โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐบาลป่วนลงทุนสะดุด แขวนงบประมาณ 2 เดือน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 02.37 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 01.05 น.
1-1รัฐบาลป่วน

รัฐบาลป่วน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี’63 สะดุดซ้ำอีก 2 เดือน ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พิษ ส.ส.เสียบบัตรโหวตลงคะแนนแทนกัน ไม่มีงบฯลงทุนใหม่ กระทบแผนลงทุน ดับความหวังสุดท้ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลเหลือเวลาเบิกจ่ายงบประมาณเพียง 3-4 เดือน ประธานสภาอุตสาหกรรมชี้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจน่าห่วง ต้องพึ่งส่งออก ท่องเที่ยว และการบริโภคภายใน หวั่นปัญหาลากยาว ยิ่งฉุดจีดีพี จี้ฝ่ายการเมืองเร่งหาทางออก

การลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 โดยผู้ลงมติไม่อยู่ในห้องประชุม อาจมีผลทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.ประมาณ ล่าช้าออกไปอีกประมาณ 2 เดือน

นัด ส.ส.ถกวาระด่วน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 22 มกราคม 63 ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือวาระด่วน วาระการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งคาดว่าจะต้องดำเนินการตาม มาตรา 148 แห่งรัฐธรรมนูญ “กรณีร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า”

งบฯลงทุนช้าไปอีก 2 เดือน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณ ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ การใช้จ่ายงบประมาณต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน เดิมคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนมีนาคม อาจต้องเลื่อนเป็นเมษายน งบประมาณในการลงทุนจะออกสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 แต่กรณีเลวร้ายที่สุด หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวศาลวินิจฉัยว่าผิดกระบวนการ ต้องเริ่มต้นใหม่ ก็แปลว่าปีนี้จะยังไม่มีงบประมาณในการลงทุนตามแผนที่วางไว้

“สถานการณ์เศรษฐกิจที่การส่งออกติดลบ เอกชนไม่กล้าลงทุน งบฯลงทุนรัฐไม่มี เหลือเพียงการบริโภคและการท่องเที่ยวจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ”

นายวราเทพ รัตนากร รองประธานกรรมาธิการงบประมาณ กล่าวว่า หากขั้นตอนส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการส่งร่างกฎหมายไปที่นายกรัฐมนตรีก็ต้องชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้ยื่นเรื่องไปที่ศาล ร่างกฎหมายก็เข้าสู่กระบวนการปกติ

“หากมีผู้ต้องการทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด สมาชิก 2 สภา จำนวน 1 ใน 10 หรือ 75 คน ก็นำเรื่องหารือประธานรัฐสภา แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลว่าจะวินิจฉัยอย่างไร กรณีจำนวนเสียงที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมติหรือไม่” นายวราเทพกล่าว

แนะทางออกให้สภาโหวตใหม่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการเสียบบัตรลงมติแทนกันว่า กรณีที่ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับกรณีที่นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีชื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แต่นายฉลองกลับไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงแนะให้ ส.ส. 1 ใน 10 เข้าชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตนเห็นแย้งกับฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย แต่สามารถแก้ไขได้โดยให้วุฒิสภาส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร และทำการแก้ไขให้ถูกต้องด้วยการลงมติใหม่ในมาตราที่เป็นปัญหา หรือขอให้สภาลบคะแนนของนายฉลอง มาตราที่เป็นปัญหา มาตราละ 1 เสียง แทนการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“เรื่องนี้ต่างกับกรณีนายอดิศร ทองธิราช ส.ส.พรรคเพื่อไทย กดบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. (2 ล้านล้าน) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ เนื่องจากกรณีนายอดิสรไม่ยอมรับ จึงต้องพิสูจน์ความจริง แต่กรณีของนายฉลองข้อเท็จจริงยุติแล้ว โดยนายสรศักดิ์ออกมายอมรับว่ามีการกดบัตรแทนกันจริง ดังนั้นในกรณีของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯก็ดึงกลับมาทำให้ถูก ไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะงบประมาณผ่านสภาช้ากว่าที่ควรจะเป็นแล้ว อาจจะมีผลกระทบต่อการบริหารประเทศได้” นายนิพิฏฐ์กล่าว

นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ตนเห็นว่าควรใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ประกอบมาตรา 145ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต้องรอไว้ 5 วัน หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ร่างกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ สามารถใช้ ส.ส. 1 ใน10 หรือ 75 คน ยื่นต่อประธานสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และแจ้งให้รัฐมนตรีทราบ

“ไพบูลย์” รับ พ.ร.บ.งบฯมีปัญหา

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า หลังจากวุฒิสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯแล้วจะต้องส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นประธานสภาจะส่งให้นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเป็นช่วงปลายสัปดาห์นี้จะถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อย่างไรก็ตาม หากจะมีการยับยั้งร่างกฎหมายจะต้องเป็นไปตามมาตรา 148 โดยหลังจากนายกฯรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จากประธานสภาแล้ว จะต้องรอไว้ 5 วัน หากมี ส.ส.เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของ 2 สภา หรือสภาใดสภาหนึ่ง ต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

“หากในช่วง 5 วัน ที่ไม่มีการเข้าชื่อต่อประธานสภา นายกฯก็จะนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะเป็นที่ยุติไม่สามารถโต้แย้งได้ แต่ในความเห็นส่วนตัวยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯมีปัญหาทางกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯต้องตกไป” นายไพบูลย์กล่าว

ขาดเงินขับเคลื่อน ศก.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กรณีที่มีการเสียบบัตรแทนกันซึ่งส่งผลทำให้การโหวตคะแนนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี 2563 บางมาตราอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะเป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ คิดว่ามุมมองของนักกฎหมายจะพิจารณาว่า กรณีความผิดเป็นอย่างไร และจะสามารถยุติในขั้นของสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถยุติได้ตามกลไกก็จะต้องไปพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี หากยังหาข้อยุติได้ช้า จะส่งผลกระทบต่อการออกงบประมาณปี 2563 จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายทุกนโยบายของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากการขับเคลื่อนแต่ละนโยบายมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ฉะนั้น หาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องงบฯลงทุนใหม่ที่ยังออกไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้งบฯอื่นไปพลางก่อน

“ในส่วนของกระทรวงการคลังอยากให้มีข้อยุติ และมีความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อที่จะได้นำเม็ดเงินงบประมาณมาขับเคลื่อนประเทศต่อไป”

ทั้งนี้ สำหรับงบฯลงทุนใหม่ในงบประมาณปี 2563 มีราว 1-2 แสนล้านบาทส่วนที่เหลือจะเป็นงบฯลงทุนที่ผูกพันข้ามปี

เอกชนจี้เบิกจ่ายล่าช้ายิ่งฉุดจีดีพี

ด้านความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯปี 2563 ที่มีปัญหาในการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ จากการเสียบบัตรแทนกันนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ และจะกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก และส่งผลต่อเนื่องถึงภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งปี จากเดิมที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประมาณการว่า ตัวเลขจีดีพีปี 2563 จะขยายตัว 2.5-3.0% หากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้โดยเร็ว จากที่ล่าช้ากว่าปกติที่ต้องเริ่มเบิกจ่ายในเดือน ต.ค.

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ต้องหาวิธีการแก้ไข ไม่ว่าจะฝ่ายไหน รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หากไม่มีการลงทุนภาครัฐภาคเอกชนต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น และอาศัยรายได้จากเครื่องจักรขาอื่น ๆ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภค ซึ่งคงต้องช่วยกันทุกทาง หากต้องการเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นตามที่วางไว้” นายสุพันธุ์กล่าว

 

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวข้อง >>> ออกพ.ร.ก.กู้เงิน! “สมคิด” งัดแผนสำรองแก้ปม พ.ร.บ.งบประมาณ 63 แท้ง

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0