โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รัฐควักเงินคงคลังใช้จ่าย-ชะลอกู้ขาดดุลหวังลดต้นทุน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ธ.ค. 2562 เวลา 09.52 น. • เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2562 เวลา 10.15 น.
กู้ชดเชย

รัฐควักเงินคงคลังใช้จ่ายเดือน ต.ค. ฉุดยอดคงเหลือฮวบกว่า 1.2 แสนล้านบาท ชะลอกู้ชดเชยขาดดุลหวั่นเพิ่มภาระต้นทุนเงินกู้ แจงบัญชีกลางตีกรอบดำรงเงินคงคลัง “ระดับเพียงพอรองรับเบิกจ่าย 20 วันทำการ” ตกราว 2.5-3 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) กระทรวงการคลังได้ชะลอการกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลังออกไป โดยยังไม่มีการกู้ส่วนนี้ แม้ว่าจะสามารถใช้กรอบวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2562 ที่ขยายเวลากู้เหลื่อมปีมาราว 1 แสนล้านบาท ได้ในช่วงที่การจัดทำ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังล่าช้าอยู่ก็ตาม เนื่องจากไม่ต้องการให้ระดับเงินคงคลังมีสูงจนเกินไป เพราะจะเป็นภาระต้นทุน จึงส่งผลให้เงินคงคลังลดระดับลงเหลือ 385,292 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 ที่เงินคงคลังอยู่ที่ 512,955 ล้านบาท

“ได้พิจารณากันแล้วว่าเงินคงคลังยังอยู่ระดับสูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้มากองไว้ เพราะยังมีรายได้เข้ามาเพียงพอ ถ้ายิ่งกู้มาไว้ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุน ดังนั้นจึงต้องบริหารเงินสด ไม่ให้เงินคงคลังสูงเกินไป แต่หลังจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และหากการเก็บรายได้ทำได้น้อยลง ก็คงจะต้องมีการกู้เข้ามา โดยกรมบัญชีกลางจะมีหลักอยู่ว่า ระดับเงินคงคลังที่ต้องรักษาระดับไว้จะต้องคิดที่รายจ่ายของประมาณ 20 วันทำการ ซึ่งจะตกประมาณ 2.5-3 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐมีเครื่องมือบริหารเงินคงคลัง ทั้งกรณีที่สามารถกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณเหลื่อมปีได้ และยังสามารถกู้เสริมสภาพคล่องได้อีก ซึ่งเปรียบเสมือนวงเงินโอ/ดีของภาคธุรกิจที่สามารถกู้มาเติมเงินคงคลังได้เมื่อจำเป็น ทำให้ไม่ต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ระดับเงินคงคลังตอนสิ้นปีงบประมาณจะลดลงจาก 5-6 แสนล้านบาทได้หรือไม่นั้น ยังต้องขึ้นกับสถานการณ์

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลในเดือน ต.ค. 2562 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 255,924 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 368,209 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2562 อยู่ที่ 385,292 ล้านบาท

นายลวรณกล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือน ต.ค. 2562 อยู่ที่ 241,822 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,946 ล้านบาท หรือ 3% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 45,431 ล้านบาท หรือ 23.1% โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 5,548 ล้านบาท หรือ 9.6% และกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,415 ล้านบาท หรือ 2%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0