โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดตัวหลักสูตรแพทย์แนวใหม่ เรียน 7 ปี 2 ปริญญา

BLT BANGKOK

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 09.35 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 09.34 น.
42051bf63aa01e0f57d448239a4ccc79.jpg

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัวหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ Top 10 ของโลก และโรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม รู้จักคิด ค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศตามคุณลักษณะแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ทรงเป็นประธานในพิธีลงพระนาม และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกด้วยพระองค์เอง
โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อยกระดับระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยสู่สากล ซึ่งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ 7 ปี ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา และเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ และมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน
ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษา และทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยได้ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง โดยนักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ นักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางการแพทย์รูปแบบใหม่ในหลักสูตรการศึกษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปกติ
โดยหลักสูตรจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปีเรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นฐานทางคลินิก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้า และรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice
นอกจากนี้หลักสูตรยังเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
ทั้งยังมุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน “Vertical Modules” 6 คอลัมน์ เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม และเป็นแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor
พลตำรวจโท วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลตำรวจจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ซึ่งเรามีความพร้อมทั้งในด้านการเป็นสถาบันการแพทย์ระดับตติยภูมิที่จะสนับสนุนการฝึกทักษะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ให้มีความเป็นเลิศ และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ขั้นสูงให้กับนักศึกษา โดยมีคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่พร้อมดูแลนักศึกษาอย่างอบอุ่นและมีคุณภาพ เพื่อสนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพงานแพทยศาสตรศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มกำลังต่อไป
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน โดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio เป็นหลัก และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple mini-interview (MMI) ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง เฟสบุค https://www.facebook.com/MDPH.CRA และ www.pccms.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โทร 0 2105 4669 ต่อ 8477, 8481, 8485 (ในวันและเวลาราชการ)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0