โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รับอารมณ์ลูกค้า แก้งานถี่ยิบ คิดไอเดียไม่ได้ : น้ำตาจากชีวิตสุดกดดันของคนทำงานเอเจนซี่

The MATTER

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 09.28 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 09.16 น. • Pulse

“เชื่อไหมว่า บางครั้งเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของเดดไลน์”

นักโฆษณาคนหนึ่งเอ่ยขึ้นถามกลางวงสนทนา ระหว่างที่เรากำลังดื่มฉลองกันในคืนศุกร์

ประโยคทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในแทบทุกคืนวันศุกร์แห่งชาติ—คืนวันท้ายสัปดาห์ทำงาน ที่พวกเราได้มีเวลาแข่งขันกันเล่าว่า ชีวิตตอนนี้พุพังกันแค่ไหนแล้ว ฟังดูแล้วก็เป็นบทสนทนาที่ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์เท่าไหร่ หากแต่มันก็เป็นโอกาสสำคัญแม้จะเป็นแค่ไม่กี่ชั่วโมง ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราจะหยิบแผลในชีวิตมาพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ

เช่นเดียวกับเรื่องราวในคืนนี้

“เมื่อกี้ก่อนกลับจากออฟฟิศ เราเดินไปยื่นใบลาออกให้กับหัวหน้า เขายื่นเอกสารกลับมาให้เราแล้วพูดว่า อย่าเพิ่งพูดเรื่องลาออกตอนนี้ ทำงานให้เสร็จก่อนเดดไลน์พรุ่งนี้แล้วค่อยมาว่ากัน” มิตรสหายอธิบายก่อนจะย้ำให้ฟังอีกทีว่า ขนาดอยากจะยื่นลาออก ยังต้องทำหลังเดดไลน์เลย

เมื่อพูดจบน้ำตาไหลของเขาก็ไหลลงจากแก้ม ค่อยๆ ร่วงหล่นลงในแก้วตรงหน้า ราวกับฉากในหนังดราม่าที่ถูกเซ็ตซีนมาไว้แล้ว

นี่คือเรื่องราวในคืนหนึ่งกับเพื่อนสนิทผู้ทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งทำให้เรานึกสงสัยว่า ชีวิตคนเอเจนซี่ต้องเจอกับความกดดันแบบไหน? อะไรทำให้พวกเขาสามารถเสียน้ำตาได้เช่นนี้นะ?

ชีวิตคนเอเจนซี่ ความกดดัน และน้ำตา

ก่อนจะเข้าประเด็นกัน อาจจะต้องอธิบายกันสักนิดว่า ในบทความที่เราจะขอพูดถึงคนทำงานสายเอเจนซี่โฆษณานั้น จะแบ่งบุคคลเป็น 2 ฝั่งใหญ่ๆ โดยฝั่งแรกคือสาย Client service เช่น AE ซึ่งทำงานประสานงานกับลูกค้าและทีมภายใน กับอีกฝั่งคือสาย Creative ที่คิดไอเดียต่างๆ เพื่อให้ AE (Account Executive) นำไปขายลูกค้าอีกทีหนึ่ง

เริ่มกันที่ฝั่ง AE กันก่อน ความกดดันหลักๆ ที่ผู้คนสายนี้ต้องเจอ คือการทำหน้าที่เป็น ‘คนกลาง’ ระหว่างลูกค้าและทีมงานภายในเอเจนซีอีกทีหนึ่ง ซึ่งด้วยหน้าที่แบบนี้แหละ ทำให้ต้องแบกรับความกดดันอย่างมหาศาล วันไหนต้องออกไปขายงานก็ต้องขายให้ได้ ปิดงานให้จบ หรือถ้ามีฟีดแบคจากลูกค้า ก็ต้องสรุปให้ชัดเจนเพื่อนำมาพูดคุยกับครีเอทีฟภายในเพื่อแก้ไขงานกันอีกที

“เราร้องไห้ครั้งแรก ตอนที่โดนลูกค้าด่าว่าคิดงานแย่ๆ แบบนี้มาขายได้ยังไง” AE ประจำเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิทเล่าให้ฟัง “ใจนึงเราก็ไม่รู้สึกว่ามันแฟร์เท่าไหร่ ทุกคนในทีมทำงานหนัก อดหลับอดนอน มี Planner มาช่วยวิเคราะห์บรีฟอย่างหนักๆ และทำให้มันตรงโจทย์และฟีดแบคของลูกมากๆ แล้ว

“ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ชัดมากๆ ตอนออกจากออฟฟิศลูกค้า เรากลั้นน้ำตามาตลอดจนถึงขึ้นรถ พอขับออกไปได้เท่านั้นแหละ ร้องไห้ไปตลอดทางเลย ตอนนั้นคิดว่าต้องร้องให้พอ เพื่อให้ความกดดันมันหายไป เพราะต้องกลับมาแก้งานกับครีเอทีฟต่อให้เสร็จ เราจะให้คนในออฟฟิศเห็นสภาพพังๆ ของเราไม่ได้ เดี๋ยวใจเสียกันไปใหญ่”

ไม่เพียงแค่ความกดดันที่ต้องรับฟีดแบคจากลูกค้าเท่านั้น ที่ทำให้ AE หลายคนต้องร้องไห้ หลายครั้ง การทำงานภายในบริษัทเอง โดยเฉพาะการทำข้อคิดเห็นที่ต้องแก้ไขมาบอกต่อกับทีม มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในได้ด้วยเหมือนกัน

“คนเป็น AE กดดันทั้งภายในและภายนอก ส่วนใหญ่กดดันเพราะคอนโทรลลูกค้าไม่ได้” อดีต AE คนหนึ่งที่ผันตัวไปเป็นฝ่ายการตลาดเล่าให้เราฟัง

แล้วเคยร้องไห้เพราะงานนี้รึเปล่า เราถามเธอต่อด้วยความอยากรู้

“ใกล้เคียงสุดที่น้ำตาปริ่มๆ คือตอนเริ่มงานใหม่ๆ แล้วต้องคุยกับครีเอทีฟรุ่นใหญ่ของบริษัท เราเอางานไปบอกเค้าว่าลูกค้าอยากให้แก้อะไรบ้าง เค้าตอบกลับมาว่า ไม่แก้ แก้ทำไม งานมันดีอยู่แล้ว ตอนนั้นน้ำตามันจะไหลเพราะมันกดดันมากๆ เพราะงานนี้ถ้าครีเอทีฟไม่ยอมแก้ เราก็ขายงานกลับไปไม่ทัน เงื่อนเวลาของงานทั้งโปรเจ็กต์มันก็ต้องเลื่อนออกไปอีก ตอนนั้นเหมือนเราโดนครีเอทีฟรับน้องแหละ เพราะตอนนั้นเราก็เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆ”

ทั้งสองคนที่เราคุยด้วย บอกตรงกันว่า น้ำตาที่เกิดขึ้นกับ AE โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากความกดดันจากทุกสิ่งที่อยู่รอบข้าง ทั้งความกดดันจากความคาดหวังของลูกค้า เช่นเดียวกับความคาดหวังที่ต้องไปประสานงาน ในฐานะตัวแทนหรือด่านหน้าของเอเจนซี่

“คนที่จะโดนลูกค้าด่าเป็นคนแรกก็คือ AE นี่แหละ” คือคำยืนยันจากมนุษย์เอเจนซี่ “แต่ถ้าผ่านและรับมือได้เก่งขึ้นเมื่อไหร่ ชีวิตนี้ก็แข็งแกร่งขึ้นหลายเท่าเลย”

ตัดภาพมาที่ทางมนุษย์ฝั่งครีเอทีฟกันบ้าง น้ำตาของพวกเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลย ครีเอทีฟประจำคอนเทนต์เอเจนซี่บอกถึงประสบการณ์ร้องไห้ครั้งแรกจากงานที่รัก

“น่าจะตอนต้องส่งไอเดียงานอะไรสักอย่าง แล้วมันต้องรีเสิร์ชเยอะมาก มันเป็นเรื่องที่เราไม่รู้อ่ะ ก็เลยไม่รู้จะหยิบตรงไหนมาเล่าดี มัน lost กับข้อมูลมั้ง แล้วก็แบบคอนเทนต์มันมีคนทำเยอะมากแล้วจะทำไงให้แตกต่างตอนนั้นก็คิดหนัก เราก็เลยร้องไห้ออกมา”

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็รู้สึกว่าการร้องไห้มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน “มันทำให้หายเครียดค่ะ พอหายเครียดหายกดดันเราก็คิดออก”

ขณะที่อาร์ตไดเรกเตอร์วัยกลางคน ทำงานประจำเอเจนซี่ชื่อดังจากต่างชาติ เล่าว่า เขาก็เคยมีประสบการณ์ร้องไห้ในที่ทำงานเหมือนกัน มันเกิดในช่วงเวลาที่เขาและทีมเพิ่งพลาดจากการรับงานใหญ่ งานที่เขาเชื่อว่ามันน่าจะสร้างโปรไฟล์ให้กับบริษัทได้

“เราคาดหวังกับการ pitch งานครั้งนั้นมาก ทุ่มสุดตัวและมั่นใจว่า ต้องชนะคู่แข่งแน่ๆ แต่ด้วยอีโก้ของตัวเราเอง มันเลยทำให้งานทุกอย่างเป็นงานของเรา ไม่ใช่งานของทีม สุดท้ายก็แพ้คู่แข่งไปเพราะงานเขากลมมากกว่า

“เราไม่เคยร้องไห้เพราะการทำงานเลย แต่คราวนั้นมันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ผ่านมาพอรับความกดดันต่างๆ ได้อยู่นะ แต่ความผิดพลาดครั้งนั้น มันทำให้รู้ว่าคือเรายึดติดกับความคิดตัวเองมาโดยตลอด รู้ได้ก็เพราะมีคนเดินมาบอกตรงๆ ว่าเราต้องลดอัตตาลงบ้าง ทำงานเอเจนซี่มันต้องทำเป็นทีมถึงไปด้วยกันได้”

เมื่อชาวเอเจนซี่ต้องรับมือกับความกดดัน

เมื่อไม่นานมานี้ มีเรื่องราวของ กอล์ฟ—นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว อดีตครีเอทีฟมือรางวัลคานส์ ที่ถูกพูดถึงมากๆ บนโลกออนไลน์ เขาเป็นคนทำเพจชื่อว่า ‘เมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์’ เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาเคยเผชิญมา

นี่คือบางส่วนที่เขาเล่าไว้ผ่านทางเพจนั้น

“ที่น่าตลกปนเศร้าคือ ตั้งแต่ผมรู้ว่าผมรักงานโฆษณา ผมก็ทำงานรับใช้อัตตามาโดยตลอด ไม่ใช่ทำเพราะเงินเดือน ผมหลอกตัวเองและเรียกมันให้เพราะขึ้นด้วยคำว่า ‘passion’ ผมยอมนอนดึกหลายคืน บางทีทำงานตลอดวันเสาร์อาทิตย์ รับใช้มันอย่างซื่อสัตย์ เครียดจนสมองเจ๊งบ๊ง จนกลายเป็นซึมเศร้า”

ส่วน ระเบิด—ธนสรณ์ เจนการกิจ” ECD แห่งเอเจนซี่ดังอย่าง CJ Worx ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ iameverything ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว เขาบอกถึงวิธีจัดการกับความกดดัน และภาวะคิดงานไม่ออกที่ครีเอทีฟจำนวนไม่น้อยต้องเจอว่า

“ทำงานครีเอทีฟมันหมดสิทธิ์ที่จะคิดไม่ออกอยู่แล้ว แต่มันก็มีวิธีพักสมองบ้างแหละ คนประเภทอย่างเรามันหยุดคิดไม่ได้หรอก แต่ว่ามันสามารถเปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่นได้ บางทีในหัวมันจะคิดไปเรื่อยๆ โปรเจ็กต์นี้ โปรเจ็กต์นั้น คิดตลอดเวลา

“วิธีแก้ของเราก็คือ ไปทำอย่างอื่นซะ เพื่อให้สมองมันไปคิดเรื่องอื่น เหมือนเราตึงกับเรื่องนี้ เราโฟกัสกับมันมากเกินไป จนทำให้เรามองไม่เห็นรอบๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องถอยออกมา พอเรา Zoom out ออกมา เราก็จะเห็นบริบทรวมๆ เห็นเรื่องอื่นๆ มันก็จะทำให้เราสบายขึ้น บางทีเรารู้สึกว่าเราแบกรับหลายๆ อย่าง พอเราวางมันลงมันก็สบายขึ้น เราก็จะเห็นพื้นที่ในการให้คิดมากขึ้น ความตึงเครียดมันก็จะน้อยลง”

เอเจนซี่ในสหรัฐฯ เพิ่มพื้นที่ให้กับการร้องไห้ในบริษัท

เมื่อปัญหาภาวะเครียดและกดดัน น่าจะเป็นเรื่องที่คนเอเจนซี่หลายประเทศต้องเจอ มีตัวอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นใน Vayner Media ซึ่งเป็นดิจิทัลเอเจนซี่ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ

ที่นั่นได้มีพื้นที่ให้พนักงาน ได้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ สามารถตัดขาดตัวเองจากภาระงานที่ทำอยู่ชั่วคราว บ้างก็สามารถใช้ที่ตรงนั้น ‘นั่งสมาธิ’ รวมถึงใช้เป็นพื้นที่สำหรับการร้องไห้ (Cry closet) ของพนักงานได้อีกด้วย

เว็บไซต์ Digiday ได้สำรวจสุขภาวะทางจิตของคนทำงานเอเจนซี่ในสหรัฐฯ จำนวน 446 แห่ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 32 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขาคิดและเป็นกังวลกับปัญหาด้าน Mental health โดยกลุ่มที่รู้สึกว่าเป็นกังวลมากที่สุด คือคนที่ทำงานระหว่าง 50-59 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

Digiday วิเคราะห์ด้วยว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาภาวะจิตใจของเอเจนซี่ คือการ Burn out เพราะคิดว่าตัวเองไม่สามารถหยุดทำงานได้ ต้องต่อสู้กับความคิดเรื่องต้องสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ตลอดจนปัจจัยเรื่องการเงิน ที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะหยุดพัก

เมื่อการหยุดพักเกิดขึ้นได้ยากด้วยเนื้องานและความจำเป็นอื่นๆ ภาวะจิตใจก็ไม่ได้พักตาม ซ้ำร้ายยังอาจจะย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม ด้วยจำนวนงานที่เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย น้ำตาของคนเอเจนซี่จึงเกี่ยวพันกับทั้งเรื่องส่วนบุคคล ความคิดความเชื่อ ตลอดจนนโยบายการทำงานของบริษัท

Stephanie Redlener จากบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจในสหรัฐฯ บอกว่านี่คือ ภัยเงียบที่กำลังทำร้ายสังคมคนทำงานเอเจนซี่อยู่ทุกวัน และมันจะยังคงเป็นเช่นนี้และทำร้ายวงการเอเจนซี่ต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ญี่ปุ่น : น้ำตาและความเครียดของคนเอเจนซี่ กลายเป็นวาระแห่งชาติ

ปัญหาเรื่องการทำงานหนักมากเกินไป จนกลายเป็นความกดดันที่ต้องแบกรับจนล้นเกินไม่ได้มีแค่กับเหล่าคนเอเจนซี่ในไทย ช่วงที่ผ่านมา เราก็จะได้เห็นข่าวที่คนทำงานเอเจนซี่ต้องเสียชีวิตเพราะการทำงานหนักหลายเคส

เคสที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก คือกรณีที่พนักงานบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพราะถูกกดดันจากการทำงานหนักมากเกินไป ข่าวนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 ก่อนที่รัฐบาลจะต้องหาวิธีรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง และออกเป็นนโยบายต่างๆ มากมายในเวลาต่อมา เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอีก

ตัวอย่างนโยบายที่ออกมาจากภาครัฐญี่ปุ่น เช่น จำกัดช่วงเวลาการทำงานอย่างจริงจังในวันศุกร์ และการหามาตรการควบคุมบริษัทที่เจ้านายใช้อำนาจจนเกินควร หรือที่เรียกว่า Power Harrasment เพื่อบังคับให้พนักงานต้องทำงานหนักอย่างบ้าคลั่งจนสุขภาพร่างกาย และจิตใจพุพัง

สำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตใจคนทำงานเอเจนซี่ มักจะเป็นประเด็นการพูดถึงกันในแวดวงเฉพาะของคนทำงานด้านนี้อยู่บ่อยๆ ครั้ง หรือไม่ก็เป็นเพจต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่มักมีคอนเทนต์เชิงระบายความในใจของปัญหาที่ต้องเจอในแต่ละวัน

แม้จะถูกมองว่าเป็นแค่การบ่น แต่สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ เมื่อการบ่นเล่านั้นถูกพูดซ้ำๆ หรือวนกลับมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ นั่นก็หมายความว่า ปัญหาที่ผู้คนในแวดวงนี้ต้องเจอ มันไม่ได้หายไปไหนรึเปล่า?

และอาจจะแปลว่า พวกเขาก็ยังคงต้องหาวิธีช่วยกัน ‘เอาตัวรอด’ จากเดดไลน์ด้วยสภาพจิตใจที่สุดบอบช้ำกันต่อไป

Illustration by Waragon Keeranan

อ้างอิงจาก

https://www.theguardian.com/world/2017/oct/05/japanese-woman-dies-overwork-159-hours-overtime

https://digiday.com/marketing/crisis-boiling-surface-burnout-growing-problem-inside-agencies/

https://www.adweek.com/brand-marketing/theres-no-crying-advertising-95636/

https://www.iameverything.co/contents/creativepeopleinterviewrabthanasorn

https://www.facebook.com/WhenCreativeMeetJittapat/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0