โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รับมือ "ปัญหาค่าครองชีพ" ช่วยชาวบ้านยุคโควิด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 10.33 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 10.32 น.
ชั้น 5

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

ในภาวะวิกฤตการระบาดของโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวันจะลำบากขึ้นเท่านั้น แต่ภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภาวะคับขันเช่นนี้ มาตรการดูแลค่าครองชีพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

โดยเป้าหมายที่ผู้บริโภคต้องการเห็น คือ “สินค้าจำเป็นต้องมีปริมาณเพียงพอ และอยู่ในราคาสมเหตุสมผล”

แต่ที่ผ่านมา “หน้ากากอนามัย” เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการที่ล้มเหลวในความรู้สึกของประชาชน จากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดว่ากำลังการผลิตในประเทศที่ทำได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น หรือเดือนละ 36 ล้านชิ้น จะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการห้ามส่งออกพร้อมกับเร่งกำลังการผลิต

แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก 30-40 เป็น 100 ล้านชิ้นต่อเดือน ทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำยังมีการฉวยโอกาสกักตุนหน้ากาก และขายผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาสูงลิบลิ่ว

ส่วนการเพิ่มตัวช่วยเสริมอย่าง “หน้ากากผ้า” ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่หน้ากากอนามัยเป็นของจำเป็นชิ้นแรกที่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องได้รับ

พอจะหันมาหาตัวช่วย จากการขอนำเข้า “หน้ากากอนามัย” จากจีน (หลังจากจีนแก้ปัญหาโควิดไปได้ระดับหนึ่งแล้ว พร้อมจะส่งหน้ากากมาช่วยเสริมทัพ) แต่ก็ทำไม่ได้ นั่นเพราะ “ภาษีนำเข้าสูงถึง 40%” และเพิ่งจะมีการประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าเมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากที่ไทยเผชิญปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานนับเดือน

สะท้อนภาพการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าในช่วงวิกฤตแบบลูบหน้าปะจมูก ทำไปแก้ไป เป็นรายวัน

ล่าสุดการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ ก็กำลังเดินตามรอยการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยไปติด ๆ

เพราะเมื่อเกิดการกักตุน จากปริมาณความต้องการไข่ไก่เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่การผลิตยังทำได้เท่าเดิมวันละ40 ล้านฟอง ทำให้ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นไปแผงละ 10-60 บาท รัฐแก้ปัญหาด้วยการอุดช่องส่งออกทันที 7 วัน จากนั้นจึงขยายเป็น 30 วัน ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 ทั้งที่สัดส่วนการส่งออกเพียง 3% น้อยนิดมาก แถมยอดส่งออกก็ลดลงอีก เพราะตลาดส่งออกหลักฮ่องกง สิงคโปร์ ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด

ส่วนหน่วยงานที่กำกับดูแลต้นน้ำก็หันไปเพิ่มผลผลิตไข่ ด้วยการยืดอายุการใช้งาน แม่ไก่ยืนกรงให้ยาวนานขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าสุดท้ายหากปริมาณไข่ไก่ยังมีไม่เพียงพออีกก็คงต้องสั่งนำเข้าแม่ไก่ ?

แต่เรามีโปรตีนราคาถูกชนิดอื่นที่มาช่วยเสริมแทนไข่ได้หรือไม่

สิ่งที่จะชี้ให้เห็นทั้งหมดนี้สะท้อนภาพว่า การแก้ปัญหาราคาสินค้าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และไม่จบสิ้นเพียงแค่นี้แน่นอน เพราะจากนี้ไปความต้องการสินค้าจำเป็นมีแนวโน้มว่ามากขึ้น หรืออาจขาดตลาด หรือไม่ก็แพงขึ้น เพราะนึกภาพง่าย ๆ ว่า ทุกคนต้องอยู่บ้าน ต้องตุนอาหาร จังหวะนี้ตลาดเป็นของคนขาย ไม่ใช่คนซื้อ

และถึงแม้ว่าไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ชนิดที่เรียกว่าเป็น “ครัวโลก” แต่หากมีการแย่งชิงกันระหว่างตลาดภายในและตลาดส่งออก ก็มีโอกาสจะเห็นการชอร์ตซัพพลายได้เช่นกัน

เพราะอย่าลืมว่าปีนี้ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรต้องเผชิญภัยแล้ง ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 3 เดือนกว่าจะถึงหน้าฝน “ผลผลิตข้าวนาปรัง” รอบแรกที่เกี่ยวต้นปีเรียกว่าหายไปเลย ฉุดภาพรวมผลผลิตทั้งปีอาจจะมีเหลือเพียง 28 ล้านตัน จากที่เคยผลิตได้ 30-32 ล้านตัน หายไป 4 ล้านตัน

ส่วนผู้ส่งออกข้าวโลกรายอื่น ไล่เรียงจากอันดับ 1 อินเดียได้เบรกส่งออก ปิดประเทศ 3 สัปดาห์ ผู้ส่งออกอันดับ 3 อย่างเวียดนาม กำลังลังเลเตรียมชะลอส่งออก เหลือแต่เบอร์ 2 คือ ไทย ส่วนจีนผู้ครองสต๊อกข้าวโลกอันดับ 1 ปริมาณ 120 ล้านตัน นั้น หยุดส่งออกไปตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดแล้ว ซึ่งฟันธงได้เลยว่าปีนี้ คนไทยต้องกินข้าวถุงแพงแน่นอน แต่จะขาดแคลนหรือไม่ยังต้องลุ้นกัน ซึ่งนี่ยังไม่นับรวม“พืชเกษตรอื่น ๆ” ทั้งหมู ไก่ มันสำปะหลัง ที่นำไปผลิตแอลกอฮอล์ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ที่ใช้ในการผลิตอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ต้องหามาตุน

ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องทบทวนนโยบายและมาตรการดูแลราคาสินค้าให้ชัดเจน มุ่งเน้นจัดลำดับให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศก่อน บริหารจัดการให้เพียงพอ ดูแลราคาให้สมเหตุสมผล อย่าให้ปัญหาค่าครองชีพพุ่งมาซ้ำเติมประชาชนในยุคโควิดอีกเลย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0