โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐซอมบี้

The101.world

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 01.30 น. • The 101 World
รัฐซอมบี้

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เหนื่อยไหม?

เดือนที่สองภายใต้พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ​2548 กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ พ.ร.ก. ยังไม่สิ้นสุดลงไปด้วย โดยจะลากต่อไปอีกถึง 30 มิถุนายนเป็นอย่างน้อย ความเหนื่อยล้าแสดงออกผ่านสีหน้าแววตา และเสียงบ่นทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์

ความเหนื่อยล้าไม่ใช่จากเชื้อโควิด-19 มากเท่ากับจาก พ.ร.ก. และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของมัน จนมีคนพูดกึ่งจริงกึ่งเล่นว่า ตายเพราะโควิดไม่กลัว กลัวจะตายเพราะ พ.ร.ก. นี่ล่ะ

ความเหนื่อยล้าที่ว่ามีสาเหตุมาจากระบบราชการไทย ซึ่งนักรัฐศาสตร์และกฎหมายมหาชนหลายท่านเห็นตรงกันว่า มีอำนาจรวมศูนย์มากแต่ขาดเอกภาพ จึงขาดประสิทธิภาพในการจัดการรับมือวิกฤตโควิด

แต่การรวมศูนย์อำนาจแบบขาดเอกภาพนั้น เป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาระบบราชการ ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ระบบราชการไทยหมดความสามารถที่จะรับมือวิกฤตแบบใหม่ได้อีกต่อไปแล้ว

เรียก 'รัฐซอมบี้' (the zombie state) ก็คงจะได้

ซอมบี้เป็นภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย ถ้าเป็นคนที่กลายเป็นซอมบี้ แทนที่จะกลายเป็นศพก็กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูญเสียความรับรู้ ความรู้สึก อารมณ์ หรือความสนใจใดๆ เกือบหมด คงเหลือแต่พฤติกรรมพื้นฐานไม่กี่อย่าง

ถ้าเป็นในภาพยนตร์ ก็คือวิ่งไล่งับคนอื่นไม่เลือกหน้า หรือไม่ก็เดินไปเรื่อยๆ ไร้จุดหมาย ไร้อารมณ์

รัฐซอมบี้ คือ รัฐที่สูญเสียความสามารถที่จะรับรู้และสนใจ ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้ ที่สำคัญคือไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของระบบเพื่อรับมือกับวิกฤตรูปแบบใหม่ๆ ได้ และท้ายที่สุด ไม่สามารถสนใจเสียงสะท้อนจากประชาชนในรัฐได้

แน่นอนว่ารัฐไทยไม่ได้กลายเป็นซอมบี้จริงๆ ข้าราชการบางคน บางหน่วยงานอาจจะยังสามารถทำงานหน้าที่ตนเองได้มีประสิทธิภาพอยู่ แต่โดยรวม ระบบราชการเป็นซอมบี้ คนที่อยู่ในระบบก็อาจจะตอบไม่ได้เช่นกันว่า เชื้อซอมบี้มันอยู่ตรงไหน แต่มันมีอยู่แน่ๆ สักแห่ง

รัฐไทยเป็นซอมบี้ก่อนหน้านี้มานานแล้ว กทม. ไม่สามารถเลิกตัดต้นไม้จนโกร๋นได้แม้จะมีกลุ่มรักษ์ต้นไม้ออกมาให้ความรู้วิธีการตัดที่ถูกต้อง กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่สามารถเลิกสร้างเขื่อนกันคลื่นริมทะเลได้แม้จะมีผู้อธิบายซ้ำๆ ว่าเขื่อนทำให้คลื่นและการสูญเสียชายฝั่งรุนแรงขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเลิกสร้างฝายและปลูกป่าไม่ได้ แม้นักอนุรักษ์จะชี้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นพิษต่อธรรมชาติ

กองทัพก็ไม่เคยสกัดการตายของทหารเกณฑ์ได้ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่เลิกย้ายครูที่มีปัญหาไปโรงเรียนใหม่ ให้ไปทำร้ายเด็กแบบเดิมๆ

โควิดแค่ทำให้อาการซอมบี้เห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง ที่ผ่านมาวิกฤตที่ระบบราชการไทยเผชิญนั้นยังพอคล้ายคลึงกัน คือเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาความมั่นคง มีคนประท้วงรัฐบาล รัฐไทยจึงชำนาญด้านการจับกุม เฝ้าระวัง ข่มขู่ผู้เห็นต่าง แต่โควิดเป็นวิกฤตรูปแบบต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง โควิดบังคับให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องคิดใหม่ เรื่องการทำงาน การจัดการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ แต่ถึงปัญหาจะใหม่ ระบบราชการไทยก็ตอบสนองแบบที่คุ้นชินกันมา

อย่างคร่าวที่สุด อาการซอมบี้ของรัฐไทย แสดงออก คือ 1. รัฐไทยถนัดการควบคุม กำกับดูแล (police and regulate) ไม่ถนัดงานบริหารและอำนวยความสะดวก (serve and facilitate) 2. ความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐจะมาช้าไป จะได้น้อยไปเสมอ (too little, too late) 3. รัฐไทยมีประสิทธิภาพต่ำ แม้แต่การควบคุมกำกับดูแลที่ถนัดก็ไม่มีประสิทธิภาพจริง ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และ 4. ความผิดพลาดใดที่เกิดแล้ว จะเกิดขึ้นซ้ำอีกเสมอ

รัฐไทยจึงเป็นซอมบี้ที่เดินเข้าสู่วิกฤตโควิด เดินฝ่าวิกฤต และมีแนวโน้มจะเดินออกจากโควิดโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ทิ้งประชาชนบาดเจ็บล้มตายระหว่างทางโดยไม่รู้สึกอะไรมากนัก

เป้าหมายของรัฐซอมบี้ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือ 0 และคงไว้เช่นนั้นด้วยสรรพกำลังทั้งหมด แม้ผู้เชี่ยวชาญจะออกมาเตือนว่าเป้าหมายนั้นเป็นไปไม่ได้ และจะเกิดผลเสียหายอื่นในวงกว้าง

รัฐไทยจึงหมกมุ่นกับการห้ามและปราบปรามผู้ฝ่าฝืน ตั้งด่านสกัดโควิดทั่วประเทศ ออกประกาศเคอร์ฟิว ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ จนตัวเลขผู้กระทำผิดถูกจับทะลุหลักหมื่น ทั้งที่ไม่มีหลักฐานว่าได้ช่วยระงับหรือบรรเทาการระบาดเลย

กรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแท้จริงกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ยิ่งรัฐเข้ามาพยายามควบคุม สินค้ายิ่งหาย หายจากตลาดทั่วไป หายไปจากระบบโรงพยาบาล

คนวิพากษ์นโยบายรัฐเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ กันไปเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก

แต่รัฐไทยไม่สามารถเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจได้ คนไทยจำนวนมากถูกทิ้งไว้ในต่างแดน ที่ชายแดนมาเลเซียหลายคนเงินหมด ไม่มีที่พัก ตัดสินใจข้ามจากมาเลเซียกลับมาเพื่อโดนข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในกรณีอื่น คนที่อยากกลับต้องซื้อตั๋วเครื่องบินเองในราคาแพงกว่าปกติหลายเท่า นโยบายการกักตัวก็อลหม่าน ไม่ต้องพูดถึงนโยบายเยียวยาดูแลคนพิการ แรงงานต่างด้าว คนชายขอบ ผู้ป่วยสุขภาพจิต เด็กและผู้หญิงในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัว หรือเด็กยากจนที่พึ่งอาหารกลางวันโรงเรียน

กรณีที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างเอกชน ตู้ปันสุขเกิดจากความบกพร่องของระบบเยียวยาจากภาครัฐ แต่เมื่อมีปัญหา ทางแก้ที่รัฐเสนอคือ ติดกล้องควบคุมพฤติกรรม สุดท้าย รัฐก็รับไอเดียตู้ปันสุขไปทำบ้าง ทั้งที่รัฐเองมีกลไกและทรัพยากรมากพอที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนมากกว่านี้

แต่โครงการช่วยเหลือต่างๆ ก็มาช้าไป น้อยไปเสมอ แทนที่รัฐจะสามารถออกแพกเกจเยียวยาถ้วนหน้าได้ทันที แต่ละหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบประชาชนแต่ละส่วนทยอยเสนอแผนการของตนเองมา ระบบเยียวยาขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความชัดเจนในเกณฑ์ มีต้นทุนแพง ได้เงินน้อย และเป็นไปได้ว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือการที่รัฐลืมคาดการณ์ถึงผลกระทบของนโยบาย work from home จนกระทั่งเกิดภาวะช็อกจากบิลค่าไฟฟ้าจึงสั่งการแก้ไข

บางอย่างที่ควรทำ เช่น มาตรการลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการ ก็ปล่อยให้เป็นการเจรจากันเอง ตามยถากรรม

นอกจากนั้น ยังมีความเดือดร้อนอันเป็นนามธรรม เช่น ความเครียดจากการสูญเสียรายได้และการเก็บตัว ซึ่งรัฐแทบไม่พูดถึง ที่เลวร้ายคือการละเลยสถิติคนฆ่าตัวตาย และความพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นไปโจมตีนักวิจัยที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้

ทั้งหมดนี้คนที่ออกมาโวยวายไม่ได้ติเฉยๆ มีคนติเพื่อก่อจำนวนมาก มีนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์นโยบาย พยายามเสนอโมเดลการเยียวยาที่ถ้วนหน้าและยั่งยืนกว่าจำนวนไม่น้อย แต่รัฐไม่นำมาพิจารณา

ส่วนความผิดพลาดใดที่เคยเกิดแล้ว ย่อมเกิดซ้ำเสมอ อาทิ การเสนอซื้ออาวุธเข้าคณะรัฐมนตรีในโมงยามโควิด ทั้งที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าน่าจะทำให้สาธารณชนเดือดดาล

กลับมาทำงานวันแรก รถไฟฟ้า BTS เสีย ทำให้คนรอคิวยาว แออัด ขัดหลัก social distancing เช่นเดียวกับที่เคยเสียในชั่วโมงเร่งด่วนมาตลอด

เว็บไทยชนะ ซึ่งอิหยังวะมากๆ ในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว ไม่มีแรงจูงใจให้คนใช้ แต่ใช้อำนาจบังคับกลายๆ

ในภาพยนตร์ ซอมบี้เป็นแล้วไม่หาย รัฐซอมบี้ก็คงหายยาก แต่ไม่ใช่หายไม่ได้เลย ควรลองตั้งต้นคิดวิธีปลุกชีวิตคืนให้รัฐและระบบราชการไทย ในระดับหัว นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นประชาชนเป็นนาย และไม่จำเป็นต้องทำงานให้ดีขนาดนั้นเพื่อชนะการเลือกตั้ง เพราะชัยชนะในการเลือกตั้งมาจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ประชาชน เบื้องล่างลงไป ระบบราชการเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ หมกมุ่นกับการทำตามกฎเกณฑ์ การถูกตรวจสอบ และวัฒนธรรมองค์กรอำนาจนิยมที่ขับไล่คนที่มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ออกไปจากระบบ ทางแก้ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายไม่กี่ฉบับ

ที่แน่ๆ ถ้าตั้งกูรูเทคโนแครตกลุ่มเดิมมาปฏิรูประบบราชการด้วยวิธีการคณะกรรมการแบบเดิม ไม่มีทางสำเร็จ

แต่ก็ต้องพยายามรักษารัฐซอมบี้ให้หายให้ได้ เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเศรษฐกิจพังพินาศ สังคมฉีกขาด พาไปสู่การประท้วงและด่าว่าในโลกโซเชียลทุกวัน วันละหลายประเด็น ทั้งเครียด ทั้งโกรธ และเหนื่อยล้าโดยไม่จำเป็น ปัจจัยลบมหาศาลเช่นนี้จะนำการเมืองไทยไปสู่จุดไหนไม่มีใครกล้าทำนาย

ภาวะซอมบี้เป็นปัญหาใหญ่ ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ กองแช่งก็รู้

ปัญหาเดียว คือ เจ้าตัวรัฐซอมบี้ไม่รู้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0