โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ราคาหมูทำนิวไฮทะลุ 150 บาท แห่ส่งออกไปฮ่องกง-ภัยแล้งซ้ำหมูโตช้า

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ม.ค. 2563 เวลา 03.36 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 05.00 น.
สุกร2

“ASF-แล้ง” ดันราคาหมูนิวไฮรับตรุษจีน หน้าฟาร์มทะลุ กก.ละ 78 บาท หน้าเขียงทะลุ 150 บาท ผู้เลี้ยงโอดต้นทุนเพิ่ม กก.ละ 2 บาท ทั้งค่าขุดบ่อน้ำแก้แล้ง-ค่าแรงงานขั้นต่ำขึ้น ส่วนปริมาณซัพพลายหด ร้อนหนักหมูโตช้าผลผลิตวูบ 15% ส่งออกหมูไปตลาดต่างประเทศหลัง ASF พุ่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ราคาจำหน่ายสินค้าสุกรก่อนจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 พบว่า ราคาเฉลี่ยสุกรมีชีวิตโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 เฉลี่ยที่กก.ละ 70-78 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กก.ละ 68-78 บาท หรือปรับขึ้นเฉลี่ย กก.ละ 2-10 บาท และถือเป็นราคาที่สูงสุดเป็นนิวไฮ เพราะในช่วงที่ผ่านมาราคาสุกรมีชีวิตเคยปรับขึ้นไปสูงสุดในปี 2557 ราคาเฉลี่ย กก.ละ 75 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาขายปลีกเฉลี่ย กก.ละ 138-156 บาท สูงขึ้น กก.ละ 4-20 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กก.ละ 134-158 บาท ส่วนราคาส่งออกเฉลี่ยสุกรมีชีวิต เฉลี่ยที่ กก.ละ 79 บาท ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเพราะปริมาณผลผลิตไทยลดลงหลังจากที่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ทำให้มีการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) 2562 เพิ่มขึ้น 62%

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลกระทบในเรื่องของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ทั้งในจีน และอาเซียน ทำให้การส่งออกเนื้อหมูสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในปี 2563 มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน ประกอบกับผลจากภาวะภัยแล้ง ทำให้สุกรโตช้า คาดว่าผลผลิตภาพรวมจะปรับลดลง 15% โดยราคาสุกรมีชีวิตเฉลี่ย กก.ละ 75 บาท ส่วนราคาส่งออกเฉลี่ย กก.ละ 76 บาท

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสุกรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียและอาเซียนเป็นหลัก ส่วนตลาดอื่นยังเป็นไปได้น้อยมาก ที่ผ่านมาตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักสุกรโลกได้รับผลกระทบจากโรค ASF อย่างรุนแรง แต่หากหลังจากนี้ จีนและสหรัฐบรรลุข้อตกลงการเปิดตลาดเนื้อหมูระหว่างกันก็จะต้องติดตามต่อไปว่า เงื่อนไขในการส่งออกหมูสหรัฐไปยังประเทศจีนเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบหรือจะเป็นโอกาสส่งออกหรือไม่

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ต้นทุนการเลี้ยงสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่หลักที่มีการเลี้ยงจำนวนมาก เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น เกษตรกรต้องลงทุนขุดบ่อเพื่อหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมมาใช้ในฟาร์ม จึงเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เฉลี่ย 5-10 บาทต่อคนต่อวัน ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1-2 บาท เป็น กก.ละ 69-70 บาท ส่วนราคาขายสุกรมีชีวิต กก.ละ 75-77 บาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกอยู่ประมาณ 200 ราย มีจำนวนแม่พันธุ์ 30,000 ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นการจำหน่ายให้กับผู้ซื้อภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการส่งออกจะมีปริมาณน้อยมาก และการส่งออกส่วนใหญ่จะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“แนวโน้มความต้องการบริโภคเนื้อหมูในประเทศในปีนี้อาจไม่เติบโตมากนัก แม้จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่เนื่องจากปัจจัยของสภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลง”

สำหรับการป้องกันโรค ASF ในพื้นที่ภาคอีสานได้ลงทุนวางระบบป้องกันและวางรั้วรอบฟาร์ม รวมถึงป้องกันการลักลอบนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จึงยังไม่พบปัญหาการระบาด รายงานข่าวระบุว่า อีกด้านหนึ่งราคาหมูส่งผลเชื่อมโยงให้ราคาไก่ปรับขึ้นด้วย โดยราคาไก่สดทั้งตัวเฉลี่ย กก.ละ 65-70.00 บาทจากปีก่อนที่กก.ละ 62.50 บาท

นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล ประธานกรรมการบริหาร พงษ์ศักดิ์ กรุ๊ป และบริษัท พีเอส ฟู้ด โปรดิวส์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มขณะนี้เฉลี่ย กก.ละ 34-35 บาท และราคาไก่เนื้อชำแหละ กก.ละ 65- 70 บาท “ขยับขึ้นเล็กน้อย” เพราะปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อยังสูงใกล้เคียงกับปีก่อนถึงสัปดาห์ละ 32-34 ล้านตัว แต่คาดว่าเทศกาลตรุษจีนนี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตจะขยับขึ้นอีก กก.ละ 1-2 บาท และในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าที่สภาพอากาศจะร้อนขึ้น ไก่จะเติบโตช้าลงและเกิดความเสียหายเพิ่ม ราคาไก่เนื้อจะมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตลาดส่งออกไก่เนื้อไทยยังดีอยู่

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทชำแหละไก่ขายในประเทศ วันละ 6 หมื่นตัว มีฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์ไก่เนื้อที่ชลบุรี และมีระบบคอนแทร็กต์ไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0