โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ราชวงศ์อังกฤษ : เหตุใดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ไม่ทรงพระมหามงกุฎในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา

Khaosod

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 07.10 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 07.10 น.
_109233041_hi057296832-f79678566022a416baaf4ff6c6059959afdbf761
Reuters

ราชวงศ์อังกฤษ : เหตุใดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ไม่ทรงพระมหามงกุฎในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา – BBCไทย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จพระราชดำเนินไปในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา และรัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถ หรือ Queen’s Speech เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยฉลองพระองค์เต็มยศ แต่มิได้ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท (Imperial State Crown) ซึ่งเป็นเครื่องประดับสำคัญคู่พิธีนี้

ในพิธีครั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง พระชนมพรรษา 93 พรรษา เลือกที่จะทรงมงกุฎพระเจ้าจอร์จที่สี่ (George IV State Diadem) ที่ประดับเพชร 1,333 เม็ด และไข่มุก 170 เม็ด ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่ามากเมื่อเทียบกับพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ที่หนักถึง 1.28 กก.

อย่างไรก็ตาม แม้สมเด็จพระราชินีนาถฯ ไม่ได้ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท แต่พระมหามงกุฎองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญไปในพิธีด้วย

พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทถูกวางไว้ข้างสมเด็จพระราชินีนาถฯ
พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทถูกวางไว้ข้างสมเด็จพระราชินีนาถฯ

พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก ในปี 1937 ประกอบไปด้วยเพชร 2,868 เม็ด ไพลิน 17 เม็ด มรกต 11 เม็ด และไข่มุกอีกหลายร้อยเม็ด ซึ่งรวมถึงไข่มุกจำนวน 4 เม็ดจากพระกุณฑล (ต่างหู) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่ง และทับทิมแบล็กพรินซ์ (Black Prince’s Ruby) ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ห้าแห่งอังกฤษ ทรงเคยสวมใส่ที่ยุทธการอาแจ็งคูรต์ (Battle of Agincourt) ซึ่งเป็นยุทธการในสงครามร้อยปี (Hundred Years’ War) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1415

พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก มีน้ำหนัก 1.28 กก.
พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก มีน้ำหนัก 1.28 กก.

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเล่าในสารคดี The Coronation ของบีบีซี เกี่ยวกับพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทที่หนักอึ้ง ซึ่งพระองค์ทรงต้องสวมใส่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา

สมเด็จพระราชินีนาถฯ ตรัสว่า ด้วยความที่พระมหามงกุฎดังกล่าวมีน้ำหนักมาก ทำให้เมื่อใดที่พระองค์มีพระราชดำรัสจะต้องทรงยกกระดาษขึ้นอ่าน ไม่สามารถก้มได้ เพราะไม่เช่นนั้น “พระศอ (คอ) อาจหักได้” แต่เคราะห์ดีที่พระองค์และพระราชบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก มีรูปพระเศียรคล้ายกันทำให้พระองค์ทรงสวมพระมหามงกุฎได้อย่างพอดีไม่หลุดร่วงลงมา

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 1953
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 1953

นายริชาร์ด ฟิตซ์วิลเลียม ผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนัก กล่าวว่า การตัดสินพระทัยไม่ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท นับเป็น “การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ” ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่พระองค์มีพระชนมพรรษามากขึ้น

ขณะที่ น.ส.วิคตอเรีย เมอร์ฟี นักเขียนและผู้สื่อข่าวสายราชสำนัก ระบุว่า ปัจจุบันมีการลดทอนและปรับเปลี่ยนพิธีการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับพระชนมพรรษาที่มากขึ้นของสมเด็จพระราชินีนาถฯ

ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเปลี่ยนไปใช้ลิฟต์แทนการขึ้นบันไดในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2016 และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร ทรงรับหน้าที่วางหรีดแทนพระองค์เนื่องในวันรำลึกทหารผ่านศึกมาตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา

นับแต่ปี 1852 เป็นต้นมา มีธรรมเนียมที่กษัตริย์จะต้องฉลองพระองค์เต็มยศ และเสด็จพระราชดำเนินไปในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยรถม้าสีทอง โดยมีทหารม้ารักษาพระองค์พร้อมม้า 120 ตัว ถวายการอารักขา

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรัฐสภาปี 1974 สมเด็จพระราชินีนาถฯ มิได้ทรงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทไปในงาน สืบเนื่องจากประเด็นด้านเวลาที่กระชั้นชิด อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดและต้องรีบจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมการประกอบพิธีนี้

เช่นเดียวกับในปี 2017 ที่พระองค์มิได้ทรงพระมหามงกุฎ และฉลองพระองค์แบบธรรมดา เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์ ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยในครั้งนั้น สมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินไปรัฐสภาโดยรถยนต์พระที่นั่ง เนื่องจากไม่มีเวลาพอสำหรับฝึกหัดม้าเพื่อลากรถม้า เพราะเมื่อ 4 วันก่อนหน้านั้นเพิ่งจะมีพิธีสวนสนามวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระราชินีนาถฯ (Trooping the Colour) นั่นเอง

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0