โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รู้ก่อนเตรียมตัวก่อน ! มรสุม "อีคอมเมิร์ซ" โตเดือด-แข่งดุ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ส.ค. 2562 เวลา 11.07 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 11.07 น.
21-1 รู้ก่อนเตรียมตัวก่อน

การค้าขายออนไลน์ในไทยยังเติบโตไม่หยุด ล่าสุดในงาน“THAILAND e-Commerce Day 2019” ได้อัพเดตเทรนด์อีคอมเมิร์ซให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้เตรียมรับมือ

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการบริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด และ Chief Government Affairs Officer สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดตัวเลขการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทย โดยระบุว่า ตลาดไทยเติบโตมากที่สุดในอาเซียนด้วยมูลค่ารวม 3.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แต่ถ้าคำนวณมูลค่าต่อประชากรไทยยังเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

ยักษ์ใหญ่ขายข้ามโลก 

ขณะที่อีก 5-10 ปีจากนี้ สัดส่วนของการค้าแบบ B2C ที่เป็นธุรกิจต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามาขายตรงถึงผู้บริโภคชาวไทย จะมีมากกว่า 50% เพิ่มจากปัจจุบันที่มีไม่ถึง 30% เนื่องจากมีระบบขนส่งที่ดีขึ้น การนำเข้าสินค้าทำได้ง่ายและไม่ต้องเสียภาษี ทั้งยังใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงได้

“80% ของสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นสินค้าจีน และอาลีบาบาก็มาลงทุนในไทยเป็นหมื่นล้านบาทเพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์และคลังสินค้า อเมซอนก็มาเปิดออฟฟิศในไทย ฉะนั้น คนทำธุรกิจต้องดูตรงนี้ให้ดี คู่แข่งจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นต่างประเทศ”

แต่ในทางกลับกัน ผู้ขายก็สามารถส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้มาก และจะทำกำไรได้มากกว่าขายแค่ในประเทศ เพราะสินค้าไทยมีความเฉพาะตัวแตกต่างจากคู่แข่ง

เลือก “โซเชียล” ให้ตรงเป้า

ส่วนการค้าขายออนไลน์ในไทย 40% มาจากโซเชียลมีเดีย 35% อีมาร์เก็ตเพลซ และ 25% จากเว็บไซต์

“ทุกวันนี้จะเห็นการสร้างธุรกิจจาก 3C คือ content community commerce แพลตฟอร์มโซเชียลจะพยายามสร้างคอมมิวนิตี้อย่าง Facebook group ที่กำลังมาแรงมาก หรือ LINE open chat ก็น่าจะเป็นช่องทางค้าขายได้” 

แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายอาทิ ช่องทางเฟซบุ๊กเป็นสากลกว่าไลน์ ส่วนไลน์แม้จะไม่เหมาะกับการใช้ติดต่อกับต่างชาติ แต่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงวัย หรือ google shopping ก็ใช้ปิดการขายได้ดีหลังจากเสิร์ช ซึ่งในต่างประเทศใช้เยอะมาก

ทั้งในการทำตลาดออนไลน์ ปัจจุบันผู้บริโภค 86% ไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร และ 92% จะเชื่อคนทั่วไปที่พูดถึงแบรนด์มากกว่า ดังนั้น การใช้ microinfluencers (บรรดาบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ที่มียอดผู้ติดตามหลักหมื่นคน) จะสื่อสารแทนแบรนด์ได้ผลดีกว่า

“ต่อไปต้นทุนในการทำอีคอมเมิร์ซจะลดลง เพราะไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานเยอะ มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย อาทิ Marketing Automation ที่มีแชตบอตคอยตอบคำถามลูกค้า”

ขณะเดียวกัน“เทคโนโลยีจดจำใบหน้า” จะมีส่วนสำคัญในการทำตลาดแบบ O2O หรือ omni channel ที่ใช้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า โดยใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อให้รู้ว่าลูกค้ามาร้านกี่ครั้ง ชอบดูสินค้าแบบไหน และนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมแบบเฉพาะตัวทางช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

นอกจากนี้ การทำระบบสมาชิก“ระบบสะสมแต้ม” ยังเป็นส่วนสำคัญในการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้นำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น

“ร้านค้าชุมชน” โดนมรสุม

ส่วนการค้าขายในประเทศจะเห็นทั้ง“สินค้าท้องถิ่น” และ “แบรนด์เนม” มาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตัวกลางที่เป็นตัวแทนจำหน่ายจะถูกลดบทบาทลงเรื่อย ๆ ด้านบรรดาอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่จะยิ่งบุกหนัก ทั้งการทำแคมเปญโปรโมชั่นและใช้พรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างการจดจำ

ขณะเดียวกัน ก็เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ บริษัทขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นและมีการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ประกอบการจากจีน

แต่ที่น่ากังวลคือ อีกไม่เกิน 5 ปีร้านชุมชนในต่างจังหวัดจะเริ่มปิดตัวลงเพราะไม่มีเงินหมุนเวียนในชุมชน แต่ไปซื้อขายบนออนไลน์แทน อย่างร้านเสื้อผ้าแฟชั่นจะไปก่อน แต่ปัญหาคือ เม็ดเงินที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในไทย แต่จะไหลกลับไปประเทศต้นทางสินค้า ฉะนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล

“กฎหมาย” ตัวฉุดสำคัญ 

ที่น่ากังวลคือ หลังจากประกาศใช้กฎหมายอีเพย์เมนต์ที่ให้ธนาคารหรือผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ต้องนำส่งข้อมูลของผู้ทำธุรกรรมที่มีการฝากหรือโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ 400 ครั้ง แต่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทให้กรมสรรพากร พบว่า ทำให้ยอดการใช้อีเพย์เมนต์ลดลง 30%

“กฎหมายนี้อาจจะมาเร็วเกินไป จะทำให้พร้อมเพย์และอีแบงกิ้งโตน้อยลง ถ้ารอให้ถึงจุดที่เป็นเหมือนจีนที่ไม่มีคนใช้เงินสดค่อยออกกฎหมายน่าจะดีกว่า แม้ว่าจะมีข้อดีคือทำให้คนไทยเข้าระบบภาษี มีรายได้จากการทำธุรกิจออนไลน์เข้าประเทศมากขึ้น เป็นธรรมกับผู้ที่เสียภาษีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็จะทำให้คนหันกลับไปใช้เงินสดเหมือนเดิม”

6 กลยุทธ์อยู่รอดในตลาด 

สำหรับธุรกิจที่จะอยู่รอดในโลกออนไลน์ 1.วางแผนสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก 2.พัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ 3.เพิ่มช่องทางการขาย โดยเฉพาะในต่างประเทศตอนนี้ตลาดที่น่าสนใจ คือ CLMV ที่เป็นตลาดใหญ่ สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ได้เปรียบกว่าสินค้าจีน ขณะที่ผู้ผลิตไทยยังไม่ค่อยออกไปต่างประเทศ ทั้งที่ปัจจุบันการขนส่งก็ดี

4.สร้างทีมในการทำโดยตรง 5.เข้าใจการนำธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ และ 6.อย่าอยู่กับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังต้องรักษาพนักงานที่มีทักษะอีคอมเมิร์ซให้อยู่กับองค์กรให้ได้ เพราะยิ่งแบรนด์เข้าสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการแย่งตัวคนที่มีความรู้ในด้านนี้ เนื่องจากยังมีผู้ที่เรียนจบด้านนี้โดยตรงน้อย

“ตอนนี้เงินเดือนของคนที่ทำงานด้านออนไลน์และอีคอมเมิร์ซเฟ้อมาก เพราะแบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ ต้องการไปออนไลน์ ทำให้เกิดการช่วงชิงคนที่มีความสามารถในด้านนี้ ฉะนั้น ถ้ามีต้องรักษาไว้ให้ดี”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0