โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รัฐกุศลบริจาค : มีฮีโร่มากมายในวิกฤติ แต่ไม่ใช่สักชีวิตใน ครม.

The MATTER

อัพเดต 23 ก.ย 2562 เวลา 05.26 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2562 เวลา 03.58 น. • Thinkers

ปัญหาอุทกภัยในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงราวๆ สามสัปดาห์ที่ผ่านมา อันนำมาซึ่งกระแสแฮ็ชแท็ก #saveubon และการระดมเงินบริจาคช่วยเหลือมากมาย ทำให้ได้เห็นถึงหลายๆ เรื่องที่ผมมองว่าสำคัญและน่านำมาขบคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้มีความผูกพันในทางส่วนตัวอยู่ด้วยมาก เพราะผมเองเป็นคนอุบลฯโดยกำเนิด เกิดและโตที่อุบลฯ ฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเกือบสามสัปดาห์ ผมจึงต้องรวบรวมสติในการเขียนมากกว่าปกติบ้างเพื่อไม่ให้เป็นการเขียนด้วยความหงุดหงิดจนเกินควร

ก่อนจะตั้งต้นเขียนอะไรในทางวิชาการ ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ในฐานะคนอุบลคนหนึ่งในการขอบคุณความช่วยเหลือของทุกท่านจากการร่วมแรงบริจาค ทั้งที่เป็นเงิน สิ่งของ กำลังกาย กำลังใจ การช่วยเรียกร้อง หรืออื่นๆ รวมถึงอยากจะขอบคุณไปถึง ส.ส. หรือนักการเมืองไม่ว่าจะพรรคใดๆ ด้วยที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือโดยตลอด และสุดท้ายอยากขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณดำรงศักดิ์ เจียดประโคน หรือคุณโต้ง อาสาสมัครชาวบุรีรัมย์ที่มาช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดอุบลและต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน จนปอดเกิดการติดเชื้อและนำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด พวกท่านทุกคนล้วนแต่เป็นฮีโร่ในวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ เป็นฮีโร่ในโลกจริงที่นักวิชาการหอคอยงาช้างอย่างผมไม่มีวันจะไปเทียบได้ ผมอยากขอบพระคุณจริงๆ ครับ และเสียใจกับทุกการสูญเสียด้วยจริงๆ

คุณโต้ง ดำรงศักดิ์ เจียดประโคน, ภาพจาก : เพจ “มีด่านบอกด้วย อุบลราชธานี”

อย่างที่ผมได้เริ่มต้นไปว่าผมขอบคุณทุกแรงที่ช่วยเหลืออุบลและภาคอีสานในวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ และผมเขียนจากใจจริงด้วย นั่นหมายความว่าผมมองว่าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด อะไรยังไง ผมเองมองว่าการช่วยบริจาค การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนกว่าต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีและน่านับถือครับ (แม้จะมีดีเบตใหญ่ในทางวิชาการว่าการทำแบบนี้จริงๆ แล้วมันเป็นการช่วยส่งเสริมให้การเอารัดเอาเปรียบแบบทุนนิยมมันอายุยืนขึ้นก็ตาม) ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีของคุณตูน บอดี้แสลม มาจนถึงคุณบิณฑ์ในครั้งนี้ สำหรับผมแล้วล้วนน่านับถือทั้งสิ้น แต่พร้อมๆ กันไปคำถามถึง ‘ความสมควรในเชิงโครงสร้าง’ ก็ยังต้องถามกันต่อไป และในกรณีน้ำท่วมนี้เป็นลักษณะของปัญหาที่ต่างจากกรณีของคุณตูนที่วิ่งขอเงินบริจาคเพื่อโรงพยาบาลด้วย เพราะกรณีนั้นเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว แม้อาจจะฟังดูไม่ดี แต่จะเรียกว่าเป็นปัญหาไม่เร่งด่วนนักในสายตารัฐบาลก็อาจจะพออ้างได้ หรือกระทั่งจะบอกว่าเป็นเรื่องความไร้ศักยภาพของทางโรงพยาบาลในการหางบประมาณที่เพียงพอ จึงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล ก็อาจจะยังพออ้างข้างๆ คูๆ ไปได้อยู่ ตรงกันข้ามกรณีเหตุน้ำท่วมนี้ที่เป็นปัญหาวิกฤติระดับชาติและเร่งด่วนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สุดท้ายแล้วภาพรวมของการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ต่างจากเดิมนัก ผมจึงคิดว่าเราควรต้องมาพูดคุยในเรื่องนี้กันแล้ว

ความจริงแล้วใจหนึ่งผมก็อยากจะอุทิศพื้นที่เพื่อจะเขียนถึงเหล่าฮีโร่ทั้งหมดที่ช่วยกันฝ่าฟันวิกฤตินี้เท่าที่จะพอมีปัญญาหาข้อมูลได้ ตั้งแต่กลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (นำทีมโดย อาจารย์ ชัดชัย แก้วตา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ อาจารย์ สุรัตน์ หารวย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ ดร.จารุณี อนุพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาภาษาอังกฤษ) ที่ช่วยเหลือคนในพื้นที่ตลอดกระทั่งจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อให้คนเช็กได้ตลอดว่าตอนนี้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ขาดแคลนปัจจัยใดบ้าง ไปจนถึงคุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ หรือ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอญัตติด่วนในสภาเรื่องนี้ แต่เขียนเท่าไหร่ก็คงไม่มีทางจะครบถ้วนได้ และก็ต้องขออภัยที่ต้องใช้วิธีสรุปรวบการสดุดีไว้ด้วยพื้นที่เพียงสองย่อหน้านี้ และในเมื่อไม่มีปัญญาจะเขียนเพื่อขอบคุณได้ครบจนจบใจ ผมก็เลยตั้งเป้าที่จะเขียนในทางตรงกันข้ามแทน คือ เขียนถึงคนที่สมควรโดนประณาม โดนด่าในเหตุการณ์นี้

แม้การช่วยเหลือกัน และการบริจาคนั้นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่มันต้องไม่ใช่กลไกหลักของรัฐชาติสมัยใหม่

โดยเฉพาะกับระบอบประชาธิปไตยในการจัดการวิกฤติ

โดยเฉพาะวิกฤติหรือภัยทางความมั่นคงในความหมายว่าเป็น ‘ภัยซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชากร’ ด้วย เพราะเหตุผลตั้งต้นของการกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยสิ่งนี้ จากเดิมทีรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและเป็นกำลังให้เจ้าผู้ปกครองจากภัยต่างๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการคุ้มครองและสร้างพื้นที่ที่มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชนแทน

ผมไม่ได้ปฏิเสธการลงมือช่วยเหลือในวิกฤติน้ำท่วมนี้ของเหล่าทหาร และ สห. รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่นๆ นะครับ พวกเขามาช่วยด้วย ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เกิดเหตุเลย และก็ขอบคุณอย่างที่ได้ขอบคุณไปแต่แรก แต่พร้อมๆ กันไป เราควรจะคาดหวังอะไรมากกว่านี้ไหมจากฝ่ายราชการ ผมตามข่าวเรื่องน้ำท่วมแทบทุกวัน และข่าวสารหลักๆ อย่างเดียวที่ผมได้รับก็คือ ใครลงไปช่วยเหลือบริจาคอะไรบ้าง รวมไปถึงวันนี้น้ำลดหรือเพิ่มเท่าใด และมีผู้เสียชีวิตไปกี่คนแล้ว หลักๆ เท่านี้เลย ในระหว่างเวลาที่ยาวนานเกือบจะเป็นเดือนนั้น เราไม่ได้เห็นถึง ‘แผนการจัดการน้ำ’ ในระยะเฉพาะหน้า-สั้น-กลาง-ยาว ของรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย เว้นแต่จะนับว่าการไล่ชาวบ้านให้ไปเลี้ยงปลาแทนจะนับเป็น ‘แผนการ’ แบบหนึ่ง ไม่ต้องนับข้อเท็จจริงว่าต่อให้คนหลบไปเลี้ยงปลาจริง น้ำก็ท่วมอยู่ดีและไม่ได้ทำให้ความเสียหายลดลงเลย เพราะน้ำท่วมมาทีปลาก็ตายสิ้นแทบทั้งกระชังจากอาการน็อกน้ำ อย่างกรณีที่คุณบุญรอด คานทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในจังหวัดอุบลต้องเจอ[1]

ผมไม่อยากจะทำการยกข้อมูลของพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นพิเศษนัก เพราะจะเป็นการทำให้เรื่องนี้เป็น ‘เรื่องทางการเมืองของความแตกต่างทางความคิดไป’ ทั้งๆ ที่โดยภาพรวมแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นนั้นมาจากทั่วสารทิศและจากทุกกลุ่มขั้วการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ พื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นเป็นเขตพื้นที่ที่พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงมากกว่าค่อนข้างมาก (โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย) และหากจะเปรียบเทียบการทำงานของคนที่เป็นผู้แทนของประชาชนด้วยกันแล้ว ก็อาจจะจำเป็น ซึ่งนี่ไม่ใช่การเปรียบเทียบที่แฟร์กับพรรคฝ่ายค้านด้วยนะครับ เพราะอำนาจในการบริหารและจัดการงบประมาณ โดยเฉพาะงบฉุกเฉินเหล่านี้อยู่ในมือของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่ฝ่ายค้านเลย โดยผมขอลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ พอให้เห็นดังนี้ครับ

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2562 ทางพรรคเพื่อไทยเริ่มตั้งศูนย์ติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโพดุล ทั้งที่ภาคเหนือและภาคอีสาน แต่การดำเนินการใดๆ ของฝั่งรัฐบาลยังค่อนข้างนิ่งเงียบ

วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2562 สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมทั้ง ส.ส. เพื่อไทยจากหลายจังหวัด รวมถึงคารม พลพรกลาง ของพรรคอนาคตใหม่ด้วย ได้ลงพื้นที่ดูที่จังหวัดร้อยเอ็ด เยี่ยมเยียนคนที่เดือดร้อน และหาช่องทางแก้ไขปัญหา

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2562 ทางฝั่งรัฐบาลจึงเริ่มเคลื่อนไหว โดยการไปตรวจดูพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย

ซึ่งในระหว่างนั้นระดับน้ำในภาคอีสานก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณวันที่ 6-7 กันยายน พ.ศ.2562 น้ำเริ่มท่วมจังหวัดอุบลฯ อย่างชัดเจนแล้ว เพราะเป็นปราการรับน้ำจุดสุดท้ายของภาคอีสานด้วย และลักษณะเมืองมีความเป็นแอ่งกะทะพอสมควร

วันที่ 8-12 กันยายน พ.ศ.2562 ส.ส. ในพื้นที่ทั้งหมดเริ่มแจกจ่ายถุงยังชีพ คนในจังหวัดเริ่มร่วมแรงกันช่วยเหลือคนที่ถูกน้ำท่วม คุณบิณฑ์ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ แต่ยังไร้ซึ่งการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการชัดๆ ใดใดของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านของงบประมาณ และแผนการจัดการที่ชัดเจน นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่หนึ่งครั้ง แต่ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางใดๆ ทั้งยังสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จากการที่เจ้าหน้าที่ส่วนราชการต้องระดมคนไปจัดพื้นที่เตรียมต้อนรับ กระทั่งมีการซ่อมถนนที่เป็นหลุมบ่อไม่สวยงาม จนแทบไม่เหลือเจ้าหน้าที่ช่วยชาวบ้านที่ติดน้ำท่วม ต้องให้คนในพื้นที่ช่วยเหลือกันเอง พร้อมๆ กันไปนายกรัฐมนตรีบ่นกับสื่อที่ถามเรื่องน้ำท่วมว่า “เบื่อ ไปที่ไหนก็มีแต่คนขอเงิน”

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2562 นายกรัฐมนตรีไปทำใบเหลียงผัดไข่ที่เกาะสมุย มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้อนรับขับสู้อย่างดี ในขณะที่น้ำท่วมอุบลหนักขึ้นเรื่อยๆ และคุณบิณฑ์ไลฟ์เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือบ้าง ในระหว่างนี้ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562 ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดย ส.ส. ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ของพรรคเพื่อไทยได้ขออภิปรายญัตติด่วนในสภาด้วยวาจา เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลืออุทกภัยนี้และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน[2] รวมถึงยื่นหนังสือให้กับประธานรัฐสภาเพื่อส่งต่อไปให้กับนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการอภิปรายเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกัน โดยเสนอขอความช่วยเหลือเฉพาะหน้าในทางปฏิบัติ เช่น ขอเรือช่วยเหลือเพิ่มเติม, ขอเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณเพิ่มเติมในเวลากลางคืน ฯลฯ[3] อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องเดียวกันนี้ก็ยังคง ‘ถูกขอให้รัฐบาลช่วยเหลืออยู่กระทั่งตอนนี้’ ซึ่งก็บ่งชี้ได้ชัดว่าการช่วยเหลือดูจะไม่เกิดขึ้นเลย หรือต่อให้เกิดก็ไม่เพียงพอ และนี่คือมาตรการระดับ ‘เฉพาะหน้า’ ด้วย

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2562 ความเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งแรกของรัฐบาลจึงปรากฏ นั่นคือการตั้งศูนย์ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม และให้ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ นำเงินมาบริจาค รวมถึงคนจากภาคส่วนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายก็ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือวิกฤติเร่งด่วนนี้ยังไม่ได้แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอีกต่างหาก เพราะแจกทันทีแบบของคุณบิณฑ์ไม่ได้ หลักๆ ก็เพราะกลัวโดน สตง. เล่นงาน (แหมมมม ทีนาฬิกา กับธรรมนัส ไม่เห็นจะกลัวกันเลย) แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นวิกฤติก็ตาม

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2562 นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจดูความเดือดร้อนที่จังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมเวลาตั้งแต่เครื่องแตะพื้น ถึงนั่งเครื่องกลับทั้งหมดไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่มีการบ่น ‘ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน’ ว่าไม่ได้มาต้อนรับตน แปลว่าไม่รู้จักช่วยเหลือประชาชนทีหลังอย่าไปเลือก ทั้งๆ ที่เขาช่วยเหลือมาตั้งแต่ก่อนนายกฯ ไทยจะไปผัดใบเหลียงใส่ไข่แล้วอีกต่างหาก ไม่เพียงเท่านี้การมาสำรวจความเดือดร้อนนี้ก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนด้วย เพราะไปบังคับรื้อที่พักชั่วคราวของผู้ประสบภัยที่อยู่ในเส้นทาง ‘การเดินทาง’ ของนายกรัฐมนตรีอีกต่างหาก (ผมอยากให้ลองดูคลิปนี้ของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ที่มีส่วนการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยมากๆ เลยครับ และเท่าที่ผมทราบคลิปส่วนนี้ของทางรายการเองถูก ‘ลบ’ ไปแล้ว แต่ยังดีที่มีคนโหลดเก็บไว้ทัน ที่นี่)

และเหตุการณ์ก็ดำเนินมาจนปัจจุบันนี่แหละครับ น้ำยังคงท่วมอยู่หลายพื้นที่ หลายอำเภอ รวมถึงความเสียหายต่อเนื่องก็ยังคงอยู่ เช่น นาพัง ปศุสัตว์ตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ ที่ล้วนต้องการการเยียวยา และหาทางแก้ไขอย่างชัดเจนเป็นระบบในชั้นต่อๆ ไปด้วย ซึ่งเราก็ยังไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาเลย บอกไว้ก่อนนะครับ ผมไม่ได้ต้องการหรือกระทั่งเรียกร้องนายกฯ ที่จะต้องลงพื้นที่ ไปเอาขาแช่น้ำกับประชาชนอะไรใดๆ เลย คุณจะนั่งอยู่แต่ในห้องทำงานที่ทำเนียบก็ได้ครับไม่มีปัญหาเลย หากสามารถหาทางจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างชัดเจนและเป็นระบบได้ และเทคโนโลยีสมัยนี้มันเอื้อให้ทำแบบนั้นได้มากขึ้นแล้วด้วย เราสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ส่งข้อมูลถึงส่วนกลาง และประมวลผลในทันที ใช้โดรนช่วยสำรวจ หรืออื่นๆ ได้อีกมากมาย ว่าง่ายๆ ผมไม่ได้เรียกร้องว่านายกต้องลงพื้นที่ไปลุยน้ำแต่อย่างใด ที่อยากเห็นคือแผนการในการจัดการกับวิกฤติอย่างเป็นระบบต่างหาก ซึ่งไม่มีเลย สิ่งเดียวที่เราเห็นนั้นคือ ‘ตั้งศูนย์รับบริจาค’

ไม่เพียงเท่านี้ หากเราดูจากเส้นเวลาของเหตุที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว จะพบได้เลยว่า สามารถป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มากกว่านี้มาก เพราะน้ำไม่ได้เพิ่งจะมาท่วมเอาปีนี้ มันท่วมทุกปีแต่ปีนี้หนักที่สุดในรอบ 40 ปีเท่านั้น นั่นแปลว่า สิ่งที่ต่างหลักๆ จากทุกครั้งคือปริมาณน้ำ แต่กระบวนการคือกระบวนการแบบเดิมๆ ตอนที่พายุโพดุลเข้า รัฐบาลมีเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ที่จะรู้ได้ว่า ‘มวลน้ำ’ กำลังจะมาที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้วเป็นอย่างน้อย (ดังที่ผมไล่ไทม์ไลน์ให้ดู) แต่กลับไม่มีการประกาศเตือนภัย ช่วยเหลือย้ายผู้คน ‘ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุ’ ใดๆ เลย ชาวบ้านแทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พอรู้ตัว ตื่นมาก็น้ำถึงแข้งแล้ว นั่นแปลว่าไม่ได้มีการเตรียมการป้องกันเหตุเลย เป็นการซุย ‘แก้ปัญหาที่กำลังเกิด’ เอาล้วนๆ และแม้จะทำแค่นั้น ยังทำได้ไม่ดีอีกต่างหาก

การแก้ปัญหาแบบหลักแบบเดียวที่รัฐบาลทำดูจะเป็นการตั้งศูนย์รับบริจาค ที่ ‘คนอื่นเค้าก็ทำอยู่แล้ว และสามารถทำการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย เพราะสามารถนำเงินมาแจกจ่ายช่วยเหลือได้ทันที’ เค้ามีกระทั่งการทำแอพพลิเคชั่นที่แจ้งบอกว่าพื้นที่ไหนมีความต้องการของอะไรบ้างในขณะที่รัฐบาลไปทำอาหารโชว์อยู่ และจะอ้างว่าไม่รับรู้ก็ไม่ได้ด้วย เพราะเขาบอกคุณทุกช่องทางแล้ว ทั้งจากสื่อ ทั้งจากสภา และหากบอกว่าไม่รู้จริงๆ ก็ยิ่งทุเรศเกินไปในฐานะผู้บริหารประเทศ และจากจุดนี้เองเราจะเห็นได้ว่าโครงสร้างการจัดการกับปัญหาครั้งใหญ่นี้ทั้งหมดสรุปได้เพียงว่าเป็น ‘รัฐการกุศล’ ที่อาศัยเงินบริจาคและการร่วมแรงใจกันของประชาชนเข้าแก้ไข

รัฐบาลอยู่ตรงไหนของสมการนี้ และหากรัฐบาลนั้นไร้ประสิทธิภาพ ประเทศจะมีรัฐบาลไปทำไม?

การบริจาคและช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤตินี่เป็นเรื่องดี แต่ยิ่งรัฐต้องพึ่งกับอะไรแบบนี้มากๆ มันยิ่งสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในประเทศที่คนโดยทั่วไปต่างก็ลำบากมากในการหาเลี้ยงชีพตัวเองอยู่แล้ว ถ้ายังต้องเจียดเงินและกำลัง เวลา แรงงานมาช่วยเหลืออีกนั้น ในทางหนึ่งมันยิ่งน่าประทับใจในน้ำใจที่มีต่อกัน แต่พร้อมๆ กันมันยิ่งสะท้อนความทุลักทุเล ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการแก้ปัญหาและเตรียมพร้อมของผู้บริหารประเทศ

ประเทศที่อาศัยแรงช่วยเหลือของประชาชนและการบริจาคในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักยามเจอวิกฤติ มันฟ้องมากจริงๆ ว่า ‘รัฐบาลนั้นทอดทิ้งประชาชนไปแล้ว’ นโยบายที่อ้างๆ ว่าทำให้ประชาชนดูจะเป็นเพียงแค่ ‘การจ้างให้เป็นไพร่ต่อไปโดยไม่ต้องบ่นมาก’ เท่านั้นเองกระมัง สุดท้ายก็เหลือแต่ไพร่นั่งเลียแผลและปลอบประโลมกันเอง นี่คือสิ่งที่วิกฤติมันบอกกับเรา

อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคอีสานโดยเฉพาะที่อุบลนั้นนับเป็นภัยพิบัติที่ใหญ่หลวงของชาติ และสร้างความเดือดร้อนลำบากกระทั่งพรากชีวิตให้กับคนจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ภัยพิบัติที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดแก่ชาติไทยในตอนนี้ดูจะหนีไม่พ้นการมีรัฐบาลชุดนี้นั่งบริหารประเทศอยู่นี่แหละครับ หากมีคนที่มีสติ มีความสามารถ และเห็นค่าของชีวิตคนมาบริหารประเทศแต่แรก แม้อาจจะหยุดการไหลของน้ำไม่ได้ แต่การเตรียมการรับมือเหตุ กระทั่งหาทางป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเลยก็อาจจะยังพอเป็นไปได้ คนตาย ‘ด้วยน้ำ’ จริง แต่พร้อมๆ กันไปก็ไม่ได้ตาย ‘เพราะน้ำ’ แต่ชีวิตพวกเขานั้นถูกพรากไปด้วยความบกพร่องและความไม่แยแสสนใจประชาชนของคนบริหารประเทศต่างหาก

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] โปรดดู www.facebook.com/PPTVHD36

[2] โปรดดู www.facebook.com/Chuvitkui

[3] โปรดดู www.facebook.com/Chuvitkui

Illustration by Waragorn Keeranan

Proofreading by Tangpanitan Manjaiwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0