โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รัชกาลที่ 4 ทรงกริ้ว!! ผู้ถวายฎีกาเรียก “กะปิ” ด้วยภาษาพม่าว่า “งาปิ”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 มี.ค. 2564 เวลา 03.24 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2564 เวลา 11.16 น.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

คนไทยส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับ “กะปิ” อาหารหมักกลิ่นแรงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในอาหารไทยหลายตำรับเป็นอย่างดี แม้ว่าผู้เขียนจะเคยเจอเด็กบางกอกที่เกลียดกลิ่นกะปิจนกินไม่ได้อยู่บ้างแต่ก็น้อย ส่วนใหญ่จะไม่ชอบกลิ่นของมันก่อนปรุง แต่เมื่อปรุงสำเร็จส่วนใหญ่ก็กินได้โดยไม่รังเกียจ

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกะปิที่ผู้เขียนอยากจะแบ่งปันก็คือ ที่แถวบ้านผู้เขียนซึ่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำตาปีนั้น จะเรียกกะปิด้วยภาษาถิ่นว่า “เคย” เนื่องจากมันถูกทำมาจาก “เคย” สัตว์น้ำขนาดเล็กในกลุ่มครัสเตเชียน เช่นเดียวกับพวกกุ้ง กั้งและปู ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้ใช้เรียกกะปิ ต่างกันตรงที่พระองค์ทรงเรียกยาวกว่าคนใต้ทั่วไปอีกนิด โดยทรงใช้คำว่า “เยื่อเคย” แทน

และเรื่องการใช้คำเรียกกะปินี้ เคยเป็นประเด็นที่ทำให้พระองค์ทรงกริ้วมาแล้ว ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของ ส. พลายน้อย ที่กล่าวว่า

“เรื่องเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ในครั้งนั้นมีผู้แต่งหนังสือถวายฎีกา และในฎีกานั้นมีกล่าวถึงกะปิ แต่ไม่ใช้คำว่ากะปิอย่างชาวบ้านคนไทยใช้กัน กลับไปใช้คำว่า ‘งาปิ’ แทน การที่ใช้คำว่างาปิ ก็ประสงค์ที่จะให้ตรงกับภาษาพม่า ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบก็ทรงกริ้วว่าอุตริ รับสั่งให้เขียนประกาศสั้นๆ ไปปิดไว้ที่กำแพงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ คือกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก มีความว่า ห้ามเรียกกะปิว่างาปิ แต่ให้เรียกว่าเยื่อเคย หรือจะคงเรียกว่ากะปิต่อไปก็ตามใจ ให้ประกาศแก่ราษฏรโดยทั่วกัน”

ฟังแล้วก็ยังเพิ่งคิดไกลว่าเป็นเพราะอุดมการณ์ชาตินิยมที่ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงรับไม่ได้กับการเอาคำพม่ามาใช้แทนคำที่คนไทยใช้เรียกกันเป็นปกติ เพราะจริงๆ คำว่ากะปินั้นก็ไม่น่าใช่คำไทยแท้ แต่น่าจะเป็นคำที่คนไทยไปยืมคำมอญ-พม่ามาใช้ เพราะคำว่าปลานั้นภาษามอญเรียกว่า “กะ” พม่าเรียกว่า “งา” ส่วน “ปิ” เป็นคำพม่าแปลว่าทับ พม่าจึงเรียกกะปิว่า “งาปิ” ส่วนไทยนั้นน่าจะเอาคำมอญผสมคำพม่ากลายเป็น “กะปิ” ไป ตามที่ ส. พลายน้อย อ้างความเห็นของอาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ มาอธิบาย

ส่วนเหตุที่มีผู้ถวายฎีกาว่าถึงกะปิ แต่กลับไปเขียนว่างาปิตามที่พม่าเรียกนั้นเป็นเพราะในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีการตั้งภาษีกะปิ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์รับสั่งเจ้าพนักงานพระคลังสินค้าว่าจะเขียนตราตั้งแลบาญชีอย่าให้ออกชื่อว่ากะปิเป็นของหยาบคายต่ำช้า ให้ยักเขียนแลกราบทูลเสียว่างาปิ ตั้งแต่นั้นมาคำว่างาปิก็เป็นภาษาราชการสืบมา

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มีผู้กราบทูลพระกรุณาออกชื่องาปิก็ไม่โปรด ว่าเหตุใดจึงต้องไปเปลี่ยนชื่อที่คนเรียกกันมาช้านาน เมื่อพระรัตนโกษาทูลว่า ของอันนี้มีผู้ดูถูกดูแคลนอยู่ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ก็เห็นว่าไม่ควรมีในท้องตราและคำกราบทูล จึงให้แปลงเป็นงาปิมานานแล้ว ถ้าพระองค์ (รัชกาลที่ 4) ไม่โปรดก็ขอรับพระราชทานชื่ออื่นที่สมควรลงในท้องตราให้พ้นจากคำว่างาปิ

พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ถ้าจะแปลงก็ควรแปลงให้หมดมิใช่แค่ครึ่งๆ กลางๆ จึงโปรดให้ใช้คำว่า “เยื่อเคย” แทน แล้วสั่งให้พระยามณเฑียรออกประกาศว่า ถ้าจะกราบทูลเรื่องกะปิ จะเรียกว่า “กะปิ” อย่างเดิมก็ได้ หรือถ้ารังเกียจก็ให้ใช้ว่า “เยื่อเคย” ก็ได้

แต่ปัญหาไม่ได้จบลงแค่นั้น ส. พลายน้อย เล่าว่า ขณะที่รับสั่งนั้นพระยารักษ์มณเฑียรหมอบอยู่ไกลฟังไม่ถนัด จึงไปสั่งกรมพระนครบาลให้ประกาศแก่ราษฎรว่า ไม่ให้เรียกกะปิว่ากะปิ ให้เรียกใหม่ว่าเยื่อเคย ใครขัดคำสั่งให้ปรับไหมมีโทษ กลายเป็นเหตุให้คนโกงคอยขู่กรรโชกเอาเงินจากคนที่ยังเรียกกะปิว่ากะปิไปเสีย ทำให้รัชกาลที่ 4 ต้องทรงแถลงแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าวอีก

 

อ้างอิง: “กะปิเป็นเหตุ”. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ” โดย ส. พลายน้อย (พิมพ์ครั้งที่ 2), สิงหาคม 2548

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2559

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0