โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จักโรคอัลไซเมอร์ผ่านหนังที่ตัวละครอยากจำแต่กลับลืม

The MATTER

อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 12.34 น. • Rave

21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International หรือ ADI) ได้ประกาศให้เป็น วันอัลไซเมอร์โลก แม้ว่าแนวโน้มของผู้เป็นโรคนี้มีมากขึ้น เนื่องจากแทบทุกประเทศบนโลกกำลังเข้าสู่สังคมคนชราอย่างล่าช้า ซึ่งมีการประเมินว่า ในปี 2050 จะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 150 ล้านคน หากยังไม่มียาใดมารักษาหรือบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

การมีอยู่ของวันนี้ทำให้เราได้พึงระลึกถึงหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่ถูกพบได้บ่อยที่สุด ถึงอย่างนั้นจะให้เราเล่าเรื่องแบบรายงานวิชาการกันก็คงน่าเบื่อไปหน่อย เราเลยขอเล่าเรื่องอัลไซเมอร์ผ่านทางภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องไปข้องเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เพื่อให้หลายๆ ท่านได้ตระหนักถึงภัยหลากหลายแบบจากโรคอัลไซเมอร์กับอาการสมองเสื่อม ซึ่งบางท่านอาจจะเกตตั้งแต่ได้ดูหนังเหล่านี้รอบแรก แต่บางท่านอาจเพลินใจกับเนื้อหาของหนังจนเผลอข้ามประเด็นนี้ไป

ขอเตือนกันเนิ่นๆ ว่า เราสปอยล์หนังที่อยู่ในบทความนี้อยู่พอสมควร แต่เราก็คิดว่าหนังที่เรากล่าวถึงนั้น ยังดูสนุกอยู่เสมอแม้ว่าคุณจะโดนสปอยล์ไปแล้วก็เถอะ

อัลไซเมอร์ กับ สมองเสื่อม ไม่เหมือนกัน และยังไม่มีหนังเรื่องไหนเทียบให้ดูแบบจะๆ

ก่อนเราจะคุยเรื่องปัญหาต่างๆ ของโรคอัลไซเมอร์ที่ถูกนำเสนอผ่านหนัง เราขอคุยประเด็นหนึ่งที่เราหาภาพยนตร์บันเทิงมาเล่าคู่เคียงกันไม่ได้จริงๆ นั่นคือความแตกต่างกันของ โรคอัลไซเมอร์ กับ ภาวะสมองเสื่อม เพราะหลายท่านอาจเข้าใจผิดและตีความรวมไปว่า ทั้งสองสิ่งเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่หรอกนะ แต่มันก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างจริงจัง

ภาวะสมองเสื่อม คือภาวะที่ผู้มีภาวะนี้สูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน ซึ่งอาจเป็นด้านความจำที่ด้อยลง, การใช้ภาษาแปลกไป, เริ่มทำอะไรที่ซับซ้อนไม่ได้ และอาการเหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดได้สูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่นอกจากวัยที่เลยผ่านจะทำให้เกิดภาวะนี้แล้ว ยังมีเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ อาทิ โรคพาร์กินสัน, โรคลิววี่บอดี้ (Lewy Body) หรือภาวะขาดวิตามินก็ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ แถมบางทีอาการโรคซึมเศร้าที่อยู่กับผู้ป่วยโรคดังกล่าวนานๆ ก็ดูละม้ายคล้ายภาวะสมองเสื่อมด้วย

ภาพเปรียบเทียบสมองปกติ กับ สมองของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ / ภาพจาก - สยามรัฐ
ภาพเปรียบเทียบสมองปกติ กับ สมองของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ / ภาพจาก - สยามรัฐ

ภาพเปรียบเทียบสมองปกติ กับ สมองของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ภาพจาก : สยามรัฐ

ส่วนโรคอัลไซเมอร์นั้น ถือว่าเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะเนื้อสมองเสื่อม ซึ่งสาเหตุในการเกิดโรคปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนนัก แถมยังมีอาการของโรคที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ที่ชัดเจนก็คือเนื้อสมองของผู้เป็นโรคนี้ลดลงอย่างชัดเจน และยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้โดยสมบูรณ์

สรุปโดยเร็วก็คือ โรคอัลไซเมอร์ เป็นแค่สาเหตุหนึ่งในภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น แต่เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด จึงทำให้หลายๆ คน ตีรวนเอาทั้งสองเรื่องนี้จนกลายเป็นภาวะเดียวกันไปเสียสนิท เพราะฉะนั้นไม่ควรฟันธงว่าอาการหลงๆ ลืมๆ นั้นเป็นโรคอัลไซเมอร์เสียหมด และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงก่อน เพราะถ้าตีความไปผิดๆ แล้ว นอกจากคนป่วยที่ใจจะเสียเอาดื้อๆ ครอบครัวเองก็จะพาลเครียดเกินจริงไปด้วยเช่นกัน

ค่อยๆ รู้จักคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ จาก A Moment to Remember

หนังจากเกาหลีใต้เรื่องนี้ หลายคนอาจจำได้ว่าพลอตมันชวนคิดถึงโฆษณาของประภัยเจ้าหนึ่ง ส่วนอีกหลายท่านก็จะฟินกับคู่พระนางในเรื่องที่นอกจากหน้าตาแล้วก็ยังมีการแสดงที่น่าจดจำ แถมการพบรักกันเพราะน้ำอัดลมในองก์แรกของเรื่องก็ดูแล้วใจเต้นตึกตักอยู่ไม่น้อย

ภาพจาก : asianwiki.com

แต่พอเข้าช่วงท้ายเรื่องเราก็พบว่าหนังซ่อนรสชวนสะอึก เมื่อตัวนางเอกถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์กรณีที่หายาก มิหนำซ้ำอาการของโรคค่อยๆ ทำให้สมองเธอเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พระนางที่ตอนนี้แต่งงานกันแล้วก็พยายามแปะกระดาษเมมโม่เพื่อให้นางเอกสามารถจดจำได้ว่าชีวิตปกติเป็นอย่างไร แต่อาการของนางเอกก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เธอจำสามีของเธอสับสนกับแฟนเก่า ก่อนที่ครอบครัวกับคนรอบข้างของนางเอกจะพยายามให้เธอหย่าขาดกับพระเอก ซึ่งพระเอกเอกก็เกือบยอมรับมัน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ปฏิเสธ กระนั้นเมื่อนางเอกที่พอจดจำทุกเรื่องได้ในบางช่วงเวลาก็ตัดสินใจลาจากคนรักไปอยู่ยังสถานพยาบาลเพื่อไม่ให้เขาต้องลำบากในการดูแลเธอ พระเอกของเราพยายามตามหาสตรีผู้เป็นที่รักแต่ก็ไม่ได้เบาะแสใดๆ จนกระทั่งวันหนึ่งหญิงสาวส่งจดหมายมาให้ พร้อมกับเขตที่อยู่คร่าวๆ แต่นั่นทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจตามหา เพื่อฟังคำพูดว่า 'ฉันรักคุณ' จากปากของภรรยาของเขาอีกครั้ง

ว่ากันตามตรง การนำเสนอเรื่องราวของโรคอัลไซเมอร์ในหนังไม่ได้ออกมาหนักหน่วงมากนัก โดยหลักๆ จะเป็นการนำเสนอในส่วนของการสูญเสียความทรงจำไป ซึ่งฉากในช่วงท้ายๆ ของเรื่องได้แสดงถึงทักษะทางร่างกายอื่นๆ นิดหน่อยที่จะถูกโรคอัลไซเมอร์ริดรอนไป แต่อีกส่วนที่เราคิดว่าหนังคอยเตือนใจได้ดีก็คือการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนหนุ่มสาววัยไม่เกิน 30 ปี (อย่างนางเอกของเรื่อง) ก็สามารถเป็น โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (Early-onset Alzheimer's Disease หรือ EOAD) ได้เช่นกัน และอาการนั้นไม่ได้แตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์ที่พบในคนสูงวัยเลย

ภาพจาก - Amazon.com
ภาพจาก - Amazon.com

ภาพจาก : amazon.com

กระนั้นด้วยความที่หนังโฟกัสกับการเป็นหนังรักโรแมนติกมากกว่าเจาะลึกชีวิตคนไข้ จึงทำให้การนำเสนอความน่ากลัวหลายๆ อย่างของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เยอะมากนัก แต่ก็เพราะแบบนี้ล่ะ เราถึงคิดว่าหลายคนจะสามารถดูหนังได้จนจบ เริ่มรู้จัก และระแวงตัวจากภัยของโรคอัลไซเมอร์ได้ เมื่อหนังจบลง

เข้าใจคนที่เพิ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ จาก Still Alice

หากพูดถึงภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจโรคอัลไซเมอร์ หลายๆ คนก็จะพูดถึงหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ จูลีแอน มัวร์ (Julianne Moore) คว้ารางวัลดารานำแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลแทบทุกเจ้าที่เธอเข้าชิง ซึ่งใครที่ดูแล้วก็น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเทใจให้นักแสดงหญิงคนนี้ขนาดนั้น

ภาพนิ่งอาจจะดูธรรมดา แต่ในหนังที่เห็นการแสดงของฉากนี้เป็นอะไรที่เหมือนได้พบจากคนป่วยจริง / ภาพจาก - http://www.impawards.com
ภาพนิ่งอาจจะดูธรรมดา แต่ในหนังที่เห็นการแสดงของฉากนี้เป็นอะไรที่เหมือนได้พบจากคนป่วยจริง / ภาพจาก - http://www.impawards.com

ภาพนิ่งอาจดูธรรมดา แต่ในหนังที่เห็นการแสดงของฉากนี้เป็นอะไรที่เหมือนได้พบจากคนป่วยจริง ภาพจาก : impawards.com

อลิซ ฮาวแลนด์ (Alice Howland) ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ เป็นด็อกเตอร์ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่งงานกับสามีที่ดีและมีลูกๆ สามคนซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่พอดูแลตัวเองได้แล้ว จนกระทั่งเธอได้ค้นพบความผิดปกติที่เข้ามาสู่ชีวิตวัย 50 ปีของเธอ เพราะจู่ๆ เธอก็พบว่า ตัวเธอหลงลืมคำศัพท์ในระหว่างการสอน เธอหลงทางระหว่างที่วิ่งจ๊อกกิ้งในเส้นทางประจำ ก่อนจะพบว่าเธอป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial Alzheimer's Disease) อลิซ จึงเตรียมตัว เตรียมใจ พยายามเสพหาความรู้เกี่ยวกับอัลไซเมอร์ให้มากที่สุด พยายามสานสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวให้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกสาวคนเล็กที่เหมือนจะเป็นหัวขบถของบ้านมาโดยตลอด เพราะเธอรู้ว่า ในช่วงชีวิตหลังจากนี้เธอจะไม่ใช่อลิซอีกแล้ว เธอจึงพยายามทำทุกอย่างในตอนที่ตัวเธอยังคงเป็นอลิซ

คริสเตน สจ๊วต กับการเล่นเป็นลูกสาวหัวขบถของ อลิซ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแม่ลูกบ้านนี้ใกล้เคียงกันขนาดไหน / ภาพจาก - Alloy.com
คริสเตน สจ๊วต กับการเล่นเป็นลูกสาวหัวขบถของ อลิซ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแม่ลูกบ้านนี้ใกล้เคียงกันขนาดไหน / ภาพจาก - Alloy.com

คริสเท่น สจ๊วต กับการเล่นเป็นลูกสาวหัวขบถของ อลิซ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแม่ลูกบ้านนี้ใกล้เคียงกันขนาดไหน ภาพจาก : alloy.com

ด้วยทักษะการแสดงที่น่าตื่นตะลึงของ จูลีแอน มัวร์ ที่รับบท อลิซ ในเรื่อง ทำให้เราได้เห็นแง่มุมอันน่าสนใจของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นับตั้งแต่ระยะระยะเริ่มต้น ที่ผู้ป่วยเริ่มพูดจาได้น้อยลง ไปจนถึงลักษณะการแสดงแบบน้อยแต่มากอย่างการพยายามทำตัวนิ่งๆ เพื่อแสดงสีหน้าท่าทางที่แสดงการ 'ขาดตัวตน' มากขึ้นเรื่อยๆ ระดับที่นักวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และคนที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ยังต้องออกปากชื่นชม และการเดินเรื่องไปถึงมุมมืดอย่างการพยายามปฏิเสธอาการป่วยของตัวเองของ อลิซ ระดับที่วางแผนเพื่อหลอกให้ตัวเองในอนาคตทำการจบชีวิตตัวเอง เพราะตัวเธอนั้นเป็นห่วงคนข้างหลังที่ต้องมาลำบากเพราะอาการป่วยของเธอที่ไม่สามารถจดจำตัวเองได้

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นการพยายามรับมืออาการป่วยที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้คนดูหนังเรื่องนี้ทุกคนต้อง 'สะดุ้ง' แล้วมาใส่ใจกับโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น แล้วก็เป็นการแสดงอันน่าเชื่อของทีมนักแสดงนี่เองที่ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า การที่ครอบครัวได้เห็นคนหนึ่งคนถูกกลืนหายไปอย่างช้าๆ นั้น มันมีความเจ็บปวดรวดร้าวหัวใจอยู่ไม่น้อย

กระนั้นก็พอจะมีจุดที่หนังโดนติงอยู่บ้าง อย่างการที่อาการของ อลิซ ในหนังนั้นดูจะถูกย่นย่อเวลาให้เกิดขี้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าคิดในแง่มุมว่า ถ้าเราต้องดูหนังยาวเกินสามชั่วโมงเพื่อเห็นอาการอลิซหนักขึ้น มันอาจจะทำให้เราหลับก่อนได้เห็นใจอาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์แทน

ตัวหนังเลือกที่จะจบเรื่องลงในช่วงที่ อลิซ ยังพอจะมีความเป็นอลิซเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายอยู่เบาๆ แล้วนั่นเป็นประเด็นที่ทำให้เราจะต้องหยิบเอาหนังเรื่องต่อไปมาพูดคุยกัน

พบ 'เหยื่อซ่อนเร้น' ของโรคอัลไซเมอร์ จาก A Separation

สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์บันเทิงบอกเล่าเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้น้อยเกินไปคือ ภาวะของผู้ป่วยในอนาคต ที่แทบไม่เหลือความเป็นคนเดิมก่อนที่ความป่วยไข้จะมาถึงเลย เหมือนอย่างที่ ทราย เจริญปุระ ได้บอกเล่าเทียบเคียงไว้ในหนังสือของเธอว่า 'โรคที่ดูเหมือนจะไม่มีความเจ็บป่วยร้ายแรงนี้ สามารถกลืนกินผู้ป่วยเข้าไปได้ทั้งตัว และคายออกมาเป็นซากเปล่าๆ ไม่มีตัวตนเดิมของคนไข้บรรจุไว้ภายใน'

นั่นคือปลายทางที่ผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมจะต้องเป็น โรคอัลไซเมอร์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพรากคนป่วยไปจากคนที่เขารักเท่านั้น ความโหดร้ายหนึ่งที่หนังหลายเรื่องมี คือสิ่งที่ตัวผู้ป่วยเองไม่มีทางรับรู้ แต่คนที่เผชิญมันคือคนที่อยู่ด้วยกับผู้ป่วยต่างหาก ซึ่งหนังที่เล่าเรื่องราวหลังโรคอัลไซเมอร์ออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ได้เห็นภาพมากๆ กลับไม่ใช่หนังที่มีตัวเอกเป็นคนป่วยโรคอัลไซเมอร์แบบหนังสองเรื่องแรก แต่กลายเป็นว่า A Separation หนังดราม่าจากประเทศอิหร่าน ที่มีดีกรีระดับคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมต่างหากที่เล่าชีวิตภายหลังของครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นสมาชิกได้อย่างเฉียบคม

ภาพจาก - Amazon.com
ภาพจาก - Amazon.com

ภาพจาก : amazon.com

ตัวหนังเล่าเรื่องของ นาเดอร์ กับ ซิมิน คู่สามีภรรยาที่พยายามหย่าขาดจากกัน เพราะตัวภรรยาได้วีซ่าไปทำงานในประเทศอื่นซึ่งมีรายได้มากกว่า ทั้งยังสามารสร้างอนาคตที่น่าจะมั่นคงให้กับลูกสาวที่อยู่ในวัยเรียนได้ ซึ่งสวนทางกับความคิดของสามีที่ไม่อยากย้ายไปไหน เพราะเขามีพ่อที่ป่วยอยู่ เป็นหน้าที่ของลูกแบบเขาที่ต้องดูแลพ่อ แต่เมื่อศาลตัดสินว่าเหตุผลการหย่าไม่หนักแน่นพอ ซิมิน จึงกลับไปอยู่บ้านของพ่อแม่ตัวเอง ด้วยความสัมพันธ์กับพ่อสามี ซิมินจึงได้ชักชวนให้หญิงสาวอีกคนมารับจ้างเป็นคนดูแลคนป่วย แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเศร้าเหมือนก้อนหินที่กลิ้งเกลือกไปตามเนินที่สุดท้ายก็แตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะหญิงสาวที่มารับหน้าที่ดูแลคนป่วยไม่ได้ขอสามีมาทำงานตามหลักศาสนา แถมยังมีเหตุการณ์ร้ายต่อเนื่องเมื่อวันหนึ่ง นาเดอร์ กลับมาเจอพ่อของเขาถูกมัดไว้กับเตียงไร้เงาคนดูแล และเมื่อเธอกลับมาเขาก็ผลักให้หญิงคนนั้นหกล้มจนเกิดอาการแท้งตามมา และกลายเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกันต่อ เรื่อราวเลวร้ายไหลเรียงเข้ามาเหมือนก้อนหินที่กลิ้งเกลือกไปตามเนินจนก้อนหินต้องแตกเป็นเสี่ยงที่ปลายทาง เช่นเดียวกับเรื่องวุ่นวายเหล่านี้ที่ทำให้ นาเดอร์ ต้องหย่ากับ ซิมิน ในตอนท้ายของหนัง

นอกจากการนำเสนอปัญหาในประเทศอิหร่านอย่างเฉียบคมผ่านเรื่องราวแมสๆ อย่างการเลิกรากันของผัวๆ เมียๆ A Seperation ยังได้ทำการนำเสนอมุมเงียบอันแสนโหดร้ายของโรคอัลไซเมอร์ได้ดียิ่ง หนังทำให้เราเห็นตลอดทั้งเรื่องว่าพระเอกเป็น 'ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง' ไม่กล้าทิ้งพ่อให้อยู่ลำพังยามที่เขาไปทำงาน ส่วนลูกสาวของพระเอกก็ดูเหมือนไม่โอเคกับการที่พ่อของเธอต้องกระเตงปู่ที่ป่วยหนักมาให้คนในสังคมเห็น และหนังก็ไม่ใจดีพอจะสร้างปมโลกสวยว่าพระเอกร่ำรวยมากจนสามารถดูแลบุพการีได้ทั้งวันโดยไม่ต้องทำงาน เขาต้องจ้างคนมาดูแลพ่อของเขา ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เขาเสียเงินมากกว่าการใช้ชีวิตอย่างปกติด้วยซ้ำ

ภาพจาก - http://www.tasteofcinema.com/
ภาพจาก - http://www.tasteofcinema.com/

ภาพจาก : tasteofcinema.com

สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในโลกแห่งความจริง ต่างต้องดิ้นรนเพื่อดูแลทั้งตัวเองและผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่พวกเขารักยิ่ง แต่การที่ต้องดูแลต่อเนื่องนานหลายปีไม่มีวันหยุด รองรับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวตนเดิมของผู้ป่วย ก็พลันทำให้ผู้ดูแลเหล่านั้นกลายเป็น 'ผู้ป่วยซ่อนเร้น' ทั้งการป่วยในเชิงกายภาพอย่าง เกิดอาการหนื่อยล้าต่อเนื่อง, ไม่มีสมาธิ, นอนหลับไม่เพียงพอ, นอนหลับยาก เป็นสาเหตุเสี่ยงให้เกิด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และอาการการป่วยทางจิตประสาท อย่างการผู้ดูแลผู้ป่วยก็มีความสุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น หรืออาจเครียดจนทำร้ายร่างกายผู้ป่วยที่พวกเขาต้องดูแลได้ ยังไม่นับถึงปมทางสังคมที่อาจมองข้ามทั้ง ผู้ป่วยกับผู้ดูแล เพราะคิดว่านั่นเป็นเรื่องของบ้านเขา เวรกรรมของเขา บ้านอื่นไม่สามารถไปข้องเกี่ยวหรือช่วยเหลือใดๆ ได้

เราจึงได้แต่คาดหวังว่าจะมีผู้คนและหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าของประเทศใดก็ตาม มาทำความเข้าใจเรื่องราวของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น รวมถึงรับฟังคำพูดของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่หมดแรงจะร้องขอความปรานีอื่นใดเพราะแค่ดูแลคนที่พวกเขารักก็แทบจะไม่เหลือกำลังไปทำเรื่องอื่นแล้ว…เผื่อว่าสักวันหนึ่งครอบครัวที่มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกจะไม่ต้องแตกร้าวอย่างที่ครอบครัวในหนังเป็น

ก่อนทางแก้จะมาถึง 'รัก' คือพลังที่ช่วยรักษาครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จาก The Notebook

อย่าเพิ่งถอดใจจนเฉาตายเหมือนต้นไม้ที่ขาดการรดน้ำ กับประเด็นที่เรากล่าวถึงพร้อมกับหนังเรื่องตะกี้นี้ เพราะเรายังมีหนังอีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึง หนังเรื่องนั้นคือ The Notebook ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ นิโคลัส สปาร์คส์ (Nicholas Sparks) ผู้ชำนาญในการเขียนนิยายรัก ซึ่งฉบับภาพยนตร์นั้นก็มีปัจจัยความฟินอยู่ไม่เบาทีเดียว

ภาพจาก - Joblo.com
ภาพจาก - Joblo.com

ภาพจาก : joblo.com

เรื่องราวของหนังเป็นการเล่าสลับไปมาระหว่างยุคปัจจุบัน ที่ชายหนุ่มชื่อ ดุค (Duke) เล่าเรื่องราวซึ่งถูกจดในสมุดโน้ตของเขาให้กับเพื่อนร่วมบ้านพักคนชราที่มีความเป็นโรงพยาบาลขนาดย่อมฟัง เขาเล่าเรื่องของ โนอาห์ (Noah) ที่พบรักกับสาวน้อย อัลลี่ (Allie) ตั้งแต่ปี 1940 จากการเจอหน้าโดยบังเอิญในงานรื่นเริงหนุ่มสาวสองคนนี้ค่อยๆ ถูกดึงดูดจากเสน่ห์ของกันและกัน ในที่สุดพวกเขาก็ตกหลุมรักกัน แม้ว่าครอบครัวของฝ่ายหญิงจะไม่ค่อยพอใจกับการคบหากันของทั้งสองคนเพราะฐานะนั้นต่างกันอย่างยิ่ง โนอาห์พยายามทำงานอย่างหนักจนขาดการติดต่อกับอัลลี่ และถอดใจจากหญิงสาวแล้วไปสมัครเป็นทหาร ส่วนหญิงสาวก็ได้พบกับชายคนใหม่ที่แสนดี เธอเกือบตกลงใจแต่งงานด้วย จนกระทั่งเธอเห็นข่าวว่า อดีตคนรักของเธอได้ซ่อมบ้านหลังใหญ่ที่ชายหนุ่มเคยสัญญาตอนยังเยาว์วัยว่าจะใช้มันเป็นเรือนหอร่วมกันกับเธอ อัลลี่ รีบเร่งเดินทางไปบ้านหลังนั้น ตอนแรกเหมือนเธอเองก็ตัดสินใจจะแต่งงาน จนกระทั่งทั้งสองคนไปล่องเรือที่มีสายฝนกระหน่ำมาปิดท้าย และมันเป็นฝนที่จุดไฟรักให้ทั้งสองกลับมาคู่กันอีกครั้ง ก่อนสถานการณ์จะช่วยทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าก่อนหน้านี้มีบางอย่างบดบังไอรักเอาไว้ และสุดท้าย อัลลี่ ก็เลือกที่จะแต่งงานกับ โนอาห์ เมื่อ ดุค เล่าเรื่องจบลง หญิงสาวที่ฟังเรื่องราวของเขามาตลอดก็ระลึกได้ว่า แท้จริงเธอคืออัลลี่ และชายหนุ่มที่เล่าเรื่องนั้นคือ โนอาห์ รักแท้ของเธอ ทั้งสองร่วมระลึกความหลังได้อยู่ชั่วระยะหนึ่งที่อัลลี่จำความได้ก่อนที่อาการป่วยจะพรากความจำกับเธอไปอีกครั้ง จนกระทั่งคืนหนึ่งหลังจาก ดุค หรือ โนอาห์ ต้องถูกพาเขาไปพักผ่อนแยกจากภรรยาด้วยอาการหัวใจกำเริบ แต่เมื่อเขาลุกขึ้นไหว เขาก็เดินไปยังห้องของผู้หญิงที่เขารักมาชั่วชีวิต คืนนี้เธอจดจำทุกสิ่งได้ เขาจึงขอนอนข้างเธออีกครั้ง และทั้งสองก็เสียชีวิตเคียงข้างกันในเช้าวันถัดมานั่นเอง

โอเค ก่อนอื่นเลยเราต้องบอกก่อนว่าถ้าในฐานะหนังที่อธิบายตัวตนของโรคอัลไซเมอร์นั้น หนังเรื่องนี้เจอติเตียนทั้งจากญาติผู้ป่วยอัลไซเมอร์กับบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งว่าเป็นหนังที่ซึ้งแต่เล่าเรื่องอาการป่วยได้ห่างไกลจากความจริงไปหลายโยชน์ (ประเด็นที่ถกเถียงกันคือ จุดที่ว่าผู้ป่วยจนถึงระดับที่ภาวะสมองเสื่อมดำเนินไปมากแล้ว มักจะจำเรื่องอดีตได้ดีแต่จำเรื่องใหม่ๆ ได้แย่ลงเรื่อยๆ มากกว่า ไม่ใช่แบบในเรื่อง) ยังไม่นับว่าระบบการดูแลของบ้านพักคนชราในเรื่องก็ดูโม้ไปเสียหน่อย แต่คนที่บ่น และอีกหลายๆ คนก็ยอมรับว่านี่เป็นหนังรักที่ทำให้คนเริ่มใส่ใจผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น

ภาพจาก : geeks.media

สิ่งที่เราอยากยกมาพูดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่อาการป่วยแต่อย่างใด เราอยากให้คุณมองและดูแล ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม  ด้วยความรักและมีความหวัง อย่างที่ ดุค ทำกับ อัลลี่ ในเรื่อง แม้ว่าในชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์ที่คู่รักทั้งสองจะได้ความทรงจำกลับคืนมาหวานชื่นอีกครั้ง

อย่างน้อยที่สุดในตอนนี้เราก็พอจะเห็นความเป็นไปได้บ้างแล้วว่าในอนาคตอาจจะมีหนทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์ อย่างเช่นการที่ ซามูเอล โคเฮน (Samuel Cohen) กล่าวในงาน TED@BCG ว่าพวกเขาอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโปรตีนรักษาโรคอัลไซเมอร์ เมื่อปี 2015, ลีเหว่ยไซ (Li-Huei Tsai) กับคณะวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology - MIT) ได้ทำการตีพิมพ์รายงานวิจัยว่าพวกเขาสามารถรักษาหนูทดลองที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วยการใช้แสงไฟในความถี่ต่างๆ ไปแทรกคลื่นแกมมาที่ทำให้เกิดโรคทางสมองได้และพยายามพัฒนาวิธีการรักษาที่ได้ผลกับหนูทดลองมาใช้กับมนุษย์ หรือถ้าเอาอะไรง่ายๆ กว่านั้น ก็เคยมีการตีพิมพ์ในนิตยสาร Horizon อันเป็นนิตยสารวิทยาศาสตร์ของทางสหภาพยุโรปที่ตีพิมพ์ในปี 2016 ว่า โครงการ LipiDiet ที่เป็นการรวมตัวของนักวิจัยในสหภาพซึ่งทำการค้นคว้าหาสารอาหารที่ชะลอหรือรักษาภาวะสมองเสื่อม ได้เจอเครื่องดื่มตัวหนึ่งที่อาจให้ผลจริงในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ และยังมีการทดลองอื่นๆ อีกมากที่ยังรอการยืนยันว่าจะสามารถเอาใช้รักษามนุษย์ได้

แต่ถ้าปาฎิหาริย์ในการรักษายังมาไม่ถึง การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พวกเขาอย่างสุดกำลังเท่าความสามารถของท่านจะอำนวย ก็ดีกว่ายอมพ่ายแพ้และปล่อยให้โรคอัลไซเมอร์กลืนกินตัวตนของผู้ป่วยให้หายไปตลอดกาล

อ้างอิงข้อมูลจาก

สวพ. FM91

TED Talk

What's the Difference Between Alzheimer's Disease and Dementia?

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ไทยรัฐ

Emory University

The Guardian

The Conversation

National Center for Biotechnology Information

วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2557 - ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง: กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม - ผ่านทาง Thai Journal Online 

Nature.com

The Atlantic

Horizon: the EU Research & Innovation magazine

LipiDiDiet

3 วันดี 4 วันเศร้า โดย อินทิรา เจริญปุระ

Cover by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0