โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รู้จักประกาศฉบับใหม่ของสคบ. ที่จะช่วยให้คนซื้อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ผ่อนถูกลงกว่าเดิมเหรอ?

Brand Inside

อัพเดต 16 ก.ค. 2561 เวลา 12.37 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 11.09 น. • Chutinun.Liu
shutterstock_189456098
ภาพจาก shutterstock

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เริ่มใช้ประกาศคณะกรรมการฉบับใหม่เกี่ยวกับธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพื่อปรับรายละเอียดสัญญาในการผ่อนยานพาหนะต่างๆ ให้ทันยุคสมัยมากขึ้น

ภาพจาก shutterstock
ภาพจาก shutterstock

ปรับที่ 1 แสดงดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเหมือนสินเชื่อบ้าน

แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการผ่อนรถซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นคงที่ (Flat Interest rate) หรือเมื่อกู้ซื้อรถสักคันแต่ละเดือนจะต้องจ่ายเงินต้น กับดอกเบี้ยเท่าๆ กันตลอดทั้งสัญญา แต่ประกาศฉบับใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้วันที่ 1 ก.ค. 2561 จะปรับให้บริษัทเช่าซื้อแสดงอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate) เหมือนกับการผ่อนสินเชื่อที่พักอาศัย

แต่!!! ความจริงแล้วมันไม่ได้ต่างกันเลย เพราะอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบแม้ตัวเลขเปอร์เซนต์จะต่างกัน ทว่าดอกเบี้ยรวมที่เราต้องจ่ายให้แบงก์จะเท่ากันเสมอ ที่สำคัญที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ ที่ให้บริการเช่าซื้อ ต่างใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกในทางบัญชี และมีการแสดงในสัญญาเช่าซื้อให้ลูกค้าดูอยู่แล้ว แต่แค่ตอนเสนอขายให้ลูกค้า ทางธนาคารต้องการให้ลูกค้าคำนวนเงินค่างวดได้ง่ายขึ้น จึงมีการแสดงอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ให้ดูด้วย

รูปแบบการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
รูปแบบการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างเช่นดอกเบี้ยคงที่ 2.5 % วงเงิน 1 ล้านบาท X ดอกเบี้ย 2.5% = ดอกเบี้ย 25,000 บาท/ปี ถ้าผ่อน 4 ปี ดอกเบี้ยรวมจะเท่ากับ 100,000 บาท แต่ถ้านำดอกเบี้ยคงที่มาคำนวนแบบดอกเบี้ยลดต้นลดดอกก็อยู่ที่ 4.75% แต่ถ้ารวม 4 ปี ดอกเบี้ยก็จะเท่ากับ 100,000 บาทเช่นกัน ส่วนถ้าอยากลองคำนวนดอกเบี้ยทั้งสองแบบด้วยตนเองก็คลิกที่ การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก กับ การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่ ได้เลย

ทว่าถ้าเป็นแบบลดต้นลดดอก ลูกค้าต้องมาคำนวนในแต่ละเดือนว่าค่างวดที่จ่ายไป แบ่งส่วนเป็นเงินต้นเท่าไร ค่าดอกเบี้ยเท่าไร (ดอกเบี้ยแต่ละเดือนจะลดลงเพราะมีฐานคำนวนดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ลดลง) ซึ่งระยะแรกเริ่มผ่อนสัดส่วนของดอกเบี้ยจะสูงกว่าเงินต้นอยู่แล้ว (ดูรูปบน) แน่นอนว่าลูกค้าจิ้มเครื่องคิดเลขเองก็เข้าใจได้ยากกว่า แต่ด้านหลังสัญญาเช่าซื้อจะมีการแนบตารางการผ่อนให้ดูชัดเจน

ภาพจาก Shutterstock
ภาพจาก Shutterstock

ปรับที่ 2 คนค้างค่างวดเฮ ค่าปรับถูกลงเหลือไม่เกิน 15%

จากประกาศสัญญาเช่าซื้อของสคบ. ฉบับก่อนหน้า (พ.ศ. 2555) บอกว่าบริษัทที่ให้เช่าซื้อ (หรือใครที่เป็นผู้ให้เช่าซื้อ) กำหนดดอกเบี้ยค่าปรับกรณีที่คนเช่าซื้อผิดนัดชำระคือ อัตราดอกเบี้ยสําหรับลูกค้าชั้นดีรายย่อย (MINIMUM RETAIL RATE) ของธนาคารกรุงไทย บวก 10 ต่อปี (MRR + 10) ของจํานวนเงินที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระ (รวมทั้งค่างวดและค่าบริการอื่นๆ)

ประกาศใหม่คือ เบี้ยปรับจะใช้ Effective Rate เป็นตัวตั้งแล้วบวก 3% ต่อปี แต่รวมเบี้ยปรับทั้งหมดต้องไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งข้อเสียคือ ถ้าเป็นรถเก่าที่อายุ 10 ปีขึ้นไปจะต้องเจอดอกเบี้ยที่แพงกว่ารถใหม่ แต่ยังคงเกณฑ์เดิมที่ให้ลูกค้าที่ต้องการปิดบัญชี (จ่ายเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมด) บริษัทที่ทำเช่าซื้อต้องให้ส่วนลดไม่ต่ำกว่า 50% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ภาพจาก shutterstock
ภาพจาก shutterstock

สมมติว่า เราทำสัญญาผ่อนรถ 45 งวด แต่เราผ่อนได้ 10 งวด แล้วมีเงินก้อนมาจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด ดังนั้นจะเหลือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีก 35 งวด เมื่อเอามาตีมูลค่าแล้ว เราก็จ่ายดอกเบี้ยส่วนที่เหลือแค่ครึ่งเดียว (หรือน้อยกว่านั้น)

ปรับที่ 3 ก่อนยึด-ประมูลรถ ต้องแจ้งทุกฝ่าย แล้วบริษัทที่ให้เช่าซื้อกระทบไหม?

รุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสินเชื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ บอกไว้ว่า ตัวประกาศใหม่ของ สคบ. น่าจะออกมาเพื่อดูแลผู้ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งธนาคารไม่ค่อยได้รับผลกระทบเพราะทำตามเกณฑ์มาตลอด

แต่ส่วนที่จะกระทบกับเราคือ ต้องใช้เวลาและมีต้นทุนการส่งหนังสือแจ้งลูกค้าแต่ละครั้ง เช่น ลูกค้าต้องค้างชำระ 3 งวดติดต่อกัน ธนาคารถึงจะบอกเลิกสัญญาได้และเมื่อบอกเลิกสัญญาเสร็จ ธนาคารยังกลับเข้าครอบครองรถ (ยึดรถ) ไม่ได้ทันที เพราะกว่าจะส่งหนังสือแจ้งทั้งผู้ให้เช่าซื้อ และผู้ค้ำประกัน

ภาพ Shutterstock
ภาพ Shutterstock

“ว่าง่ายๆ เมื่อลูกค้าค้างชำระมา 90 วัน เรา (ธนาคาร) ก็ต้องแจ้งยกเลิกสัญญาเพื่อยึดรถมาขายทอดตลาด แต่เราต้องส่งหนังสือแจ้งลูกค้าก่อน ซึ่งวันที่ 91-120 เป็นวันที่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาเจรจากับเราได้ ถ้าไม่มาคุยไม่มาตกลงกัน ในวันที่ 121 เราถึงจะยึดรถได้ แต่พอยึดรถก็ต้องส่งหนังสือแจ้งให้ลูกค้าเข้ามาร่วมการประมูลรถที่ยึดมา และส่งให้ผู้ที่ค้ำประกันด้วย”

นอกจากนี้ ธนาคารอาจมีรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงเล็กน้อย เพราะ สคบ. ไม่ให้เราคิดค่าบริการการต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งเป็นบริการที่ไม่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ แต่ลูกค้าก็เลือกให้เราทำให้ เพราะไม่อยากเสียเวลากับการไปเอง เราคงต้องแก้ไขโดยจัดเตรียมเอกสารให้ลูกค้าไปทำเองแทน

สรุป

ประกาศใหม่ที่ออกมาควบคุมเรื่องสัญญาการเช่าซื้อรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซด์ ของสคบ. ปรับแก้ให้ ผู้ให้เช่าซื้อ (บริษัทฯ ธนาคาร ฯลฯ) ต้องส่งเอกสารแจ้งลูกค้าในแต่ละขั้นตอนมากขึ้น แสดงดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกให้ลูกค้าดู เบี้ยปรับเวลาลูกค้าค้างชำระก็ถูกลง แต่ท้ายที่สุดแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่ ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบในการก่อภาระหนี้ทุกครั้ง อ่านสัญญาก่อนเซนต์ชื่อเสมอ

ส่วนทำไม่ต้องเรียก “เช่าซื้อ” ก็เพราะว่าตอนที่เราทำสัญญาซื้อรถ  ชื่อเจ้าของรถคือธนาคารไม่ใช่เรา แต่เมื่อเราผ่อนจ่ายทั้งหมด บริษัทที่ให้เช่าซื้อ เช่น ธนาคารจะโอนให้เป็นชื่อเราต่อ เลยเหมือนกับการเช่าและซื้อ

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารทิสโก้, ราชกิจานุเบกษา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0