โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รัฐบาลเดินเกมกู้เศรษฐกิจ ผ่อนคลายนโยบายการเงินควบคู่การคลัง

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 21 ม.ค. 2563 เวลา 02.10 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 02.10 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

“สมคิด” ถกด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เข็นชุดมาตรการนโยบายการเงินควบคู่นโยบายการคลัง หวังพยุงเศรษฐกิจไทย พร้อมหาทางสกัดบาทแข็ง นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น ผ่อนเกณฑ์แอลทีวี เร่งปล่อยกู้เอสเอ็มอี–คืนแวต และภาษีเงินได้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ว่า เพื่อติดตามความคืบหน้านโยบายที่ได้มอบไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งได้เร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว และหากจะออกมาตรการใดที่จำเป็นเพิ่มเติมก็ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 20 ม.ค.63 ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนและการประสานงานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด ประกอบด้วย มาตรการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน (แอลทีวี), การเร่งรัดปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี, การสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ, แนวทางร่วมกันบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและไม่แข็งค่าจนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้

“การปรับเกณฑ์แอลทีวี สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านทั้งหลังแรกและหลังที่สอง จะมีส่วนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ซบเซาอยู่มีสถานการณ์ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เร่งลดภาระดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอี และให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางคืนภาษีให้กับเอสเอ็มอี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและประชาชน”

ส่วนการบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบกับเศรษฐกิจนั้น ได้ขอให้ ธปท.บริหารจัดการค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ร่วมกับมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น ให้สำนักงาน คปภ.อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิต นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ เพื่อเปิดทางให้เงินไหลออกมากขึ้น เพื่อลดความกดดันค่าเงินบาท รวมถึงให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หามาตรการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศ หรือนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะผลักดันให้มีเงินไหลออกอีกทางหนึ่งพร้อมกันนั้น ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางแก่ ธปท.ในการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้และเป็นไปตามกฎหมาย จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารที่ความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ AAA เพื่อให้ ธปท.มีผลตอบแทนสูงขึ้น ไม่แบกรับส่วนต่างมากจนเกินไปเมื่อมีเงินไหลเข้า

“การดำเนินการตามแนวทางลดแรงกดดันค่าเงินบาทครั้งนี้ คงไม่ทำให้สหรัฐฯ เพิ่มการจับตาไทย เพราะเป็นการส่งเสริมให้เงินบาทไหลออก ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขของสหรัฐฯ ที่มีเกณฑ์พิจารณาประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน คือ สัดส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ, สัดส่วนการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงการแทรกแซงของ ธปท. อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการการเงินการคลังแบบผ่อนคลายครั้งนี้ คงจะทำไปก่อน 2-3 เดือน จากนั้นจะประเมินผลว่าสภาพคล่องในระบบดีขึ้นหรือยัง ถ้าดีขึ้นจะทบทวนมาตรการอีกครั้ง”.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0