โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รับ“ลอยอังคาร” กำไรไม่มาก แต่อานิสงส์แรง ส่งวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองฯ รุ่งเรือง

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 15 มิ.ย. 2562 เวลา 09.58 น. • เผยแพร่ 15 มิ.ย. 2562 เวลา 09.58 น.
loy-angkarn

รับ “ลอยอังคาร” กำไรไม่มาก แต่อานิสงส์แรง ส่งวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองฯ รุ่งเรือง

คุณถิรดา เอกแก้วนำชัย หัวหน้าวิสาหกิจชุมชน บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ซึ่งเกริ่นแนะนำในตอนต้น อนุญาตให้เรียกแบบกันเองว่า “คุณเล็ก” กรุณาสละเวลาดูแลกิจการโฮมสเตย์ มานั่งพูดคุยด้วยช่วงสายๆ ของวันทำงาน โดยเริ่มต้นให้ฟังว่า ดั้งเดิมเธอเป็นคนอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แต่มาตั้งรกรากที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตามผู้เป็นสามี ก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าและเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า-ซ่อมนาฬิกา ในกรุงเทพฯ อยู่นับสิบปี

ครั้นลูกเต้าเติบโตกันหมด จึงอยากกลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด แต่หากให้อยู่กับต้นมะพร้าวในสวนเพียงอย่างเดียวคงเหงาแย่ จึงมองหาธุรกิจอะไรที่ทำอยู่กับบ้านได้ โดยมีลูกค้ามาเยี่ยมเยือนเป็นระยะ กระทั่งมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้ตัวอย่างการจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ของ กำนันธวัช บุญพัด แห่งบ้านปลายโพงพาง อำเภออัมพวา

เธอจึงเกิดความคิดว่า ต้นทุนด้านพื้นที่ซึ่งมีอยู่นั้นน่าจะทำกิจการโฮมสเตย์ได้เหมือนกัน ในราวปี 2545 บ้านพักบนเนื้อที่เกือบ 10 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ติดริมคลองผีหลอก จึงถูกดัดแปลงให้เป็นโฮมสเตย์ เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวมาพักผ่อน

ดำเนินการกิจการไปได้ไม่นาน ด้วยความที่ไม่ชอบหยุดนิ่ง จึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานขายสินค้าโอท็อป ทำให้เริ่มรู้จักหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายสังกัด จนเกิดความคิดในการทำธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่งว่า ถ้าจะทำงานอะไร ต้องคำนึงถึงคนรอบข้างให้มากด้วย

“ตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า จะทำความดีให้แผ่นดิน เมื่อตัวเรามีรายได้ ควรกระจายรายได้ให้เพื่อนรอบตัวด้วย พวกเขาจะได้ไม่ละทิ้งถิ่น เพราะเดี๋ยวนี้ หันไปทางไหน เห็นแต่คนแก่เฝ้าบ้าน คนหนุ่มสาวไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรมกันหมด เลยรวมตัวกับคนในชุมชนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรผ่านรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา” คุณเล็ก ย้อนที่มาให้ฟัง

นับแต่นั้นกิจกรรมผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในนามวิสาหกิจชุมชน บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ดำเนินมาด้วยดีแต่ไม่หวือหวาอะไร อยู่ได้ 3 ปีเศษ คุณเล็ก จึงมีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการทำวิจัยเกี่ยวกับการหาศักยภาพของลุ่มแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ซึ่งในจังหวะนี้เอง ทาง อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการชื่อดัง ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าว ได้เสนอความเห็นขึ้นว่า เรือนำนักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนนั้น มักว่างกันมากช่วงเวลากลางวัน จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้จากทางอื่นได้ด้วย

“ตอนที่อาจารย์แก้วสรร เสนอความเห็นนี้ขึ้นมา ทุกคนในทีมวิจัยเห็นด้วยกันหมด ท่านจึงแนะนำต่ออีกว่า ความงดงามของสมุทรสงคราม คือ มีความเป็นคลอง เป็นแม่น้ำ และมีทางออกไปสู่ปากอ่าวทะเล เป็นสถานที่ที่ท่านชอบมาก และเคยนำอังคารคุณพ่อของท่านมาลอยก่อนหน้านี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทำเรื่องลอยอังคารกันดู ซึ่งหลายคนเห็นด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าจะไปเรียนรู้ต้นแบบกันจากไหน” คุณเล็ก เล่า

เจ้าของเรื่องราว เล่าต่อว่า หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่ของเธอมีอันต้องมาจากไป และด้วยที่น้องชายรับราชการเป็นทหารเรือ ในการทำพิธีลอยอังคารคุณแม่ของเธอจึงได้ไปลงเรือที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเธอเกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก จึงเข้าไปขอถอดบทเรียนมาเป็นแบบอย่าง เพื่อเสริมเป็นหนึ่งในกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนฯ ที่ดูแลอยู่ ซึ่งทางต้นแบบพิธีที่สัตหีบ ยินดีถ่ายทอดให้ทุกขั้นตอน

เมื่อมีความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาอยู่แล้ว มาถึงขั้นตอนของการทำประชาสัมพันธ์ จึงเริ่มต้นด้วยการทำแผ่นพับบ่งบอกถึงรายละเอียด ก่อนนำไปฝากวางไว้ตามวัดใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ โดยมีทีมวิจัยซึ่งอาจารย์แก้วสรร เป็นที่ปรึกษาอยู่นั้น ทำหน้าที่ประสานงานให้

คุณเล็ก เล่าต่อ จากนั้นไม่นาน มีลูกค้าติดต่อขอใช้บริการ ซึ่งในการทดลองทำช่วงแรก ได้รับเกียรติจาก อาจารย์สมพร เกตุแก้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านประวัติศาสตร์ เข้ามาเป็นผู้ทำพิธีให้ ทำไปได้ไม่นาน มีลูกค้าทยอยติดต่อเข้ามาไม่ขาดสาย จึงต้องมีการถ่ายทอดวิชาการทำพิธี ให้กับผู้มีความเหมาะสมท่านอื่นด้วย เพื่อหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป ไม่ให้งานไปตกหนักเพียงคนใดคนหนึ่ง

“วิสาหกิจชุมชนฯ ของเรา รับทำพิธีลอยอังคารมาตั้งแต่ปี 2549 ช่วงแรกมีเจ้าภาพมาใช้บริการกันน้อย แต่แทบทุกคนเมื่อมาใช้บริการแล้วรู้สึกประทับใจ จึงมีการบอกต่อกัน และแทบไม่น่าเชื่อ หลังจากที่เข้ามารับทำพิธีลอยอังคารนี้ ไม่นาน ส่งผลให้งานอื่นๆ จากที่ยังเตาะแตะ ไม่มีใครอุปถัมภ์ กลับดีขึ้นผิดหูผิดตา คิดอะไรสำเร็จไปหมด ทำให้ทุกวันนี้วิสาหกิจชุมชนฯ ของเราเติบโตขึ้นมาก” คุณเล็ก บอกจริงจัง

ถามไถ่ถึงรูปแบบการจัดการการรับทำพิธีลอยอังคาร คุณเล็ก อธิบายให้ฟังว่า หลังจากสร้างทีมงานในการทำพิธี ซึ่งประกอบด้วย เจ้าพิธีและผู้ช่วย ไว้ได้ 1 ชุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ เปิดรับทีมเรือที่จะเข้าร่วม ซึ่งเป็นเรือรับนักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน ปัจจุบันมีสมาชิกเรือหมุนเวียนมาให้บริการอยู่ราว 5-6 ลำ

คุณเล็ก เล่าต่อ เมื่อมีเจ้าภาพติดต่อเข้ามา เธอจะทำหน้าที่ประสานกับสมาชิกในวิสาหกิจชุมชนฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ยังมีเรี่ยวแรงและมีใจ ให้มาช่วยกันทำขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมต้ม ขนมใส่ไส้ รวมทั้งต้มน้ำสมุนไพร ไว้คอยบริการในเรือ เนื่องจากการเดินทางไป-กลับนั้น ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเศษ คณะเจ้าภาพ อาจเกิดความหิวหรือกระหายกันได้

นอกจากนั้น เธอยังรับหน้าที่รับจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีทุกอย่าง อันได้แก่ เครื่องไหว้แม่ย่านางเรือ 1 ชุด กระทง 7 สี ไหว้แม่คงคา ท่านท้าวศรีสันดร ธูป เทียน สายสิญจน์ น้ำอบ พานพุ่ม กลีบดอกไม้โปรย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องประกอบเหล่านี้ โดยเฉพาะดอกไม้สดนั้น นับว่าแพงที่สุด มีการตั้งงบฯ ไว้ถึงครั้งละ 450 บาท

“งบฯ 450 บาท สำหรับดอกไม้สด บางครั้งไม่พอ เพราะกระทงหนึ่งใบร้อยกว่าบาทแล้ว ที่ผ่านมาสมาชิกในกลุ่มถามว่าทำไมต้องตั้งงบฯ ตรงนี้ไว้มากนัก จึงให้เหตุผลว่า มันเป็นเอกลักษณ์ ถ้าเราทำสวยคนเห็นแล้วสบายใจ เจ้าภาพมีความสุข ไม่อยากทำแบบขอไปที ชีวิตเขา ชีวิตเรา ทุกคนต้องการความสมบูรณ์แบบกันทุกคน” คุณเล็ก บอกอย่างนั้น

สนทนามาถึงตรงนี้ มีคำถามในความเป็นธุรกิจ การรับทำพิธีลอยอังคารนี้ มีกำไรมากน้อยแค่ไหน คุณเล็ก ตอบตรงๆ

“จริงๆ ไม่มีหรอก อย่างมากก็ได้จากค่าบริหารจัดการครั้งละ 100 บาท ยกตัวอย่าง ค่าบริการเรือรองรับ สำหรับ 30 คน เรารับงานในอัตรา 3,900 บาท แบ่งเป็นค่าจ้างเรือ 2,000 บาท ที่เหลือ 1,900 บาท เป็นค่าแรงเจ้าพิธีกับผู้ช่วยรวม 500 บาท ไหนจะค่าขนม ค่าน้ำสมุนไพร ค่าเครื่องประกอบ กำไรเป็นตัวเงินแทบไม่เหลือ มีแต่กำไรในแง่สร้างงานให้คนในชุมชน”

“อย่างคุณลุงท่านหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำพิธี อายุ 70 กว่าปีแล้ว ถ้าพูดกันจริงๆ ท่านคงไม่มีงานอะไรให้ทำมีเงินขนาดนี้ แต่พอให้ไปลงเรือทำพิธี ท่านมีความสุข มีรายได้ ส่งลูกเรียนปริญญาตรีอีกคนได้ แถมล่าสุดบอกจะเก็บเงินไว้บวชลูกชาย” เจ้าของเรื่องราว เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

รับทำพิธีลอยอังคารมานานหลายปีแล้ว เชื่อว่าต้องมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย คุณเล็ก ถอนหายใจเบาๆ ก่อนเล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันกับเจ้าภาพ เนื่องจากก่อนหน้านี้หากมีใครติดต่อเข้ามา เธอจะไม่เรียกเก็บเงินมัดจำล่วงหน้า เพราะคิดว่าไม่ได้ทำเป็นธุรกิจเต็มตัว จึงอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่นั่นกลับกลายเป็นสาเหตุของปัญหาที่ตามมา

“เคยมีเจ้าภาพบางรายจองมา ทางเราจัดเตรียมของไว้หมดแล้ว ระหว่างทางเขาไปเจอวัดแห่งหนึ่งรับลอยอังคารเหมือนกัน แต่ราคาถูกกว่า เขาไปกับวัดนั้นเลย พอถามไป เขาบอกว่าของเราแพง เราได้แต่ยอมรับและจำเป็นบทเรียน ต่อมาจึงต้องขอให้มีการโอนเงินกันมาก่อน” คุณเล็ก เล่ายิ้มๆ

ก่อนเผยให้ฟัง นอกจากนี้ เคยมีเจ้าภาพไม่พอใจ เรื่องขนาดของเรือ ทั้งๆ ที่มีการทำความเข้าใจกันก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าราคาเท่านี้จะได้เรือแบบไหน แต่พอถึงหน้างานจริงๆ ยังไม่พอใจอยู่ดี

การจัดการคิวเรือ นับเป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณเล็ก เล่าว่า เรือที่เข้าเป็นสมาชิก เป็นเรือที่รับนักท่องเที่ยวด้วย หากเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อาจมีลูกค้ากลุ่มนี้แทรกเข้ามา ฉะนั้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการรับงานซ้อน เรือกลับมาไม่ทัน ทำให้เจ้าภาพลอยอังคาร ต้องรอนานเลยเวลาที่นัดหมายกันไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกันไปหมด

คุณเล็ก เล่าด้วยว่า เรื่องคนทำพิธี เคยมีปัญหาอยู่เหมือนกันคือ ก่อนหน้านี้มีการถ่ายทอดรูปแบบการทำพิธีไว้ในทิศทางเดียวกันแล้ว แต่บางคนทำไม่ได้ กลับไปทำตามแนวที่ตัวเองถนัด ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่กำหนดไว้ จึงต้องมาพูดคุยกันใหม่ โดยมีการสั่งห้ามเด็ดขาด ในเรื่องเรียกร้องทิปจากเจ้าภาพ และหากเจ้าภาพจะแวะรับประทานข้าวต้องจอดให้ ทีมงานทำได้แค่แนะนำร้านไหนน่าสนใจ แต่ไม่มีการบังคับกันว่าต้องรับประทานที่ร้านนั้นร้านนี้เท่านั้น

ก่อนจากกันไป ถามไถ่ถึงความตั้งใจกับงานนี้ คุณเล็กยิ้มกว้าง ก่อนบอก อยากให้ประเพณีดีๆ อย่างนี้มีคนสืบทอด จึงยินดีที่จะถ่ายทอดบทเรียนให้กับผู้ต้องการเรียนรู้บ้าง และตั้งใจไว้ว่าจะช่วยกันทำไปจนกว่าจะไม่มีแรงทำต่อ

“ตอนที่เปิดรับทำพิธีลอยอังคารในปีแรก ยังไม่ค่อยเห็นมีใครทำ แต่ระยะต่อมาทราบว่าเริ่มทำกันมากขึ้น ตามแบบที่ตนเองถนัด แสดงให้เห็นว่าถ้าจะมองในแง่ธุรกิจ คงเป็นธุรกิจที่เริ่มมีการแข่งขันกันสูง ฉะนั้น หากกลุ่มใดต้องการทำบ้าง ยินดีถ่ายทอดให้ ที่เหลือคงต้องดูความตั้งใจในการให้บริการว่าใครจะมีมากกว่ากัน” คุณเล็ก ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

วิสาหกิจชุมชน บ้านริมคลองโฮมสเตย์ รับทำพิธีลอยอังคารแม่กลอง หวังสืบสานประเพณีไทยให้คงอยู่ตลอดไป ค่าบริการเริ่มต้น 2,500, 3,900, 4,900 บาท แล้วแต่ขนาดของเรือ แต่เรือทุกขนาดมีระบบรักษาความปลอดภัย มีเสื้อชูชีพบริการอย่างเพียงพอ

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณถิรดา เอกแก้วนำชัย เลขที่ 43/1 หมู่ 6 ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 75000 โทรศัพท์ (034) 725-775, (089) 170-2904 เว็บไซต์ www.baanrimklong.net และ Facebook/BannrimklongHomestay

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0