โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐส่งเสียให้เรียนจนเป็น “หมอ” แต่ทำไม “หมอ” ถึงไม่ยอมใช้ทุน?

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 18 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.

รัฐส่งเสียให้เรียนจนเป็น “หมอ” แต่ทำไม “หมอ” ถึงไม่ยอมใช้ทุน?

เป็นปัญหาที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยถกเถียงกันเป็นประจำหลายสิบปีแล้ว สำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ ที่เมื่อเรียนจบหลักสูตร 6 ปีจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว หลายคน “ไม่ยอม” ไปทำงานชดใช้ทุนในพื้นที่ห่างไกลหรือถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 2 ปี 

โดยครอบครัวไหนที่บ้านมีฐานะ ก็ยินยอมควักกระเป๋าชดใช้ทุนเป็นเงิน “4 แสนบาท” แทนการปล่อยให้ลูกหลานของตัวเองไปทำงานชดใช้ทุน สำหรับครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดี แต่หากว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนใดต้องการตัว ก็จะเสนอตัวชดใช้ทุนให้ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่ามหาวิทยาลัยรัฐจะพยายามผลิตแพทย์ออกมาปีละเท่าไหร่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงๆ 

สาเหตุที่ตัวนิสิตนักศึกษาแพทย์หรือครอบครัวยอมที่จะชดใช้ทุน ซึ่งเงินจำนวน “4 แสนบาท” ถือเป็น “ค่าปรับ” ที่ “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับการที่ไม่ต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล หลายคนอาจจะกลัวว่าต้องทำงานหนัก ต้องไปตกระกำลำบาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเหมือนโรงพยาบาลในเมือง เครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย ในบางพื้นที่อาจจะมีปัญหาด้านความปลอดภัยหรือเหตุความไม่สงบ และค่าตอบแทนน้อย แต่ถ้าได้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชน ดูเหมือนจะมีความราบรื่นและความสะดวกสบายกว่า อีกทั้ง “รายได้” ก็ยังมากกว่าอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งมีความจำเป็นและต้องการเข้าถึงการ “รักษา” จาก “หมอ” ก็ยิ่งถูกละเลยมากขึ้นไปอีก

ล่าสุด ที่ประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยปี 2561-2562 ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมติให้ผลิตแพทย์เพิ่มปีละ 3,000 คน ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2570 ตามที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เสนอ ตั้งเป้าหมายการผลิตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,200 คน โดยประมาณการว่าเมื่อถึงปี 2580 จะมีสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากรตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนงบประมาณทั้งโครงการ คาดว่าจะใช้กว่า 9 หมื่นล้านบาท ถือเป็นงบฯ จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาที่ผู้เรียนแพทย์ “เบี้ยว” สัญญา เพราะถูกกวาดไปยังภาคเอกชน โดยยอมจ่ายค่าปรับเพียง 4 แสนบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์ต่อหัวต่อคนตกอยู่ที่ 4.7 ล้านบาท

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จึงเสนอให้แก้ไขค่าปรับ หากผู้จบแพทย์ไม่ใช้ทุนรัฐบาล โดย “เพิ่ม” ค่าปรับจาก 4 แสนบาท เป็น “5 ล้านบาท” ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด สธ. ระบุว่า สธ. มีแนวคิดที่จะแก้ไขสัญญาเพื่อเพิ่มค่าปรับ เนื่องจากคำนวณจากค่าใช้จ่ายและฐานต้นทุนในการผลิตแพทย์แต่ละคน ตัวเลขอยู่ที่ 5 ล้านบาท โดยย้ำว่าการเพิ่มค่าปรับ “ไม่ใช่” เพราะต้องการเงิน แต่ต้องการให้มีแพทย์อยู่ในระบบ และมีจำนวนเพียงพอ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ สธ. มี ระบุว่าแต่ละปีมีแพทย์จับสลากเพื่อเลือกพื้นที่ไปใช้ทุนประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 20-30 คน เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องลงไปปฏิบัติงานใน “พื้นที่” ใด ก็ “ลาออก” ทันที ส่วนแพทย์ที่อยู่ใช้ทุนไม่ถึง 3 ปี และขอลาออก มีประมาณ 500-600 คนต่อปี เนื่องจากค่าปรับจากกรณีเบี้ยวสัญญาน้อยนิด แพทย์หลายๆ คนจึงยอมควักจ่ายทันทีเพื่อแลกกับการไม่ต้องใช้ทุน เป็นเหตุผลที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอให้เพิ่มค่าปรับหมอที่เบี้ยวชดใช้ทุน เป็นเงิน 5 ล้านบาท

แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุผลที่แพทย์เหล่านั้นไม่ยอมไปใช้ทุนในพื้นที่คือเรื่องเงินและเรื่องความสะดวกสบายจริงๆหรือ?  แพทย์หลายคนกล่าวว่าสาเหตุจริงๆแล้วของการเบี้ยวสัญญาไม่ยอมไปใช้ทุนนั้นคือเรื่องของระบบ โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 ที่งานจะหนักยิ่งกว่าเรียนหลายเท่า แทบจะไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน วันๆนึงเห็นก็แต่คนไข้ บางโรงพยาบาลจัดเวรให้กับแพทย์ที่มาใช้ทุนเต็มอัตรา จนแพทย์บางคนทนไม่ไหว ดูแลคนไข้ไม่ทัน บางวันก็ทำงานจนไม่มีแม้กระทั่งเวลาจะกินข้าว อีกทั้งแพทย์ที่อยู่ภายในโรงพยาบาลนั้นมีเพียงแพทย์ที่มาใช้ทุนเท่านั้นส่วนแพทย์รุ่นพี่ก็มักจะไปอยู่ตามคลินิก เวลามีปัญหาเมื่อโทรไปปรึกษาก็มักจะโดนแพทย์รุ่นพี่ต่อว่าด้วยอารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรงอยู่เสมอๆ 

เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะระบบที่ทำให้การกระจายแพทย์ไปตามโรงพยาบาลชุมชนนั้นไม่เป็นไปในทางที่ควร ทำให้แพทย์ที่ต้องไปใช้ทุนประจำโรงพยาบาลนั้นๆต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่า 4 เท่า อีกทั้งสวัสดิการที่ได้กลับมานั้นก็ไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่เสียไปได้เลย แพทย์บางคนทำงานต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 36 ชม. ร่างกายเหนื่อยล้า ทรุดโทรม ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาคนไข้ก็ยิ่งลดลง แบบนี้แล้วทั้งคนไข้และแพทย์เองก็มีแต่จะเสียกับเสีย 

เรามักจะได้ยินความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำนองที่ว่า “เป็นแพทย์ก็ต้องยอมเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนไข้ มิฉะนั้นแล้วจะมาเรียนแพทย์ทำไมกัน” ผ่านหูผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง แต่คำว่า “เสียสละ” นั้นต้องเสียสละถึงขั้นไหน แพทย์ต้องเสียสละจนต้องอดหลับอดนอน ทำงานหนักตลอด 24 ชม. จริงหรือ เพราะจริงๆแล้วแพทย์ก็เป็นคนปกติแบบเราๆ ต้องการเวลานอน เวลาพักผ่อนเหมือนกัน นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นิสิตนักศึกษาแพทย์จบใหม่ไม่อยากไปใช้ทุนตามโรงพยาบาลชนบทเสียมากกว่า หากภาครัฐมองเห็นถึงปัญหาตรงนี้แล้วมีการปรับแก้ระบบให้มีการกระจายแพทย์ไปยังโรงพยาบาลชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ภาระงานที่แพทย์ใช้ทุนแต่ละคนได้รับก็จะไม่หนักหนาจนเกินไป และปรับสวัสดิการให้เหมาะสม เชื่อว่านิสิตนักศึกษาแพทย์จบใหม่ทุกคนคงไม่อยากเบี้ยวสัญญาแน่นอน 

อ้างอิง

http://a.msn.com/01/th-th/AAzpEZ4?ocid=st

https://www.hfocus.org/content/2017/01/13315

https://www.dek-d.com/tcas/50054/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0