โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รัฐบาลเตรียมคลอดแพคเกจอุ้มเอสเอ็มอี หวังจูงใจเข้าระบบ

ไทยโพสต์

อัพเดต 22 ก.ย 2561 เวลา 03.19 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2561 เวลา 03.19 น. • ไทยโพสต์

 

รัฐบาลเตรียมคลอดแพคเกจช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หวังดึงเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง ชูสิทธิประโยชน์จากการค้ำประกันสินเชื่อ – สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ – ได้คืนภาษีเร็วขึ้น – ฝึกอบรมเข้มข้น ด้าน “สรรพากร” หนุนเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 เดือน รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่เมื่อเข้ามามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น

 "หลักการของมาตรการก็เหมือนกับการทำบัตรเครดิต ที่ผู้ใช้บัตรยอมจ่ายค่าบัตรปีละ 4 พันบาท เพราะรู้สึกคุ้มกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการกลับมา ไม่ว่าจะเป็นจอดรถฟรี ได้ออกกำลังกาย ได้คูปองซื้อสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการสะสมแต้มเพื่อใช้ซื้อสินค้าในอนาคตเป็นต้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับมาตรการจูงใจผู้ประกอบการเอสเอ็มที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขยาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงกองทุนที่ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือผู้ประกอบการจำนวนมาก ให้มีการทำงานที่บูรณาการกันมากขึ้น

ทั้งนี้ แรงจูงใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะเริ่มตั้งแต่การเข้ามาอยู่ในระบบภาษีและทำบัญชีเดียว และให้แรงจูงใจตามขนาดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยวัดตามจากการทำกำไร เช่น เริ่มมีกำไรเกิน 3 แสนบาท ซึ่งจะต้องเริ่มเสียภาษี ก็อาจจะได้สิทธิประโยชน์จากค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. เพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มมีกำไร 1-2 ล้านบาท ก็อาจจะได้สิทธิเพิ่ม เช่น ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก ธพว. ได้คืนภาษีเร็วขึ้น และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไรเกิน 3 ล้านบาท ก็อาจจะได้รับการฝึกอบรมที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อนำไปเปิดตัวขยายธุรกิจต่างประเทศ โดยรัฐบาลอาจจะออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการสรุปแพคเกจแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็ม เริ่มต้นจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวถึงสามารถเข้าสู่แพคเกจนี้ได้ หลังจากนั้นหากมีกำไรมากขั้น ก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น เชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 3 ล้านราย เข้าสู่ระบบภาษีอย่างเต็มใจมากขึ้น ทำให้รัฐบาลได้เก็บภาษีได้เพิ่มและนำเงินส่วนนี้ไปให้สิทธิประโยชน์คืนกลับให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในเดือน ต.ค. 2561 รัฐบาลจะเริ่มสะสางปัญหากฎหมายระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจ โดยเบื้องต้นจะให้มีการยกเลิกกฎระเบียบการทำธุรกิจของท้องถิ่นที่มีอยู่ถึง 7 แสนระเบียบ  โดยให้ใช้ระเบียบเดียวกับส่วนกลางที่มีอยู่ 6.5 พันระเบียบ หลังจากนั้นรัฐบาลคัดกรองระเบียบการทำทำธุรกิจ 1 พันระเบียบ ที่มีการทำจำนวนมากและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจขึ้นมาทำก่อน เช่น การทำวีซ่าและการขอใบอนญาตของคนต่างประเทศ ที่ต้องใช้เอกสารถึง 44 รายการ ก็จะทำให้ง่ายขึ้นลดการใช้เอกสาร และสามารถทำการบนเว็บไซด์จุดเดียวเสร็จ สามารถจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รอรับใบอนุญาตการทำงานโดยไม่ต้องเดินทางมารับ เป็นต้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การจัดทำบัญชีชุดเดียว ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาล กรมสรรพากร และองค์กรความร่วมมือต่าง ๆ มุ่งหวังให้เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมทางการเงิน การรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต้องการข้อมูลทางการเงินที่มีความโปร่งใส ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวตามกระแสเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับมาตรการสนับสนุนการจัดทำบัญชีชุดเดียวที่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบการ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินการ คือ ผู้ประกอบการจะได้รับข้อมูลที่สะท้อนผลการประกอบการที่แท้จริง สามารถตัดสินใจดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส บริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจได้อย่างเหมาะสม สามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการประกอบธุรกิจได้ ส่งผลให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ และข้อมูลจากบัญชีชุดเดียวของผู้ประกอบการ จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริมผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการ

“กรมสรรพากรต้องการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง ปรับปรุงรายการทางบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบการ เพื่อรองรับการดำเนินการของสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป” นายเอกนิติ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0