โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รับมือดอกเบี้ยขึ้น

Money2Know

เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
รับมือดอกเบี้ยขึ้น

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้คณะกรรมการจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% แต่มติดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นเอกฉันท์แล้ว ยังมี “เสียง” ในฝั่งที่คิดว่า ควรจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กลายเป็นมติให้คงดอกเบี้ยด้วยคะแนน 5 ต่อ 2 เสียง

เป็นที่มาของการพาดหัวข่าวว่ากนง.เสียงแตกและเป็นที่มาให้ตีความกันว่าแบงก์ชาติคงใกล้จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้บ้างก็ว่าเร็วที่สุดก็ในการประชุมเดือนธันวาคมบ้างก็ว่าอาจจะยืดออกไปได้จนถึงต้นปีหน้าแต่ที่แน่ๆคือไม่ว่าจะสั้นหรือยาวปี2562 ที่กำลังจะมาถึงนั้นดอกเบี้ยขยับขึ้นแน่ๆแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะออกมาส่งสัญญาณถึงแบงก์ชาติเป็นระยะๆให้ดูจังหวะที่เหมาะสม

เพราะในภาวะที่ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกำลังค่อยๆลอยขึ้นข้างบนหลังจากต่ำเตี้ยเรี่ยดินมานานการขึ้นดอกเบี้ยซึ่งหมายถึงการขยับต้นทุนของทั้งธุรกิจและของทั้งประชาชนเพิ่มขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อที่รัฐบาลพยายามหาทางกระตุ้นอาจจะมีอาการคล้ายๆถูกขัดขาให้สะดุดเบาๆได้

แต่ดูเหมือนสัญญาณต่างๆจะบ่งชี้ไปในทางยื้อยากหรือยากจะยื้อดังนั้นการเตรียมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามโดยเฉพาะลูกหนี้และลูกหนี้ที่เป็นประชาชนหมู่มากที่จะได้รับผลกระทบเต็มใบ ก็คือ ลูกหนี้ผ่อนบ้าน

มีประเด็นที่น่าติดตามสำหรับเรื่องนี้เพราะในการประชุมกนง.รอบล่าสุดแบงก์ชาติแสดงความเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อบ้านที่มีการปล่อยกู้กันอย่างดุเดือดจนทำให้มาตรฐานการปล่อยกู้ไม่เข้มงวดโดยมีหลายๆสถาบันการเงินที่ให้กู้เกินกว่า 90% ของหลักประกันซึ่งสุ่มเสี่ยงกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

การมีบ้านเมื่อพร้อมหมายถึงคุณต้องมีเงินดาวน์ (จะผ่อนดาวน์หรือจะชำระทั้งก้อน) อย่างน้อย 10% หรืออย่างมาก 20% ของราคาบ้านซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาทควรมีเงินดาวน์ 1-2 แสนบาทและกู้แบงก์ 8-9 แสนบาทซื้อบ้านหลังละ 5   ล้านบาท ก็ควรมีเงินดาวน์ 5 แสนหรือ 1 ล้านบาท ที่เหลือ 80-90% ก็ใช้วงเงินสินเชื่อแบงก์

ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จำกันได้มั้ยคะว่าเรากู้ได้เท่าไหร่ตอนนั้นแบงก์พร้อมปล่อยกู้ 100% ค่ะแปลว่าเราไม่ต้องมีเงินเลยก็เป็นสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้และเมื่อเศรษฐกิจเกิดปัญหาเราจึงไม่มีภูมิต้านทานอะไรเหลือเป็นกำแพงให้พิงเลยขณะที่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ที่สหรัฐอเมริกาตอนนั้นแบงก์ไม่ได้ปล่อยกู้แค่ 100% ของราคาบ้านแต่ปล่อยให้ได้สูงถึง 110-120% ของราคาบ้านด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(กรณีซื้ออยู่เองไม่ได้เก็งกำไร) เราจัดให้เป็นสินเชื่อดีหรือหนี้ดีเพราะเป็นการก่อหนี้ที่นำมาซึ่งทรัพย์สินมีที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนแต่การลงทุนหรือการก่อหนี้ก็ต้องไม่เกินตัว

พอเห็นความกังวลของแบงก์ชาติเรื่องการปล่อยสินเชื่อหละหลวมเป็นระเบิดลูกที่หนึ่งกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นระเบิดลูกที่สองก็อดเป็นห่วง “ลูกหนี้” ที่ปกติความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับปริ่มน้ำไม่ได้

ทางที่ดีที่สุดคือควรซื้อบ้านเมื่อพร้อมจริงๆค่ะพร้อมทั้งเงินดาวน์พร้อมทั้งการเตรียมเงินผ่อนชำระสำรองไว้ให้ซัก 3-6 งวดอย่าคิดแบบเดือนชนเดือนเพราะในระหว่างเดือนนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเงินกับเราได้ที่สำคัญคือต้องมีเงินสำรองสำหรับการตกแต่งการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องอำนวยความสะดวกตามฐานะเพราะบ้านพร้อมอยู่ไม่ได้หมายถึง “พร้อมอยู่” เสมอไป

ส่วนคนที่มีฐานะเป็นลูกหนี้แล้วก็ต้องหาหนทางลดหนี้ด้วยการลดเงินต้นให้ได้มากที่สุดเพราะยิ่งเงินต้นเยอะดอกเบี้ยก็จะเยอะตามไปด้วยลองกลับไปเปิดใบเสร็จค่างวดผ่อนบ้านที่แบงก์ส่งมาให้ดูค่ะเห็นแล้วแทบตกเก้าอี้ว่าเงินค่างวดที่เราส่งไปนั้นเป็นการตัดเงินต้นแค่1 ใน4 เท่านั้นส่วนอีก3 ใน4 ของค่างวดนี่ดอกเบี้ยล้วนๆเลย

ตัวอย่างเช่น ยอดเงิน 1 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 6,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือนแรก จ่ายค่างวดรวมเป็นเงิน 72,000 บาท  จะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 49,500 บาท แล้วลดเงินต้นเพียง 22,500 บาทเท่านั้น

ผ่อนบ้านกันจนลูกบวชแล้วเงินต้นก็ยังไม่ยุบเลย

วิธีการ “ลดต้น” ยอดฮิตที่ขนาดเจ้าหนี้ยังแนะนำให้ทำ คือ ผ่อนมากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนด ไม่ต้องเพิ่มเยอะค่ะ แค่เพิ่มยอดผ่อน 10-20% ของยอดที่ผ่อนแต่ละเดือนเท่านั้น ก็จะเห็นผลอย่างมากแล้ว

บริการ K-Expert ของธนาคารกสิกรไทยลองทำสูตรคำนวณการผ่อนให้มากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนดให้ดูจะเห็นว่าถ้าคำนวณจากเงินกู้ซื้อบ้านวงเงิน 1 ล้านบาทกรณีผ่อนเพิ่ม 10% ตั้งแต่งวดแรกจะลดระยะเวลาผ่อนจาก 25  ปี เหลือเพียง 20 ปี และภาระดอกเบี้ยจ่ายลดจาก 711,000 มาเป็น 584,000 บาท ยิ่งผ่อนเพิ่ม 20%  ตั้งแต่งวดแรก จะลดระยะเวลาผ่อนเหลือ 17 ปี และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายเหลือประมาณ 497,000 บาท

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือหาเงินก้อนมาโปะหนี้โดยในช่วงแรกผ่อนปกติไปก่อนแต่พอถึงเดือนที่ 12 ให้เพิ่มเงินผ่อนอีก 4 เท่าของเงินปกติรวมเป็น 5 เท่าเช่นผ่อนเดือนละ 10,000 บาทใน 11 เดือนแรกพอเดือนที่ 12 ก็โปะเป็น 50,000 บาทแบบนี้ก็ลดต้นลดดอกได้เหมือนกันและถ้ายิ่งใช้สองวิธีรวมกันก็จะยิ่งลดได้มาก 

ผลกระทบจากดอกเบี้ยขึ้นเราโฟกัสที่คนกู้เงินซื้อบ้านเป็นหลักค่ะส่วนที่กู้บัตรเครดิตกู้บัตรเงินสดแบงก์ชาติมีเพดานควบคุมอยู่แล้วส่วนกู้นอกระบบนี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะเกินเลยจากคำว่าดอกเบี้ยขาขึ้นไปเยอะค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0