โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

[รีวิว] Toy Story 4: ซึมน้อยหน่อย สนุกมากหน่อย

Beartai.com

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 10.35 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 10.34 น.
[รีวิว] Toy Story 4: ซึมน้อยหน่อย  สนุกมากหน่อย
[รีวิว] Toy Story 4: ซึมน้อยหน่อย สนุกมากหน่อย

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ

เรื่องราวการผจญภัยครั้งใหม่ของ วู้ดดี้ ที่เริ่มต้นชีวิตในบ้านของเจ้าของคนใหม่ คือ บอนนี่ ซึ่งเธอได้ใช้ช้อนกึ่งส้อม ประดิษฐ์ออกมาเป็นของเล่นใหม่ที่ตั้งชื่อว่า ฟอร์คกี้ แต่เจ้าฟอร์คกี้ รู้ว่าแท้จริงเขาไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นขยะ จึงอยากกลับไปสู่ชีวิตที่แท้จริง เดือดร้อนถึงวู้ดดี้ต้องตามกลับมา กลายเป็นการผจญภัยของเหล่าของเล่นครั้งใหม่ รวมถึงการกลับมาของ โบ ของเล่นหวานใจของวู้ดดี้ที่เธอกลับมาในมาดใหม่เป็นสาวสุดแกร่งด้วย

การกลับมาครั้งที่ 4 ของแก๊งของเล่น หลังจากผ่านไปเกือบครบ 10 ปี จนนึกว่าจะจบลงในภาคที่แล้วตามแบบฉบับหนังไตรภาคเสียอีก แต่แล้วพิกซาร์ก็มีไอเดียคืนชีพเหล่าตัวละครแสนรักกลับมาหาแฟน ๆ ของพวกเขาอีกครั้ง พร้อมกับประกาศว่านี่จะเป็นภาคส่งท้ายของแฟรนไชส์นี้แล้ว (จริงมั้ยไม่รู้) โดยรอบนี้ได้ผู้กำกับหน้าใหม่แต่ไม่ละอ่อนอย่าง จอช คูลีย์ ที่เคยเขียนให้หนังรางวัลน้ำดีอย่าง Inside Out (2015) มาก่อน และยังได้ลองมือกำกับหนังสั้นภาคย่อยอย่าง Riley’s First Date? (2015) ด้วย จนตอนนี้คงอิ่มพร้อมทั้งฝีมือการเล่าเรื่องและบารมีที่จะก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจากผู้กำกับภาคแรกและ 2 อย่าง จอห์น แลสเซตเตอร์ ที่ต้องถอนตัวไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากภาระหน้าที่ในงานบริหารค่าย

จริง ๆ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Toy Story ได้ออกจากอ้อมอกของแลสเซตเตอร์ เพราะในภาคที่ 3 เมื่อปี 2010 ก็ถ่ายมือมาสู่ ลี อุนคริช ผู้กำกับที่เคยร่วมกำกับกับแลสเซตเตอร์ในภาคที่ 2 ทั้งยังสร้างบารมีด้วยการกำกับร่วมในหนังอย่าง Monsters, Inc. (2001) และ Finding Nemo (2003) มาก่อน ทั้งในภาค 3 ตัวแลสเซตเตอร์ยังช่วยดูบทหนังให้อยู่ด้วย เมื่อเทียบกันงานภาค 4 ของคูลีย์จึงเป็นงานที่ยากและท้าทายกว่า ตรงที่ไม่มีพ่อผู้ให้กำเนิดดูแลเกี่ยวข้องอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามแฟน ๆ ไม่ต้องตกใจไปว่าจะเป็นหนัง Toy Story ที่เราไม่รู้จัก เพราะตัวหนังยังคงได้ แอนดรูว์ สแตนตัน ที่ร่วมเขียนบทตั้งแต่ภาคแรกมาช่วยเขียนบทให้เช่นเคย ทั้งยังได้ผู้เกี่ยวข้องกับหนังชุดนี้เข้ามาช่วยกันหลายต่อหลายคนทีเดียว แม้จะมีข่าวไม่สู้ดีว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 4 ของพิกซาร์ที่มีการเปลี่ยนทั้งผู้กำกับและมีการเขียนบทใหม่ ซึ่งไอ้ 3 เรื่องก่อนหน้า ก็แป้กไปเสีย 2 เรื่องแล้วด้วย (ฺBrave กับ The Good Dinosaur)

แต่กับ Toy Story 4 ที่เป็นเหมือนหนังลูกรักลูกหม้อของค่าย จึงไม่ใช่แนวที่จะต้องมาทดลองหรือพิสูจน์ตัวเองใหม่อะไรอีก และมันก็เติมเต็มในส่วนความคาดหวังของผู้ชมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยศักยภาพของงานโปรดักชั่นที่สูงขึ้นอย่างน่าประทับใจ เพียงฉากเปิดเรื่องที่เกิดขึ้นท่ามกลางหยาดฝน และแสงไฟอันเงียบเหงาตัดกับสีอบอุ่น ภาพชัดตื้นที่ชวนฝัน และมุมภาพการเคลื่อนไหวที่จัดเจนมาจากผู้ชำนาญการแอนิเมชั่นเบอร์ต้นของโลก ก้เป้นประสบการณ์การรับชมหนังที่อิ่มตาตั้งแต่ต้น และการใช้งานภาพอันสวยหยดเยิ้มนี้ก็ผสานเข้ากับแนวหนังบันเทิงได้อย่างลงตัว เราจะไม่รู้สึกว่าความศิลป์ของหนังมาคอยขัดขวางความลื่นไหลของความสนุก และเมื่อมองภาพแบบพินิจคราใดก็พบแต่ความงามบรรเจิดอยู่ร่ำไป นี่คงต้องชมไปถึงภาคดนตรีประกอบที่ทำได้อย่างละมุนกลมกล่อมไปกับเรื่องราวได้อย่างดีด้วย

สำหรับเนื้อเรื่อง ส่วนตัวมองว่าเป็นข้อด้อยสักหน่อย ตรงที่มีการประกาศว่าจะเป็นภาคสุดท้ายของแฟรนไชส์ชุดนี้แล้ว นั่นก็เพราะความประทับใจในภาคที่ 3 ที่ตอนนั้นเราเข้าใจว่าจะเป็นบทสรุปอันสุดยอดของเหล่าของเล่นเพื่อนซี้ ได้สร้างบรรทัดฐานสูงล้นขึ้นมาในใจเราแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงน้ำตาแตกตายกันกลางโรงกับการจากลากับแอนดี้เพื่อนรักที่อยู่ด้วยกันมา 3 ภาคกินระยะเวลาเป็นสิบ ๆ ปีไปไม่ใช่น้อย และเมื่อบอกว่านั่นยังไม่ใช่จุดพีค แต่นี่คือตอนจบจริง ๆ เราคงคาดหวังอะไรที่กระแทกกระทั้นใจยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก

ทว่าในภาคนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมงานวางโจทย์เพื่อหาบทสรุปให้ตัวละครเก่า ทั้งที่ทิ้งไว้เช่นในภาค 3 ก็สวยงามดีแล้ว แต่เหมือนศิลปินเกษียณที่คิดถึงแฟน ๆ จนทนไม่ไหว จึงกลับมาบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมอีกนิดให้แฟน ๆ หายคิดถึง เน้นที่การมอบความสุข และบรรยากาศแสนหวานในอดีตที่มีร่วมกันอีกครั้ง หนังจึงเต็มไปด้วยความสุข ความสนุก ความตลกที่สอดแทรกแทบตลอดเวลาจากต้นจนจบ และแซมไว้ด้วยบทอาลัยอันเศร้าสร้อยซ่อนไว้ใต้ผิวอันเปล่งปลั่งสดใส เพราะอย่างไรเสียงานเลี้ยงย่อมมีวันจบ แต่จะให้จบด้วยน้ำตาแฟน ๆ แบบภาค 3 คงไม่ใช่จริตนักมอบความสุขอย่างพิกซาร์ ภาค 4 จึงน่าจะเกิดขึ้นเพื่อการนี้ การฟินาเล่ด้วยรอยยิ้มของแฟน ๆ น่าจะเป็นตอนจบที่ใช่ที่สุดสำหรับหนังแฟรนไชส์นี้ต่างหาก

หนังจึงยังคงได้ดาราดังกลับมาพากย์บทสำคัญเช่นเดิม ทั้ง ทอม แฮงส์ ในบทนายอำเภอ วู้ดดี้ กับ ทิม อัลเลน ในบทนักท่องอวกาศบัซไลท์เยียร์ และการกลับมาอีกครั้งของ แอนนี่ พอตส์ ในบท โบ ปี๊ป แฟนสาวของวู้ดดี้ที่หายหน้าไปหลังจากภาค 2 เพื่อมาสานต่อและสร้างบรรยากาศโรแมนติกเติมเต็มเรื่องราวของวู้ดดี้ ตัวละครหลักที่ไม่เคยได้รับรางวัลอันสมควรจากการทุ่มเทให้เด็ก ๆ อย่างยาวนาน แต่ถึงจะเป็นเอนเอตร์เทนเนอร์อย่างไร พิกซาร์ก็ยังเป็นนักปรัชญาที่ชาญฉลาดด้วย จากที่เราเห็นแล้วในหนังอย่าง Inside Out หรือ Coco และใน Toy Story 4 ก็เช่นกัน หนังยังหามุมที่แฟรนไชส์ยังไม่ได้จับต้องมาขยายได้อย่างน่าสนใจ ว่า ของเล่นต้องเกิดมาเพื่อเด็ก ๆ เท่านั้นจริง ๆ หรือ? ซึ่งเพิ่มการถกเถียงในเรื่องชะตาชีวิตและจิตอิสระอย่างน่าสนใจ

นอกจากร่ำลาตัวละครเดิม ๆ แล้ว หนังยังเบิกทางให้ตัวละครใหม่ ๆ หลายตัวอย่างน่าประทับใจ ราวกับบอกว่าไม่ต้องเสียใจกับการจากไป งานเลี้ยงนั้นจบลงและจัดขึ้นใหม่ได้เสมอ ตราบที่เรายังคงมีฝันและความรัก โดยตัวละครใหม่ที่ว่านี้ก็มาแบบสุดเซอร์ไพรส์ ทั้งได้ คีอานู รีฟส์ นักแสดงขาขึ้นที่สุดในวงการขณะนี้มารับบทตุ๊กตาสตั๊นท์แคนาดาในตำนานอย่าง ดุ๊ก คาบูม และจอร์แดน พีล ผู้กำกับสุดสยองจาก Get Out และ Us ที่มารับบทตุ๊กตาสุดแสบอย่าง บันนี่ ด้วย

ถ้าให้พูดก็คงบอกได้ว่าส่วนตัวแล้ว หนังไม่ได้ตรึงใจเท่าภาค 3 แต่เป็นเหมือนฉากโบนัสขนาดยาวที่มาเติมเต็มความสุขให้กับแฟน ๆ ของพวกเขาโดยเฉพาะ อย่างที่บอกว่า การจบด้วยน้ำตาไม่เหมาะกับหนังที่มอบความสุขให้ทุกคนแบบ Toy Story หรอกนะ

วู้ดดี้หาทางกลับบ้านช่างแสนไกล ส่วนเราซื้อตั๋วดูง่ายแค่จิ้มที่รูปเลย

แชร์โพสนี้

[รีวิว] Toy Story 4: ซึมน้อยหน่อย สนุกมากหน่อย
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0