โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รัฐรับ 6.5 แสนล้าน ปตท.สผ.คว้าประมูล 'เอราวัณ-บงกช'

NATIONTV

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 08.01 น. • Nation TV
รัฐรับ 6.5 แสนล้าน ปตท.สผ.คว้าประมูล เอราวัณ-บงกช
รัฐรับ 6.5 แสนล้าน ปตท.สผ.คว้าประมูล เอราวัณ-บงกช

ครม.อนุมัติผลประมูลสัมปทานปิโตรเลียม โดยปตท.สผ.ชนะประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช หลังเสนอผลตอบแทนสูงกว่าเชฟรอน ตั้งเป้าลงนามสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดรัฐได้ผลตอบแทนกว่า 6.5 แสนล้านในช่วง 10 ปี

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ระบุ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติรายชื่อผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลงจี1/61 หรือแปลงเอราวัณ  และแปลงจี2/61 หรือแปลงบงกช โดยบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2(ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจเอราวัณ ส่วนแหล่งบงกช มีบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ระบุ การประมูลดังกล่าวมีเกณฑ์พิจารณา 4 ข้อหลัก คือ 1.ราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน 2.ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญาที่จะมอบให้รัฐบาล 3.โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และ 4.สัดส่วนของการจ้างพนักงานคนไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ผลการประมูลสรุปได้ว่า ปตท.สผ.เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง โดยแปลงเอราวัณ เดิมเชฟรอนเป็นผู้ดำเนินการ และแปลงบงกช ซึ่งปัจจุบันปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ โดยปตท.สผ.ยื่นเงื่อนไขและผลตอบแทนในการประมูลให้กับประเทศดีกว่าคู่แข่ง

สำหรับเงื่อนไขเกณฑ์พิจารณาทั้ง 4 ข้อที่ ปตท.สผ.ยื่นเข้ามามีรายละเอียดดังนี้คือในส่วนของแปลงเอราวัณ ในด้านราคาก๊าซ ปตท.สผ.เสนอราคาก๊าซคงที่ (PC) เริ่มต้นที่116บาทต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันเชฟรอนคิดราคาค่าก๊าซในราคา165บาทต่อล้านบีทียู ส่วนกำไรที่จะแบ่งปันให้รัฐเสนอมาที่68%เก็บไว้เอง32%แม้ตามกฎหมายผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถเสนอรับกำไรสูงสุดได้ที่50%ของกำไร ด้านสัดส่วนการจ้างพนักงานนั้นทั้ง2บริษัทเสนอใกล้เคียงกัน โดยปตท.สผ.เสนอจ้างพนักงานไทยตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไปที่98%

ขณะที่ข้อเสนอในแปลงบงกช ปตท.สผ.เสนอราคาที่116บาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาเดียวกับแปลงเอราวัณ จากปัจจุบันปตท.สผ.คิดราคาอยู่ที่214บาทต่อล้านบีทียู สัดส่วนแบ่งปันผลกำไรให้รัฐอยู่ที่70%ปตท.สผ.รับไว้เอง30%ใช้สัดส่วนพนักงานคนไทยตั้งแต่ปีแรกที่99%

ราคาขายก๊าซที่ผู้ชนะการประมูลคือปตท.สผ.เสนอมา ต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การซื้อก๊าซธรรมชาติจาก2แหล่งที่คิดเป็นปริมาณกว่า75%ของก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย ตั้งแต่ปี2565เป็นต้นไปทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประเทศไทยที่จะสามารถซื้อก๊าซในราคาถูกลง ทั้งในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งการผลิตไฟฟ้า สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่งเอ็นจีวีจะมีราคาถูกลงในอัตราเทียบเท่ากับมูลค่าประมาณ5.5แสนล้านบาทในระยะ10ปี หรือประหยัดลงได้ปีละ5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการประมูลโดยตรงที่จะไปถึงผู้บริโภคในทันที

หากนำมูลค่าที่ได้จากการซื้อก๊าซที่ถูกลงมาลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจะลดลงได้หน่วยละ29สตางค์ ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ3.60บาทต่อหน่วย หรือจะลดลงได้8%แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ต้องแบ่งไปใช้ในส่วนต่างๆ มีสัดส่วนใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่58%ที่เหลือใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและรถขนส่งเอ็นจีวี ดังนั้นส่วนลดต้องเกลี่ยไปให้ทั้งหมดสำหรับผู้ใช้ทุกราย เมื่อเกลี่ยเฉลี่ยทั้งหมดแล้วส่วนลดค่าไฟฟ้าจะลดลง17สตางค์ต่อหน่วย

ในการประมูลครั้งนี้ปตท.สผ.ได้เสนอส่วนแบ่งกำไรในอัตราที่สูงให้กับรัฐ คำนวณแล้วรัฐจะได้เงินจากผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเงินอีก1 แสนล้าานบาทในช่วง10ปีแรกของการผลิตในรูปแบบของค่าภาคหลวงและการแบ่งปันผลกำไรจากการผลิต ดังนั้นโดยรวมแล้วประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้ทั้งผู้บริโภคในสังคมที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้5.5 แสนล้านบาท และมีเงินงบประมาณเข้ารัฐเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ประโยชน์โดยรวมจึงอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา10ปี

หลังจากนี้จะเชิญ ปตท.สผ.มาเจรจาและทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโดยเร็ว เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนก.พ.2562 จากนั้นไปสู่ขั้นตอนการส่งมอบทรัพย์สินต่างๆจากผู้ผลิตรายเดิมให้ผู้ชนะการประมูล เพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องไม่ให้สะดุดหรือขาดตอน เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตไม่น้อยกว่า1,500ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น800ล้านลูกบาศก์ฟุตจากแหล่งเอราวัณ และ700ล้านลูกบาศก์ฟุตจากแหล่งบงกช โดยเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2565 

โดย ครม.ได้เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรงงพลังงานมีอำนาจในการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไป โดยสัญญาที่จะมีการลงนามให้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนโดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานสัมปทาน 20+10 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0