โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

[รีวิว] 1917: งานสร้างระดับพระกาฬ ที่สะกดผู้ชมแบบม้วนเดียวจบ

Beartai.com

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 02.35 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 13.36 น.
[รีวิว] 1917: งานสร้างระดับพระกาฬ ที่สะกดผู้ชมแบบม้วนเดียวจบ
[รีวิว] 1917: งานสร้างระดับพระกาฬ ที่สะกดผู้ชมแบบม้วนเดียวจบ

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอังกฤษ ประกอบด้วย สคอฟิลด์ (จอร์จ แมคเคย์ จาก Captain Fantastic) และ เบลก (ดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน จาก Game of Thrones) ได้รับมอบหมายให้ไปร่วมปฏิบัติการที่ดูเหมือนว่าอาจไม่มีทางสำเร็จ พวกเขาต้องข้ามเขตแดนของข้าศึก เพื่อส่งสารสำคัญก่อนทหารพันกว่าคนจะต้องสังเวยชีวิตให้กับกับดักของเยอรมัน

แซม เมนเดส ผู้กำกับอังกฤษเจ้าของรางวัลออสการ์ที่เคยมีผลงานอย่าง American Beauty *  และแฟรนไชส์ 007 อย่าง Spectre* กับ Skyfall ครั้งนี้กลับมาด้วยงานที่คงเป็นภาพฝังใจเขาแต่เด็ก โดยนำเรื่องจริงจากคำบอกเล่าของปู่ตนเองที่ชื่อ อัลเฟร็ด เอช. เมนเดส ในวันที่ 6 เมษายน ปี 1917 ครั้งที่เป็นทหารราบในสงครามโลกครั้งที่ 1 บริเวณแนวรบในประเทศฝรั่งเศสระหว่างกองร้อยของอังกฤษกับเยอรมันที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ทั้งนี้เมนเดสได้เขียนบทด้วยตนเองเป็นครั้งแรกร่วมกับ คริสตี้ วิลสัน-แคร์น (จากซีรีส์ Penny Dreadful) นำเสนอมุมมองที่แตกต่างของหนังสงครามย้อนยุค ซึ่งก็แปลกตาดีกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เครื่องแต่งกายและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่หลากหลายทันสมัยอย่างในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่วงการหนังมักชอบยกมานำเสนอมากกว่า ไม่ว่าจะ Saving Private Ryan ของสปีลเบิร์ก หรือ Dunkirk ของโนแลน ก็เป็นหนังสงครามคุณภาพที่ชิงพื้นที่ออสการ์มาแล้วทั้งสิ้น

1917
1917

แซม เมนเดส ผู้กำกับ 1917

การที่ใช้สงครามโลกครั้งที่ 1 อาจมองเป็นจุดด้อยในแง่การนำเสนอด้านภาพยิ่งใหญ่ที่น้อยหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็มีจุดแข็งตรงความอ่อนประสบการณ์ ทั้งในแง่คนดูที่ไม่คุ้นชินกับการสู้รบในยุค 1900 ต้น ๆ อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่ได้ประสิทธิภาพสูง พอยืนระยะห่างกันสักหน่อยปืนทหารราบก็เรียกได้ว่ายิงพลาดได้แบบวัดดวงกัน ทำให้หนังมันดูน่าลุ้นไปอีกแบบ เมื่อรวมกับความอ่อนสถานการณ์ของผู้ชมต่อเนื้อหาประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นและจะเกิดอะไรต่อไป มันจึงสร้างประสบการณ์แบบอินไปกับตัวหนังได้อย่างกลมเกลียวเพราะเราก็ไม่รู้อะไรมากพอ ๆ กับตัวละครว่าการเดินทางในสมรภูมินิรนามนี้จะจบลงอย่างไร

1917
1917

ความอ่อนประสบการณ์ของตัวละครเองก็สร้างพื้นที่สำคัญในทางปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหนังอันต่างจากหนังสงครามทั่วไป เพราะโลกยังขาดประสบการณ์แบบที่เรียกว่าสงครามโลก การไตร่ตรองความหมายของการต่อสู้และชีวิตจึงแตกต่างจากหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มุ่งหมายเอาเรื่องการเสียสละและความกล้าหาญเป็นตัวนำ สำหรับ 1917 กลับทำให้เรามองเห็นตัวละครในฐานะคนธรรมดาที่ต้องเข้าร่วมสงครามได้มากกว่า เพราะความกล้าหาญหรือวีรกรรมเล่าขานกลายเป็นเรื่องไร้ค่าสำหรับ สคอฟิลด์ ผู้ทิ้งเหรียญกล้าหาญของตัวเองแลกกับอาหารเครื่องดื่มดี ๆ สักชิ้นอย่างไม่ไยดี เขาไร้จุดหมายที่จะกลับบ้านและมองสงครามเป็นเรื่องที่ยากน้อยกว่าการสร้างครอบครัว สงครามไม่ได้มีค่าอะไรกับเขาเท่าการมีชีวิตต่อไปอย่างพอมีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ การได้ทานขนมปังแฮมชิ้นเล็ก ๆ ที่หาได้ยากเย็นกลับดูยิ่งใหญ่กว่าสำหรับเขา และเมื่อเขาถูกทดสอบทางเลือกระหว่างทำภารกิจที่ถูกโอบล้อมในดงศัตรูที่อาจทำให้ตายได้ กับช่วยเหลือหญิงสาวฝรั่งเศสที่บังเอิญพบเจอแล้วสร้างครอบครัวให้เด็กทารกกำพร้าแม่ เขาก็เลือกไปเสี่ยงตายมากกว่าได้อย่างไม่ลังเล

1917
1917

สคอฟิลด์ (รับบทโดย จอร์จ แมคเคย์)

ในขณะที่เพื่อนทหารอีกคนอย่าง เบลก เองก็สะท้อนความอ่อนประสบการณ์ในการมองสงคราม เขาเห็นวีรกรรมเป็นเพียงเรื่องไว้คุยโม้เมื่อกลับบ้าน เพราะเขามีเป้าหมายที่จะกลับบ้านพร้อมพี่ชายของเขาที่อยู่อีกกองร้อย โดยประเมินความเป็นจริงของสงครามต่ำไป อาจเพราะเขาเป็นเพียงทหารแนวหลังที่ห่างจุดปะทะสำคัญ ภารกิจที่เขานึกออกมีเพียงการออกไปหาเสบียงหรือการอ่านแผนที่ทั่วไป เมื่อได้รับการเรียกตัวด่วนเขาจึงไม่คาดคิดว่าเพียงฉับพลันเขาจะต้องฝ่าแนวรบออกไปเพื่อส่งสารให้กองร้อยที่พี่ชายสังกัดอยู่ โดยแบกภาระชีวิตทหารมากกว่าพันนายไว้กับตัว แม้กระนั้นแรงผลักดันที่ทำให้เบลกมุ่งต่อไปแม้เจออุปสรรคเฉียดตายจนสคอฟิลด์เอ่ยปากให้ทิ้งภารกิจกลับไม่ใช่เรื่องชีวิตทหารมากมายเป็นหลัก หากแต่เป็นเรื่องส่วนตัวอย่างความปลอดภัยของพี่ชายตนเองมากกว่า

1917
1917

เบลก (รับบทโดย ดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน )

จะเห็นได้ว่ามันคือคนหัวคิดธรรมดา ๆ ที่คิดแบบใช้ชีวิตเรียบง่ายปกติสุขจริง ๆ ไม่ได้มีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่อะไร แล้วชาวบ้านที่มีความสุขในชีวิตอันเรียบง่าย มองสงครามเป็นเพียงฉากนิยายที่น่าตื่นตาตื่นใจก็ถูกโยนลงกลางสมรภูมิจริง มันจึงคือเรื่องราวของการรู้จักสงครามใหญ่ครั้งแรกของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าบทเรียนแค่นี้ยังไม่เพียงพอให้เข็ดขยาดสงครามอีกหรือ เพราะไม่กี่สิบปีคล้อยหลังมันก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาอีก

1917
1917

การเอานักแสดงนำอย่าง จอร์จ แมคเคย์ และดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน ที่ภาพลักษณ์ดูอ่อนต่อโลกจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้ว่ากันตามตรงตัวหนังอาจไม่ได้มีเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อหรืออัศจรรย์ใจเมื่อเทียบกับหนังสงครามโลกที่ผ่าน ๆ มาที่ต่างใช้วีรกรรมกับสมรภูมิที่โด่งดังมาเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ และหากดูไปพลอตของหนังเรื่องการเดินทางเพื่อยับยั้งการบุกก่อนเข้าไปติดกับดักก็เป็นพลอตที่เชื่อมโยงกับหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 ของ ปีเตอร์ เวียร์ เรื่อง Gallipoli (1981) อยู่ไม่น้อย ในขณะที่ด้านปรัชญาของหนังเองก็ไม่ได้ขวนขวายจะลงลึกให้เกิดพุทธิปัญญาอย่างจะแจ้งชัดเจน หากแต่เรียกร้องให้ผู้ชมเติมเต็มเข้าไปพอสมควร กระนั้นความโดดเด่นของหนังจริง ๆ กลับอยู่ที่โพรดักชันที่งดงาม ละเอียด ประณีต ผ่านการคิดมาอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ศิลป์ ซึ่งถ้าให้จำเพาะชื่อลงไป ก็ต้องกราบโดยตรงไปที่ผู้กำกับภาพของหนังอย่าง โรเจอร์ ดีกินส์ ผู้กำกับภาพเบอร์หนึ่งของโลกในยุคสมัยนี้

1917
1917

โรเจอร์ ดีกินส์ กับ แซม เมนเดส

หนังถูกคิดแบบหนังเทคเดียว คือกล้องจับภาพลองเทคยาวตั้งแต่ต้นจนจบเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้กลเม็ดคือ Hidden Editing อาศัยจังหวะการเคลื่อนกล้องผ่านวัตถุหนึ่งจนภาพวัตถุเต็มเฟรมเพื่อซ่อนคัตของหนังที่ไม่ต่อเนื่องกันให้ดูเหมือนลื่นไหลยาวไป อันเป็นเทคนิคที่ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ผู้กำกับชั้นครูทำให้โด่งดังขึ้นมาจากหนัง Rope (1948) ที่ทำให้หนังลองเทคจำนวน 10 คัตสามารถร้อยเรียงดูคล้ายหนังเทคเดียวทั้งเรื่องได้  แต่ความน่าสนใจของหนัง 1917 นั้นก็ต้องยอมรับว่า ฉากสงครามเป็นฉากที่ใหญ่ หลุมเพลาะที่ขุดยาวกว่า 5,000 ฟุต เพื่อใช้ถ่ายทำ ไหนจะซากเมืองทั้งกลางวันกลางคืน การถ่ายลองเทคในพื้นที่เปิดโล่งก็มีข้อจำกัดมากมายทั้งว่ายากต่อการจัดแสง และต้องพึ่งพาการวางแผนกับแสงธรรมชาติ การควบคุมกลุ่มนักแสดงเรือนร้อยและอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ ให้ทำงานถูกต้องถูกจังหวะเมื่อเฟรมกล้องเคลื่อนไปสัมผัสก็ย่อมยากกว่าหนังที่ถ่ายลองเทคในสตูดิโอที่ควบคุมทุกอย่างได้หมด (ที่จุดบุหรี่จุดไม่ติดก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ให้หนังต้องถ่ายทำใหม่หลายเทคได้อย่างไม่น่าเชื่อ) แถมในความยากพวกเขาก็ไม่ละทิ้งความสมบูรณ์ เมื่อมีตัวละครในฉากตายเราจะเห็นเขาค่อย ๆ หน้าซีดลงจากเดิม ซึ่งต้องอาศัยความว่องไวและแม่นยำระหว่างการเคลื่อนกล้องและการแสดง รวมถึงทีมงานเมกอัปที่เข้าไปให้ทันท่วงที เพื่อเปลี่ยนสีหน้านักแสดงโดยยังรักษาความต่อเนื่องของเทคไว้ได้

1917
1917

มาร์ก สตรอง

1917
1917

โคลิน เฟิร์ธ

1917
1917

เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์

1917
1917

หลุมเพลาะกว่า 5,000 ฟุตถูกขุดขึ้น พร้อมกับการวางรางดอลลีเคลื่อนเครนขนาดยาว กับการถ่ายทำที่ต้องอาศัยแสงธรรมชาติแทบทั้งเรื่อง

ในขณะที่หลายฉากถูกออกแบบอย่างสวยงาม และเป็นที่น่าจดจำแทบทุกฉาก ตั้งแต่หลุมเพลาะในกองร้อยของตัวเอก แอ่งโคลนที่เต็มไปด้วยลวดหนามและซากศพ อุโมงค์ลับของเยอรมัน สนามปืนใหญ่ที่ปลอกกระสุนเกลื่อนกลาด ทุ่งกว้างตัดกับขอบฟ้า ฟาร์มเลี้ยงวัวที่ถูกทิ้งร้างกับต้นเชอร์รี่สีขาว โรงนาที่ถูกเครื่องบินตกใส่ เมืองร้างที่มีเยอรมันเฝ้าในห้วงเวลากลางคืนที่พลุไฟถูกยิงวาดโค้งในอากาศจนเกิดเป็นมิติระหว่างแสงเงาอย่างน่าพิศวง (ฉากนี้เด็ดดวงมาก) โบสถ์สูงที่ไฟลุกไหม้จนควันสีส้มคลุ้งคลุมเมือง (ใช้อุปกรณ์จัดแสงขนาดใหญ่เหมือนตึกหลายชั้น – เชื่อว่าเป็นหนึ่งในการจัดแสงที่ใหญ่ที่สุดที่วงการหนังเคยทำขึ้นมา) สายน้ำที่เชี่ยวกรากและมากมวลด้วยซากศพลอยติดตลิ่ง จนถึงจุดปะทะในแนวหน้าของสงครามที่ต้องวิ่งผ่าลูกกระสุนปืนใหญ่ จนถึงฉากสุดท้ายที่จบลงตรงต้นไม้ราวกับวนกลับมายังฉากเปิดเรื่องอีกครั้งในอารมณ์ความคิดของตัวละครที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของวัน หนังมันทำสำเร็จจนเราแยกฉากและจดจำมันได้ทั้งหมดจริง ๆ เรียกว่ามีภาพจำสวย ๆ ในฉากของหนังเยอะมาก และนอกเหนือจากนั้นการเคลื่อนกล้องยังฉกฉวยจังหวะสำคัญได้อยู่มือ ไม่ว่าจะความตื่นเต้นของการค่อย ๆ ตามหลังตัวละครโผล่พ้นหลุมเพลาะสู่ทุ่งโล่งที่อาจโดนยิงใส่ หรือการโคลสอัปตัวละครสลับกับขนาดภาพต่าง ๆ โดยการเคลื่อนแบบลองเทค ผสานไปกับดนตรีประกอบที่ทำหน้าที่เปลี่ยนโมเมนตัมทางอารมณ์ผ่านฉากเดียวได้อย่างน่าสนใจ มีบ้างที่รู้สึกเล่นใหญ่เกินภาพอย่างฉากการลอบถึงแนวหลุมเพลาะของเยอรมัน แต่นั้นก็เป็นจุดฉุกใจครั้งเดียวในหนังตลอดเรื่อง

1917
1917

ชุดไฟที่ได้รับการกล่าวขานว่าน่าจะใหญ่ที่สุดที่วงการหนังเคยทำมา

1917
1917
1917
1917

ฉากแสงพลุไฟพาดพานเมืองร้าง คืออีกหนึ่งประดิษฐกรรมทางแสงที่น่าทึ่งของหนัง

1917
1917
1917
1917
1917
1917
1917
1917

ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเหตุผลที่อาจพูดได้ว่าในทางโพรดักชันไม่มีเรื่องไหนที่ดีงามและท้าทายมากไปกว่าหนังเรื่องนี้อีกแล้วสำหรับปีที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้

ข้อเสียที่พบในหนังเป็นเรื่องของดาบสองคมในการเลือกการเล่าแบบเทคเดียว เพราะหนังสร้างจุดอ้างอิงไว้แต่ต้นว่านี่คือภารกิจเดินเท้าแบบเร่งด่วนที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงเพื่อจะถึง แต่เมื่อหนังมีความยาวเพียงราว 2 ชั่วโมง การอ้างอิงระยะทางของสถานที่ต่าง ๆ จึงต้องถูกบิดเบี้ยวไปจนขาดความสมจริง ไม่ว่าจะการรับรู้เรื่องความใกล้ไกล อย่างฉากโรงหน้าที่ตัวละครไม่รู้ตัวเลยว่ามีขบวนรถของทหารวิ่งมาใกล้แบบห่างไปไม่กี่เมตร หรือการเดินทางจากเมืองสู่เมืองที่ดูสั้นกว่าความเป็นจริงมาก ยังไม่นับท่าทีการแสดงที่ประหนึ่งตัวละครเป็นนักแสดงบนละครเวทีที่ใช้การเคลื่อนตัวไม่กี่ก้าวก็เปลี่ยนฉากและอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะฉากสุดท้ายยิ่งชัดเมื่อตัวละครเปลี่ยนมู้ดของฉากแล้วเดินสู่ต้นไม้ราวกับสิ่งแวดล้อมรอบข้างก่อนหน้าละลายหายไปแล้ว แบบไฟบนสเตจของฉากก่อนหน้าโดนดับไฟลง ก็อาจเป็นสิ่งที่ แมซ เมนเดส จงใจให้ออกมาลักษณะเหมือนละครเวทีดังกล่าว แต่มันก็ทำลายความสมจริง อินในสถานการณ์ที่หนังใช้ทั้งฉาก ภาพ การเคลื่อนกล้องสร้างสมมาตลอดเรื่องทิ้งไปด้วย และอีกส่วนก็มาจากความสมจริงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูผิดเหตุผลไปหมดเช่นว่าภารกิจสำคัญอย่างนี้ เหตุใดผู้นำทัพจึงเลือกเสี่ยงให้คนสองคนไปทำ แทนที่จะส่งออกไปเป็นคู่ ๆ หลาย ๆ เส้นทางแยกกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

1917
1917

อย่างไรก็ตาม นี่คือหนังที่โพรดักชันงามเลิศสุดบนเวทีออสการ์ปีนี้ หากจะได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมต่อจากเวทีลูกโลกทองคำก็คงไม่น่ากังขาแต่อย่างใด

1917
1917

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

 

แชร์โพสนี้

[รีวิว] 1917: งานสร้างระดับพระกาฬ ที่สะกดผู้ชมแบบม้วนเดียวจบ
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0