โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รำลึกป๋าเปรม ผ่าน “สะพานติณสูลานนท์” สะพานคู่ยาวที่สุดในไทย ความภูมิใจของชาวสงขลา

Manager Online

อัพเดต 26 พ.ค. 2562 เวลา 05.13 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 05.13 น. • MGR Online

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของเมืองไทยต่อ การจากไปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรีในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ซึ่งท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเช้าวันนี้ (26 พ.ค. 62) ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวัย 99 ปี

พล.อ.เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยชื่อเปรมนั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุลติณสูลานนท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 โดย พล.อ.เปรม เป็นบุตรชายคนรองสุดท้องจากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

พล.อ.เปรม เป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติมากมาย โดยท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ช่วงปี 2523 - 2531 รวมระยะเวลาประมาณ 8 ปี นอกจากนี้ยังเป็นรัฐบุรุษ และเป็นประธานองคมนตรีในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์

สำหรับหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สร้างขึ้น ในสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็คือ “สะพานติณสูลานนท์” แห่งจังหวัดสงขลา ซึ่งวันนี้ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่รำลึกในคุณงามความดีของท่าน

สะพานติณสูลานนท์ สร้างทอดข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อมแผ่นดินระหว่างฝั่งสงขลาคือบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร กับฝั่งเกาะยอคือบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา

จุดประสงค์ของการสร้างสะพานแห่งนี้ คือ การรองรับการคมนาคมทางรถยนต์ โดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ซึ่งมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานาน ทั้งเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็ยังทำให้การจราจรติดขัดในตัวเมืองอีกด้วย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลจึงมีนโยบายจะพัฒนาจังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลัก โดยกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัทจากประเทศไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2527

สะพานติณสูลานนท์ เป็นส่วนหนึ่ง ของทางหลวงหมายเลข 4146 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 4083 (ระโนด-เขาแดง) กับทางหลวงหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่) สะพานแห่งนี้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตคู่ มีความยาวของสะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง คือยาว 940 เมตร และ 1,700 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,640 เมตร นับเป็นสะพานคอนกรีตคู่ที่ยาวที่ของเมืองไทยในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ชาวจังหวัดสงขลาและคนไทยอีกจำนวนมากนิยมเรียกสะพานติณสูลานนท์ว่า “สะพานติณ” “สะพานเปรม” หรือ “สะพานป๋าเปรม” หรือ ซึ่งด้วยความโดดเด่นและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันสวยงามของสะพานติณสูลานนท์ ทำให้สะพานแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสงขลา

นอกจากนี้สะพานติณสูลานนท์ยังเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสงขลา โดยมีการบรรจุชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสะพานแห่งนี้ไว้ในคำขวัญจังหวัดสงขลาว่า “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0