โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐธรรมนูญ VS ปากท้อง - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 13 ส.ค. 2562 เวลา 10.11 น.

ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกำลังเป็นวาระทางสังคมที่ถกเถียงกันในรอบเดือนที่ผ่านมา

อันที่จริงต้องกล่าวก่อนว่า รัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ได้บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วน เมื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามาจากการเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

  หลายคนคงจำได้ว่าในช่วงเวลาอันตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคพลังประชารัฐได้ไปเชื้อเชิญพรรคต่างๆ มาร่วมงานนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตกปากรับคำร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นคำสัญญาที่รัฐบาลได้ผูกมัดตนเองไว้กับประชาชน (ผ่านการแถลงด้วยวาจาที่ประชาชนได้ติดตามดูทั้งประเทศ) โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ที่กำลังถูกจับตามองในประเด็นนี้ และจะถูกทวงถามคำสัญญาจากสังคมและผู้เลือกตั้งหลังจากนี้เป็นต้นไป 

  หลังจากการแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้น พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านก็ริเริ่มรณรงค์ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ ซึ่งบรรดาพรรคฝ่ายค้านได้ชูประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแล้ว จึงเข้าใจได้ว่าต้องผลักดันตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน  

นอกจากบรรดาพรรคการเมืองแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรในภาคประชาสังคม กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน และกระทั่งอดีตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บางคน 

เนื่องจากได้แลเห็นผลเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปัญหาความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาลจนมาถึงปัญหาการต่อรองผลประโยชน์ในปัจจุบัน  

อันที่จริง ประชาชนจำนวนมากก็ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม นิด้าโพลได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วนมีมากที่สุดกว่ากลุ่มอื่น (ร้อยละ 37.04) 

โดยให้เหตุผลว่าเพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรีและวุฒิสมาชิกขาดความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม ไม่แตกต่างกับการรัฐประหาร ขัดกับความต้องการของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพ ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสภาฯ และเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป 

โดยประเด็นที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ ที่มาและอำนาจวุฒิสมาชิก (ส.ว.), ที่มาของนายกรัฐมนตรี, การปฏิรูปประเทศ, ระบบการเลือกตั้ง, แนวนโยบายแห่งรัฐ, สิทธิและเสรีภาพของประชาชน, ที่มาของ กกต. และการจัดตั้งองค์กรอิสระ ตามลำดับ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผลักดันประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มักมีคำถามตามมาว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ? บางคนแย้งว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ควรแก้ปัญหาปากท้องก่อน รัฐธรรมนูญรอไว้ค่อยแก้ทีหลังก็ย่อมได้เมื่อประชาชนอยู่ดีกินดีและทำมาค้าขายคล่องตัวแล้ว 

การถกเถียงที่แยกประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญกับปัญหาปากท้องออกจากกันแบบขั้วตรงข้ามเช่นนี้นับว่าชวนให้หลงทิศผิดทาง เพราะชี้นำให้เข้าใจว่าสองปัญหานี้แยกขาดจากกัน ไม่เกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง ทำเรื่องหนึ่งก่อน แล้วค่อยทำอีกเรื่องหนึ่งทีหลัง  

แท้จริงแล้ว ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นเรื่องเดียวกัน 

การเปิดประตูให้มีการแก้ไขกติกาสูงสุดของประเทศให้มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาล และมีความสมดุลทางอำนาจ จะเป็นกุญแจไขไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและสะท้อนความต้องการของประชาชนที่กำลังประสบพิษภัยจากเศรษฐกิจที่ชะงักงัน 

ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสำคัญต่อการแก้ปัญหาความอยู่ดีกินดีของประชาชน? 

ตอบอย่างตรงประเด็นที่สุด

หนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สร้างให้เกิดรัฐบาลที่อ่อนแอ และระบบการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ตราบใดที่ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะในส่วนระบบเลือกตั้ง สังคมไทยก็จะไม่สามารถมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและการเมืองที่มีเสถียรภาพ 

ซึ่งจำเป็นต่อการผลักดันนโยบายระยะยาวและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลก ณ ขณะนี้ที่มีความผันผวนตึงเครียดสูง เรายิ่งต้องการรัฐบาลที่สามารถเสนอวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง และรับมือกับความท้าทายของโลกได้  

รัฐบาลผสม 19 พรรคจะไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายนี้ และเหตุที่เรามีรัฐบาลผสมมากพรรคชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้นก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นผลผลิตโดยตรงของรัฐธรรมนูญ 2560 (บวกกับสูตรคำนวณของกกต.) ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ อย่างมากที่สุด 

รัฐบาลผสมของไทยประกอบด้วยพรรค 7-8 พรรคก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งก็ยังมีอายุสั้นและล้มไปในเวลาประมาณ 1-2 ปี  

การมีพรรคขนาดกลางและเล็กรวมกันถึง 19 พรรคทำให้การเมืองเต็มไปด้วยการต่อรองผลประโยชน์เป็นอันแรก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลผสมกังวลที่สุด คือความอยู่รอดทางการเมือง (political survival) ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ตำแหน่งรัฐมนตรีต้องจัดสรรเพื่อให้แต่ละพรรคพอใจ จึงอาจไม่ได้คนที่มีความสามารถที่สุด นอกจากนี้ พรรคขนาดเล็ก 1 ที่นั่งก็สามารถมีอำนาจต่อรองภายใต้ภาวะเช่นนี้ สามารถขู่ถอนตัว เจรจาขอผลประโยชน์เพื่อแลกกับการยกมือสนับสนุนรัฐบาล และการต่อรองเช่นนี้จะมีให้เห็นตลอดไปตราบที่ยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ 

รัฐบาลที่อายุสั้นย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ เพราะไม่มีเวลาทำงานต่อเนื่อง สามารถสะดุดขาล้มได้ตลอดเวลา (เร็วๆ นี้ ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง รัฐมนตรีบางคนยังคาดการณ์ให้ที่ประชุม ฟังว่าอายุการทำงานของเขาไม่น่าจะเกิน 1ปี)

รัฐบาลผสมจำนวนมากยังไม่สามารถจัดทำนโยบายที่มีเอกภาพ เพราะนโยบายของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันจึงลำบาก เต็มไปด้วยการขัดขาและการแข่งขันสร้างผลงานของแต่ละพรรคในกระทรวงที่ตนรับผิดชอบเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า มากกว่าจะทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ 

เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนที่ต้องอาศัยความร่วมมือข้ามกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน แต่ผลการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีเพื่อเอาใจทุกพรรคทำให้กระทรวงเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคการเมืองต่างกัน 3-4 พรรคที่มิได้มีแนวทางสอดคล้องกัน

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพและขาดทิศทางเชิงนโยบายย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และดังนั้นจึงส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวม 

สอง รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สร้างให้เกิดการต่อรองและธนกิจการเมืองในสภา ข้อนี้เกี่ยวพันกับข้อแรก การมีรัฐบาลที่อ่อนแอและระบบการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ทำให้เกิดปัญหาธนกิจการเมือง (money politics) ในสภา คือการต่อรองผลประโยชน์เพื่อประคองให้รัฐบาลอยู่รอดได้ 

ซึ่งจะทำให้การคอร์รัปชั่นกลายเป็นปัญหาใหญ่ ดังที่พบในรัฐบาลผสมสมัยยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่มีการซื้อคะแนนโหวตในสภาเป็นตัวเลข 6-7 หลักต่อครั้ง ปัญหาคอร์รัปชั่นจะกระทบต่อภาพลักษณ์ ธรรมาภิบาล และความเชื่อมั่นของนานาชาติ 

สาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทำให้เกิดระบบการเมืองที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เนื่องจากที่มาของนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการให้มีสว.แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ 

ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนไม่ถูกสะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา กติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้พรรคที่แพ้การเลือกตั้งก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยอาศัยเสียงของกลุ่มอำนาจในสภาที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา สว.ที่ตอนนี้มีสภาพเป็นเสมือนพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภาแสดงออกในการทำหน้าที่ตั้งแต่เปิดประชุมสภามา 

ว่ามุ่งทำงานตอบสนองผลประโยชน์ของผู้แต่งตั้ง (คสช.) มากกว่าทำงานตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะ หรือแทนที่จะมุ่งตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน กลับแสดงบทบาทเป็นองค์รักษ์พิทักษ์รัฐบาลอย่างแข็งขัน 

ด้วยเหตุนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่บางคนบอกว่าให้รอบังคับใช้ไปก่อนสัก 1 ปีแล้วค่อยแก้ไข อาจจะหลงลืมไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บังคับใช้มา 2 ปีกว่าแล้ว (ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560) 

และได้สร้างผลกระทบเชิงลบหลายประการดังที่ทุกคนเป็นประจักษ์พยานได้ ตั้งแต่ปัญหารัฐบาลผสมที่อ่อนแอ คุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ถูกตั้งข้อกังขา การแย่งชิงตำแหน่งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายที่ขาดเอกภาพ บทบาทของสว. การแผลงฤทธิ์ของพรรคเล็กจนนำมาสู่เสถียรภาพของ “เรือเหล็ก” ที่สั่นคลอน  

สุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระที่ควรทำโดยทันที เนื่องจากสภาวะที่การเมืองไทยไร้เสถียรภาพและมีความไม่แน่นอนสูง จึงอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่เมื่อใดก็ได้ “อุบัติเหตุทางการเมือง” อาจเกิดเร็วกว่าที่คาดคิดกัน การแก้ไขกฎกติกาให้มีความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง  

ประชาชนสมควรได้รัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้งที่ “ดีไซน์มาเพื่อคนไทยทุกคน” มิใช่ดีไซน์มาเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0