “น.1” เปิดบทสนทนาว่า เราจะทำอย่างไรให้ตำรวจช่วยกันทำงาน

“ผมโชคดีที่รอง ผบช.น., ผบก. ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมามีประวัติเติบโตมาใน บช.น.แทบทั้งหมด คนพวกนี้เป็นคนที่เข้าใจปัญหานครบาล ไม่ต้องมาเรียนรู้ใหม่ เชื่อว่าตำรวจนครบาลส่วนใหญ่เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนสำนึกในหน้าที่ มีเจตนาตั้งใจทำงานทั้งนั้น อย่างผมได้ตำแหน่งมาก็เพราะผู้บังคับบัญชาเชื่อว่าเราเข้าใจปัญหา ถามว่าหากผู้บังคับบัญชาเชื่ออย่างนั้น ก็แสดงว่าการปฏิบัติที่ผ่านมาตนต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชา หากไม่ได้รับความร่วมมือ งานก็ไม่มีทางสำเร็จ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องเชื่อใจ และรู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ก็ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่”

สำหรับนโยบายการทำงานที่มอบนั้น คงหนีไม่พ้นหน้างานหลักๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ “งานจราจร” ตำรวจจราจรต้องอำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ไม่เน้นยอดจับกุม ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ไม่ตั้งด่านในช่วงเวลาเร่งด่วน

การตั้งด่านนั้นเพื่อควบคุมอาชญากรรม จึงจำเป็นต้องตั้งด่านเพื่อป้องปราม การตั้งด่านต้องมีการส่งแผนให้ ผบก.ที่รับผิดชอบพื้นที่ เสนอให้รอง ผบช.น. (จร.) อนุมัติว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

การตั้งด่านตรวจควันดำและตรวจแอลกอฮอล์ ให้ บก.จร.เป็นคนตั้ง

ซึ่งการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ก็เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากเหตุเมาแล้วขับ

ส่วนด่านตรวจควันดำ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจอดรถกีดขวางการจราจรของรถโดยสารสาธารณะ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร

ส่วน “งานสอบสวน” นั้น เน้นการทำงานเป็นทีมของพนักงานสืบสวนสอบสวน ไม่ปล่อยให้พนักงานสอบสวนทำงานอย่างโดดเดี่ยว ผู้กำกับ หัวหน้าสถานีต้องลงมาดูแลงานสอบสวน ให้คำแนะนำ และต้องจัดพนักงานสอบสวนให้เพียงพอต่อปริมาณงาน

เพราะถือว่างานสอบสวนเป็นการอำนวยความยุติธรรมด่านแรกให้กับประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่ของเรื่องร้องเรียนตำรวจมาจากงานสอบสวน เช่น เรื่องการไม่รับคดี สอบสวนล่าช้า ล้วนเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ด้านงานสืบสวน มอบหมายให้ พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ รอง ผบช.น. กำกับดูแล โดยงานสืบสวน ต้องเป็นมืออาชีพ ใช้ยุทธวิธีในการจับกุมผู้ต้องหา การรวบรวมพยานหลักฐานต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มองข้ามอาชญากรรมพื้นฐาน ไม่ใช่สนใจเฉพาะคดีใหญ่ และเน้นเรื่องการค้าสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธปืนสงคราม อาวุธปืนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ระบบการขนส่งต่างๆ เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้ก็ใช้มาตรการ อายัด ยึดทรัพย์ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งนี้ หากพบว่าตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด

โดยผู้บังคับบัญชาเองต้องคอยสอดส่องดูแลอย่างจริงจัง

ด้านงานป้องกันและปราบปราม เป็นหัวใจหลักของคดีที่เกิดขึ้น เน้นการป้องกันความเสียหายหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นการป้องกันเป็นหลัก การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด การตรวจสอบรถต้องสงสัย ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยเวลาประชาชนแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 191 แล้วตำรวจมาหรือไม่ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องไปควบคุมดูแล เมื่อรับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบไประงับเหตุ

“การปราบปรามผู้มีอิทธิพล-มาเฟีย” กำหนดให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม ยาเสพติด รวมถึงการปล่อยเงินกู้นอกระบบ หากมีการกระทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อย่างเฉียบขาด ไม่มีข้อยกเว้น รวมไปถึง “การควบคุมดูแลสถานบริการ บ่อนการพนัน” ควบคุมให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นเรื่องของพื้นที่ดำเนินการตรวจตราจับกุมบ่อนการพนัน

หากมีการจับกุมจากนอกหน่วย ก็จะดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ส่วนนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้ความสำคัญ คือข่าวปลอมบิดเบือนข่าวสาร (เฟกนิวส์) การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ปัญหาเด็กแว้น นักเรียนตีกัน คนเร่ร่อน ซึ่งต้องไม่มีการแข่งรถในทาง เนื่องจากก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก และแสดงถึงความไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมีการรับแจ้งเหตุผ่านศูนย์ 191 สน.พื้นที่ต้องให้ความสำคัญในการเข้าระงับเหตุ ก่อนจะมีการแข่งรถในทาง รวมทั้งนโยบายเชิงรุกในการสืบสวน หาข่าว การนัดรวมกลุ่มในโซเชียล เพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุ รวมถึงการกวดขันร้านรับแต่งรถ ขายอะไหล่ต่างๆ

ด้านปัญหาคนเร่ร่อน ในภาพรวม มีกองกำกับการเด็กและสตรี (กก.ดส.) เป็นหน่วยหลักของ บช.น.ในการประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือตามกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ, ปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน ในเรื่องนี้มอบหมายให้ พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม รอง ผบช.น. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการการปฏิบัติร่วมกัน

“ให้ตำรวจนครบาลมาช่วยกันทำงาน เป้าหมายของตำรวจคือต้องทำให้ประชาชนมีความสุข ให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ถ้าสิ่งที่คิดว่าทำแล้วมันไม่ถูกต้องก็พร้อมปรับแก้ มันไม่ได้ทำเพื่อให้เราพอใจ แต่ต้องทำให้ประชาชนพอใจ”

แม่ทัพนครบาลกล่าวทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0