โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/โดรน 'นักล่าสังหาร' สงครามยุคใหม่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 04.47 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 04.43 น.
รายนำ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

โดรน ‘นักล่าสังหาร’

สงครามยุคใหม่

 

ความเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการสงครามเป็นผลโดยตรงจากพัฒนาการของเทคโนโลยีทหาร และเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การกำเนิดของระบบอาวุธใหม่ๆ ซึ่งอาวุธใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้สนามรบเปลี่ยนไปจากเดิม

เครื่องบินเล็กได้ถูกนำมาดัดแปลงใช้ในทางทหาร แบบ “อากาศยานรบไร้คนขับ” ออกปฏิบัติการทางทหารด้วยการเป็น “นักล่าสังหาร” (hunter killer) ต่อเป้าหมายบุคคล

ความสำเร็จเช่นนี้ทำให้เป็นที่ยอมรับกันในโลกทางทหารสมัยใหม่ว่าโดรนเป็นอาวุธล่าสังหารที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมากแบบหนึ่งในปัจจุบัน

เพราะสามารถเกาะติดเป้าหมายได้เป็นระยะเวลานาน และผู้ตัดสินใจที่แม้จะอยู่ไกล แต่ก็สามารถสั่งการได้ทันทีแบบ “real time”

ช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม ตามเวลาอิรัก พล.ต.โซไลมานี วัย 62 ปี ถูกสังหารตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ที่สนามบินในกรุงแบกแดด เขาเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps)

หลายฝ่ายมองว่าการสังหารในครั้งนี้จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทำไมสหรัฐจึงตัดสินใจสังหารนายพลผู้นี้

ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ พล.ต.โซไลมานีอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง เมื่อว่ากันเรื่องสงครามและสันติภาพแล้ว เขาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านตัวจริง

ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยออกมาระบุว่า พล.ต.โซไลมานีและหน่วยรบพิเศษคุดส์เป็นผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังการสังหารทหารสหรัฐหลายร้อยคน

หลังข่าวการสังหารนายพลผู้นี้แพร่ออกไป ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โพสต์รูปธงชาติสหรัฐทางบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ส่วนแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมระบุว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.โซไลมานี

“วางแผนอย่างแข็งขันที่จะโจมตีนักการทูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐ ทั้งในอิรักและทั่วภูมิภาคนี้ …การโจมตีนี้ก็เพื่อหยุดการโจมตีโดยอิหร่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

 

การโจมตีครั้งนี้ถูกโดรน MQ-9 Reaper ของสหรัฐถล่มด้วยจรวดหลายลูก ขณะกำลังออกเดินทางจากสนามบิน เชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย

เอ็มคิว-9 รีปเปอร์ หรือชื่อเดิม พรีเดเตอร์ บี เป็นอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ควบคุมโดยรีโมตคอนโทรลหรือควบคุมด้วยตนเอง พัฒนาโดยเจเนอรัลอะตอมมิกแอร์โรว์นอติคอลซิสเต็ม (GA-ASI) สำหรับใช้งานในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนามาจากเอ็มคิว-1 พรีเดเตอร์ ถือเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบแรกที่ออกแบบมาเพื่อภารกิจล่าและทำลายโดยเฉพาะ

เป็นอากาศยานไร้คนขับควบคุมทางไกล เป็นอาวุธสำคัญของกองทัพอากาศสหรัฐ ใช้ทั้งสอดแนมและจู่โจมทางอากาศ มีรัศมีการบิน 1,150 ไมล์ 1,852 ก.ม. มีเพดานบินสูง 50,000 ฟุต บินได้นาน 14 ชั่วโมง

มีการออกแบบใหม่ให้มีจุดติดตั้งอาวุธ 6 จุด

บริเวณปีกด้านละ 3 จุด รองรับน้ำหนักได้ 1,500 ปอนด์กลางปีก ด้านในปีกรับน้ำหนักได้ 600 ปอนด์ ปีกด้านนอกรับน้ำหนักได้ 200 ปอนด์

ติดตั้งขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นดิน 8 ลูก ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศประสิทธิภาพทำลายล้างสูง 2 ลูก และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์อีก 2 ลูก ความเร็วสูงสุด 480 ก.ม./ช.ม.

ถังน้ำมันเชื้อเพลิงจุได้ 1,800 ก.ก. น้ำหนักตัวเปล่า 4,900 ก.ก. บรรทุกสูงสุด 1,700 ก.ก.

ส่วนโดรน MQ-9 Reaper รุ่นกองทัพเรือสหรัฐ ได้ปรับปรุงโปรแกรมควบคุมการบินให้ไกลขึ้น บินได้นานถึง 49 ชั่วโมง

 

การใช้โดรนเป็นอาวุธในการโจมตีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่พัฒนาโดรนอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็นคือสหรัฐ ซึ่งมองเห็นบทเรียนความสำเร็จของอิสราเอล จึงได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนอย่างจริงจัง

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นเห็นได้จากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ที่เป็น “สงครามครั้งแรกของโดรน” และได้เห็นถึงอรรถประโยชน์ของโดรนในทางทหารอย่างมาก

หลังจากสงครามครั้งนี้แล้ว โดรนได้รับการพัฒนาจนเป็นระบบอาวุธที่สำคัญชุดหนึ่งในโลกปัจจุบัน

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นครั้งแรกของโลกที่เราได้เห็นนักล่าสังหาร ปฏิบัติการครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2001 โดยสังหารบุคคลเป้าหมายที่เมืองกันดาฮาร์ในอัฟกานิสถาน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2002 โดรนปฏิบัติการสังหารผู้นำของกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน

ที่สำคัญ ปฏิบัติการเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงด้วยการส่งกำลังบุคคลเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียกำลังพล

นอกจากนี้ สหรัฐยังทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสหรัฐในการใช้โดรน MQ-9 Reaper ติดอาวุธยิงจากอากาศสู่พื้นแบบ Hellfire ในสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในขณะเดียวกันคู่ต่อสู้อย่างอิหร่านก็ไม่น้อยหน้าได้นำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซีย นอกนั้นได้นำมาจากประเทศจีน ขีปนาวุธถือเป็นแสนยานุภาพทางทหารของอิหร่าน นับว่าอาจจะมีขีดความสามารถด้านขีปนาวุธมากที่สุดในตะวันออกกลาง ขีปนาวุธที่อิหร่านใช้ส่วนใหญ่เป็นแบบพิสัยใกล้และพิสัยกลาง

และประเทศอิหร่านได้ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีอวกาศเป็นฉากหน้า เพียงเพื่อพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลขึ้น

แต่โครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่านต้องชะงักลง ตามข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี 2015 กับนานาชาติ แต่ก็มีแนวคิดที่จะเดินหน้าโครงการต่อ เพราะข้อตกลงนิวเคลียร์ขาดความชัดเจน

ถึงแม้อิหร่านต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงหลายปี แต่อิหร่านประสบความสำเร็จในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน อิหร่านได้ใช้โดรนในสงครามอิรักมานับแต่ปี 2016 เพื่อต่อสู้กับกลุ่มไอเอส

และอิหร่านยังบังคับโดรนติดอาวุธจากฐานทัพในซีเรียเข้าไปในน่านฟ้าอิสราเอลอีกด้วย

ในปี 2019 เกิดการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธ สร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างในโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย ทั้งรัฐบาลสหรัฐและซาอุดีอาระเบียเชื่อมโยงการโจมตีดังกล่าวกับอิหร่าน แม้ว่าอิหร่านปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และชี้ว่ากลุ่มกบฏในเยเมนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

และยังมีส่วนในโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในปี 2010

อิหร่านได้ยกระดับความสามารถในโลกไซเบอร์มากขึ้น มีองค์กรไออาร์จีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ของตนเอง เพื่อใช้ในการจารกรรมทางการพาณิชย์และการทหาร รวมถึงด้านอากาศยาน ผู้รับเหมาทางกลาโหม บริษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมทั่วโลก

ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจน การโจมตีทางอากาศของโดรน MQ-9 Reaper ระยะไกล เป็นอาวุธรูปแบบใหม่ ที่มีความคุ้มค่าในการทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงการทำสงครามทางอากาศยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย กำลังก้าวเข้ามามีบทบาททางทหารมากขึ้นในอนาคต

 

ที่มา

https://www.matichonweekly.com/column/article_240250

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0