โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"รูดปรื๊ด" ไม่รับลูกรีไฟแนนซ์ รัฐใช้ "ออมสิน" ดึงตลาดแข่ง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 02.45 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 02.30 น.
VISA, MASTER Card

ธปท.ส่อบังคับ “แบงก์-น็อนแบงก์” ทำโครงการ “รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต” ไม่ได้ วงในเผยใช้วิธีดัน “ออมสิน” นำร่องแบงก์เดียวรับรีไฟแนนซ์ข้ามธนาคาร-หวังกลไกแข่งขันกดดันแบงก์อื่นต้องรีไฟแนนซ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าตามมา “ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.” ยอมรับแบงก์บางแห่งมีรีไฟแนนซ์เองอยู่แล้ว ฟาก “เคทีซี” ยันไม่สนใจ-ไม่หวั่นเสียฐานลูกค้า ด้าน “ซีไอเอ็มบี ไทย” รับรีไฟแนนซ์ผู้มีรายได้ 3-5 หมื่นบาทขึ้นไป คิดดอกเบี้ย 11.84-13.33% ต่อปี

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้สถาบันการเงินทำโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเพื่อช่วยกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดีในรอบ 1 ปี แต่มีภาระหนี้หลายทาง ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ แต่ชำระได้แค่ขั้นต่ำ ด้วยการลดดอกเบี้ยหรือแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้เสียดอกเบี้ยลดลงเหลือ 7-12% จาก 18% นั้น ล่าสุด คงไม่สามารถบังคับให้ทุกสถาบันการเงินดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นการทั่วไปได้ คลังและ ธปท.จึงให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก

“เรื่องนี้คงไปบังคับไม่ได้ ปล่อยให้เป็นเรื่องแข่งขันการตลาด คือ ถ้าแบงก์ไหนไม่ลดดอกเบี้ยให้ ลูกค้าก็ไปใช้บริการออมสินได้ ซึ่งคาดกันว่า หลังจากนั้นแบงก์ก็จะต้องแข่งเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตัวเองเอาไว้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่แบงก์กังวลและได้เสนอ ธปท.เกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต มี 3-4 ข้อ ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าที่ควรได้รับการช่วยเหลือควรเป็นอย่างไร 2.เงื่อนไขที่ต้องดำเนินการหลังช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว เช่น สถานะการรายงานข้อมูลเครดิตบูโร 3.อัตราดอกเบี้ยที่จะคิดกับลูกหนี้ที่เหมาะสมควรเป็นระดับใด และ 4.ต้องดูว่าแบงก์มีโปรแกรมช่วยเหลือในลักษณะนี้อยู่แล้วหรือไม่ และหากทำโครงการตามนโยบาย ธปท. จะแตกต่างหรือซ้ำซ้อนกันอย่างไร

“ธปท.ก็นำข้อมูลและสิ่งที่แบงก์แสดงความกังวลไปพิจารณา เพราะแบงก์ก็กังวลเรื่องปัญหา moral hazard (จงใจผิดนัดชำระหนี้) ซึ่งจะกระทบต่อการทำธุรกิจในระยะข้างหน้าได้” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้หารือเรื่องรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตลูกหนี้ในคณะกรรมการคลินิกแก้หนี้ และตัวแทนสถาบันการเงินบางส่วน พบว่า สถาบันการเงินบางแห่งมีการรีไฟแนนซ์ช่วยลูกค้ากันเองอยู่แล้ว มีเพียงบางแห่งที่รับรีไฟแนนซ์ข้ามสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงศึกษาหาแนวทางเพื่อช่วยลูกหนี้ที่ดีให้ครบทุกกลุ่มต่อไป

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธปท.ขอข้อมูลและสอบถามความคิดเห็นจากธนาคารในเรื่องนี้แล้ว โดย ธปท.ต้องการขอความร่วมมือให้แบงก์ช่วยลดภาระลูกหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด โดย ธปท.คงทยอยสอบถามข้อมูลกับแบงก์อื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา

“แบงก์ชาติได้โทร.มาสอบถาม และขอข้อมูลความคิดเห็นจากเรา คิดว่าคงทยอยคุยกับแบงก์อื่น ๆ ด้วย เพื่อดูความเหมาะสมของโครงการหรือแนวทางการช่วยเหลือ” นายฐากรกล่าว

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อยและยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารมีโครงการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบุคคล สำหรับลูกหนี้ที่มีวินัยการเงินที่ดี ประวัติชำระดีอยู่แล้ว โดยลูกค้าสามารถใช้สินเชื่อบุคคลในโครงการนี้ไปปิดหนี้แห่งอื่นได้ คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.84-13.33% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าลูกค้าจะต้องมีเครดิตดี มีรายได้ขั้นต่ำ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยังไม่มีการทำเรื่องรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต จึงยังไม่มีข้อมูล แต่หากดูภาพรวมสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล ขณะนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างดี

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย กล่าวว่า เคทีซีไม่สนใจทำโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เพราะปัจจุบันมีบางธนาคารที่ทำอยู่แล้ว และเชื่อว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบ ในแง่ที่ว่าลูกค้าจะหันไปใช้บริการที่อื่น

นายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโครงการรีไฟแนนซ์บัตรดี สำหรับลูกหนี้ที่มีวินัย แต่เริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระ โดยลูกหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลกับสถาบันการเงินใดก็ตาม ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ผ่อนชำระนาน 4 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8.5-10.5% ต่อปี

“ถือว่าช่วยลดภาระในการผ่อนชำระได้มาก เช่น ลูกค้ามีหนี้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% เฉลี่ยผ่อน 1 หมื่นบาทต่อเดือน หากมารีไฟแนนซ์จะเหลือผ่อนเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน ก็จะมีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0