โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัชดา : ตีตั๋ว "นายหัวชวน" ขึ้นชั้นทีมโฆษก สังกัดทำเนียบ "ประยุทธ์"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 06 พ.ย. 2562 เวลา 07.30 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 07.15 น.
รัชดา-pcc8-1p1

สัมภาษณ์ โดย ปิยะ สารสุวรรณ

 

“รัชดา ธนาดิเรก” เป็น 1 ใน 3 ทีมโฆษกรัฐบาลหญิงล้วน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ที่มี 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ในกรรมการบริหาร (กก.บห.) ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเงื่อนไข 1 ใน 3 ของการร่วมรัฐบาล-พลังประชารัฐ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ รัชดา-รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวก กก.บห.พรรค เป็นตัวแทนประชาธิปัตย์ที่ชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นบทบาทที่อิหลักอิเหลื่อสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความบาดหมางกันในพรรคร่วมได้

แก้ไข รธน.อย่าให้บาดหมาง

“รัชดา” ไม่ได้กังวลในฐานะรองโฆษกรัฐบาลที่ต้องชี้แจง แต่ “หวั่นใจ” ว่า ประชาชนจะเข้าใจเจตนารมณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องการแก้หรือไม่แก้ แต่เป็นเรื่องแก้อะไร-แก้อย่างไร

“ถ้าประชาชนไม่เข้าใจอาจจะเกิดความเข้าใจผิดในจุดยืนของพรรค และจะชี้แจงอย่างไรไม่ให้กระทบพรรคร่วมรัฐบาล เราพูดในนามรัฐบาล แต่ถ้าถูกตีความคลาดเคลื่อนก็จะเกิดความบาดหมางกันภายในพรรคร่วม”

ทว่า 3.9 ล้านเสียงที่ฝากความหวังพรรคประชาธิปัตย์กับการแก้รัฐธรรมนูญ จึงหนีไม่พ้นที่เธอต้องแสดงออกถึงความมุ่งมั่น-จริงจัง 1 ในเงื่อนไขที่สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของพรรคเก่าแก่

“ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเป็นนักการเมืองจุดยืนต้องไม่เปลี่ยนแปลง ทุกนโยบายของพรรคที่สัญญากับประชาชนไว้ ถ้าอยู่ในจุดที่สามารถผลักดันได้ต้องทำ”

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขก่อนเข้าร่วมรัฐบาล และพรรคผลักดันเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล เป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ไม่ใช่เข้ามาอยู่ฝั่งของรัฐบาลแล้วจะทำทุกเรื่องสำเร็จ”

“ประชาธิปัตย์ไม่ได้เฉยเมย พรรคต้องการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ให้สามารถแก้ไขได้ ไม่ใช่แก้อย่างไรก็ได้ พรรคจะขับเคลื่อนผ่านสภาเพื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

โฆษกรัฐบาลต้องพูดความจริง

“รัชดา” เฉลยที่มา-ที่ไปของภาพทีมโฆษกรัฐบาลผู้หญิงล้วน ต่างค่าย-ต่างวาระการเมือง โดยไม่ได้นัดหมายว่า เป็นความบังเอิญ ไม่ใช่เพื่อต้องการลดแรงปะทะ-ไม่ตอบโต้ทางการเมือง

“ทำให้ภาพลักษณ์ soft ลง นุ่มนวลขึ้น ไม่ใช่การปะทะ ไม่ใช่การตอบโต้ ยิ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่การเมืองเข้มข้นมาก ภาพของโฆษกรัฐบาลหญิงจึงเป็นภาพเชิงบวก”

“รัชดา” เปิด “มิติใหม่” ของทีมโฆษกรัฐบาลที่มักพูดแต่เพียง “ด้านบวก” และวาทกรรม เสียดสี-สาดโคลนขั้วตรงข้ามว่า หน้าที่ของทีมโฆษก คือ การชี้แจงและพูดความจริงที่เป็นประโยชน์กับประชาชน พูดด้วยท่าทีน่าฟัง นุ่มนวล ไม่ให้ถูกหยิบไปเป็นประเด็นตอบโต้

“ต้องพูดความจริงและไม่ทำให้รัฐบาลเสียหาย การไม่พูดความจริง โฆษกทุกองค์กรต้องไม่ทำ ยิ่งเป็นโฆษกรัฐบาลต้องมีความจริงใจ แม้บางเรื่องจะเป็นความจริงที่ไม่ถูกใจคนฟังก็ตาม”

ไม่ใช่โฆษกพรรคประจำทำเนียบ

แม้ทีมโฆษกรัฐบาลจะมาจาก 3 พรรค ได้แก่ พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย แต่เธอยืนยันหนักแน่นว่า ภาพต่างคนต่างทำ-พี.อาร์.เฉพาะผลงานของพรรคต้นสังกัดจะไม่เกิดขึ้น

“ไม่ต้องแย่งหรอกค่ะ ทุกคนต้องทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ไม่ใช่โฆษกพรรคในรัฐบาล”

“รัชดา” ย้ำว่า ผู้ใหญ่ในพรรคกำชับมาว่า มาทำหน้าที่ในฐานะทีมโฆษกรัฐบาล ไม่เคยคิดว่าเป็นโฆษกของพรรคประจำทำเนียบ พร้อมทำงานส่งเสริมคณะรัฐบาล

น้อมรับดอกไม้และก้อนอิฐ

ภาพสุดท้ายของทีมโฆษกรัฐบาลที่เธออยากให้เป็น “ภาพจำ” คือ เป็นทีมทำงานสื่อสารความจริงให้กับประชาชนรับทราบการทำงานของรัฐบาล รับทราบเจตนารมณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

“สำคัญที่สุดต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง เดินหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

ตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล “ไม่ใช่งานใหม่” ของ “รัชดา” เพราะประชาธิปัตย์ในช่วงเป็นฝ่ายค้าน ได้มอบความไว้วางใจให้รับบทบาทเสมือนจริงในหน้าที่ “รองโฆษกรัฐบาลเงา” จากคน “คอยจับผิด” จึงกลายเป็นคน “ถูกจับผิด” เธอแย้งทันควัน

“ไม่ใช่การจับผิด แต่มีอะไรที่ควรจะทำให้ดีขึ้นหรือไม่ วันนี้เป็นรองโฆษกรัฐบาลก็ต้องเปิดใจ เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่องเป็นประโยชน์ อย่าหวังแต่ดอกไม้ ต้องรับก้อนอิฐด้วย”

“อภิสิทธิ์” เป็นกัลยาณมิตร

นักการเมืองอาชีพที่เบนเข็มเข้าสู่การเมือง ถ้าไม่ใช่ “ตระกูลการเมือง” ก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อน แต่สำหรับ “รัชดา” อดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย-พื้นเพทางบ้านมาจากทำ “ธุรกิจครอบครัว” ตัดสินใจเข้ามาสู่การเมืองเพราะผิดหวังกับนักการเมือง

“ครอบครัวไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการเมือง เข้ามาสู่การเมืองเมื่อปี”50 หลังรัฐประหารปี”49 เพราะรู้สึกผิดหวังกับนักการเมือง แต่ถ้าไม่มีนักการเมืองที่ดีเข้าไปเลย เราก็ต้องวนเวียนอยู่กับนักการเมืองที่ไม่ชอบ จึงไม่อยากคอยบ่นอยู่ข้างนอก”

“รัชดา” รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้เล่าที่มา-ที่ไปของการเดินเข้าสู่ถนนการเมืองในเสื้อ “พรรคสีฟ้า” เพราะมี “ชวน หลีกภัย” ผู้มีบารมีในพรรค เป็นผู้ “ตัดสายสะดือ” เข้าสู่วงการการเมือง และมี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค เป็น “กัลยาณมิตร”

“เลือกประชาธิปัตย์ตั้งแต่ต้น หลังจากวันที่ตัดสินใจเป็นนักการเมือง 2 วัน อีก 2 อาทิตย์ต่อมาก็ได้พบท่านชวน เพราะพ่อของเพื่อนรู้จักกับท่านชวน ท่านชวนเป็นคนแรกที่ได้รู้จัก ท่านเชียร์ คนจะเป็นนักการเมืองทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีโชค มีดวงด้วย”

“ตอนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นประธานสรรหาผู้สมัคร ท่านชวนไม่ได้เกี่ยวข้อง ท่านให้โอกาสคนที่ตั้งใจเป็นนักการเมือง ท่านพาไปสวัสดีผู้ใหญ่ในพรรค และให้คนพาไปสมัครเป็นสมาชิก มีท่านผุสดี ตามไท เป็นผู้อำนวยการพรรค รุ่งขึ้นจึงได้พบกับหัวหน้าอภิสิทธิ์”

“หัวหน้าเปิดใจมาก พรรคสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจ แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่น่าสนใจให้ลง ถ้าลงแพ้แน่ ๆ อย่าลงเลย เงินทองไม่มีให้นะ ไหวไหม ได้มาฟังความจริงใจของหัวหน้า พูดในสิ่งที่คิดว่าคนอื่นคงไม่พูดกับคนที่เพิ่งเดินเข้าพรรค”

ภูมิใจถูกเรียกว่า “สายชวน”

“รัชดา” ยอมรับว่า การพบ “ชวน” ในวันนั้น เหมือนเป็น “ใบผ่านทาง” ทางการเมือง และคนที่ผ่านสายตาของ “ผู้มีบารมี” แห่งประชาธิปัตย์ มักมีเส้นทางการเมืองที่ดีทุกคน และภูมิใจหากใครบอกว่า เธอเป็น “สายชวน”

“เป็นนิมิตหมายที่ดี การได้เล่าที่มา-ที่ไปของการเข้าสู่การเมืองทุกครั้ง ตัวเองเกิดความภูมิใจ พรรคภูมิใจที่เป็นพรรคเปิดกว้าง ไม่จำเป็นต้องมีเส้นสาย”

“ไม่ได้รู้จักใครเลย เดินเข้ามาขอพบ ท่านชวนก็ให้พบ มีกระบวนผลักดันคนใหม่เสมอ พร้อมเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต้องการแสดงบทบาท”

“ท่านชวนเป็นปูชนียบุคคล เราไม่สามารถก๊อบปี้ใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่ในตัวท่านมีเรื่องราวมากมายที่เราควรจะเรียนรู้และเอาเป็นต้นแบบ การเดินเข้าพรรคแล้วได้พบท่านเหมือนความโชคดี”

“ทุกคนเป็นสายท่านชวน เคารพท่านชวน (หัวเราะ) พรรคไม่มีสาย หรืออาจจะมี แต่ก็เป็นธรรมชาติปกติว่า เราสนิทกับใคร แต่ถ้าจะบอกว่า เราเป็นสายท่านชวน ก็ดีใจ ภูมิใจ”

ยึดอาวุโส-ลำดับชั้น

“รัชดา” ไม่ปฏิเสธเสียงลือเสียงเล่าอ้างจาก “อดีต ส.ส.” จำนวนไม่น้อย ที่หันหลังให้กับประชาธิปัตย์ เพราะเหตุผล “ลำดับชั้น” เลื่อนขั้นทางการเมืองโดยยึดหลักอาวุโส

“จริงค่ะ แต่ หนึ่ง องค์กรทางการเมืองไม่เหมือนองค์กรอื่นที่มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สำหรับนักการเมืองการได้เป็น ส.ส. ถือว่าสูงสุดในชีวิตแล้ว สอง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ 73 ปี ลำดับอาวุโส เป็นสิ่งที่เราให้เกียรติและยอมรับ”

“อาวุโสสำคัญ เรามีอันดับขั้นในการเคารพ แต่ไม่ใช่การปิดกั้นการเติบโต หรือปิดกั้นโอกาสที่จะแสดงผลงาน พรรคให้น้ำหนักเรื่องผลงานมากที่สุด ให้ความสำคัญกับคนที่เต็มที่กับงานในพื้นที่ และคนที่มีบทบาทในสภา สะท้อนปัญหาประชาชน”

“อย่ายึดติดว่า เป็น ส.ส.มาแล้ว 2 สมัย ต้องเป็นรัฐมนตรี ถ้าไม่ได้ ไม่ใช่ล้มเหลว ถ้าได้ ไม่ใช่เก่งกว่าคนอื่น บางคนมีคำถามตามมาว่า คนแบบนี้เป็นรัฐมนตรีได้ไง ทุกพรรคมีคำถามนี้กับทุกตำแหน่ง”

ไม่ฝันเป็น รมต.-ไม่ตายคาสภา

“รัชดา” ไม่ทะเยอทะยานอยากเป็นรัฐมนตรี-ไม่ขอตายคาสภา ขอทำงานเพื่อสังคมในบั้นปลาย-หลังชีวิต ส.ส.

“อยากเป็นตัวแทนประชาชน อยากกลับไปเป็น ส.ส. เป็น ส.ส.ก็ทำประโยชน์ได้ เป็นรัฐมนตรี…ถ้ามีโอกาสก็พร้อมที่จะเป็น แต่เข้าใจวิธีการที่จะได้มาซึ่งตำแหน่ง ไม่เหมือนบริษัทเอกชนที่ต้องทำยอดขายให้ได้เยอะ หรือมีตัวชี้วัดว่า ทำได้เท่านี้แล้วจะได้ตำแหน่งนี้”

“ต้องอยู่อย่างเข้าใจ ต้องรู้ว่า อยู่ตรงไหน ทำอะไรแล้วเป็นประโยชน์ บั้นปลายชีวิตการเมืองยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่จะเป็น 4-5 สมัยแล้วตายคาสภา เวลาสั้นลงกว่าเดิมเยอะ ทำให้ดีที่สุด เตรียมพร้อมไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่า อนาคตถ้าไม่ได้เป็นนักการเมือง คงทำในด้านสังคม”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0