โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รักเธอเสมอ “น่าน” ขึ้นดอยสูงเสมอดาว มนต์ขลังวัดงาม เมืองเก่ามีชีวิต

Manager Online

เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 07.56 น. • MGR Online

Youtube :Travel MGR

ในวันที่สายลมเย็นยังโชยผ่านเบาๆ มาเป็นระลอก เราก็หาวันว่าง เก็บกระเป๋า เพื่อไปเยือนเมืองสวยมีเสน่ห์อย่าง “น่าน” ที่สามารถเที่ยวได้ในทุกฤดูกาล มีความงดงามแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา หากว่ามาในฤดูร้อนก็จะได้เจอกับความสดใสของดอกไม้ ส่วนช่วงฤดูฝนก็มีความเขียวขจีของป่าไม้ ส่วนช่วงฤดูหนาวก็มาสัมผัสกับความหนาวเย็นชื่นใจ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด “น่าน” ยังคงเป็นเมืองที่มีมนต์ขลัง มีเสน่ห์ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ วิถีชีวิตที่ไม่รีบเร่ง ผสานกับเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดต่อมาจากคนยุคก่อน ทั้งหมดนี้ทำให้น่านยังคงอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

เริ่มต้นทริปน่านครั้งนี้ที่ “อุทยานแห่งชาติศรีน่าน” (อ.นาน้อย จ.น่าน) อันมี “ดอยเสมอดาว” เป็นจุดท่องเที่ยวชื่อดัง ซึ่งหากใครไปกางเต๊นท์ที่นั่น ในยามค่ำคืนก็จะสามารถมองเห็นดาวระยิบระยับกว้างไกล (ในคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง) โดยเฉพาะบน “ลานดูดาว” ทางยอดเนินฝั่งตะวันออก ที่เป็นจุดชมทะเลหมอก พระอาทิตย์ จุดชมวิว และจุดชมดาว ที่เมื่อจากตีนเนินมองแหงนขึ้นไปจะเห็นภาพของยอดดอยอยู่ไล่เลี่ยในระดับเดียวกับหมู่ดาวที่พร่างพราว

ส่วนในยามเช้าก็มานั่งรอชมพระอาทิตย์ขึ้น แสงอาทิตย์ค่อยๆ สาดส่องมาจากเส้นขอบฟ้า หากมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็จะมีม่านหมอกให้ได้ยล ยิ่งวันไหนโชคดี ก็จะมีทะเลหมอกหนาแน่นลอยเป็นปุยดูนุ่มนวลแหวกว่ายอยู่ในซอกหลืบของหุบเขาเป็นแนวยาว ยิ่งยามที่แสงตะวันสาดส่องโผล่ลอดทะเลแนวม่านเมฆเป็นเส้นลำ ยิ่งทำให้ทะเลหมอกแห่งนี้ดูงดงามราวภาพฝัน

บนดอยเสมอดาว นอกจากจะมากางเต๊นท์รอดูดาว ชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก อีกมุมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของดอยเสมอดาวก็คือ “ผาหัวสิงห์” มีลักษณะเป็นผาหินปูนที่มีรูปร่างเหมือนสิงโตนอนหมอบชูคอหันไปทางทิศตะวันออก หากใครต้องการขึ้นไปชมวิวบนผาหัวสิงห์ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ให้นำทางขึ้นไป ซึ่งด้านบนก็จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ 360 องศา

อีกจุดท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อยู่ห่างจากดอยเสมอดาวไปประมาณ 4 กิโลเมตร ที่นี่ก็คือ “ผาชู้” อันเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร บ้านพักและจุดกางเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวมาเลือกพักค้างแรมกันแบบใกล้ชิดธรรมชาติ

สำหรับชื่อของผาชู้นั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า คำว่า “ชู้” ในที่นี่ ไม่ได้หมายถึงชู้สาว แต่หมายถึงคนรัก ซึ่งที่นี่มีตำนานรัก 3 เส้าอันแสนรันทด ระหว่าง “เจ้าจ๋วง” หนุ่มรูปงามเจ้าแขวงเมืองศรีษะเกษ กับ“เจ้าจันทน์ผา” (เจ้าจันทร์) และสาว “เอื้อง” (เจ้าเอื้อง)

นอกจากตำนานรักอันลือลั่นตำนานนี้แล้ว ที่มาของชื่อผาชู้ยังมีข้อสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า “เชิดชู”บ้าง มาจากคำว่า“ชูธง”บ้าง เพราะบนยอดผาชู้นั้น มีเสาธงชาติไทยชักธงชาติปลิวไสวตั้งอยู่

เป็นเสาธงชาติอันขึ้นชื่อเพราะมีสายชักธงชาติยาวที่สุดในประเทศไทยถึง 200 เมตร (ไป-กลับ) เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของผาชู้ที่มีคนนิยมไปถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก

ส่วนใกล้ๆ ตัวอำเภอนาน้อย มีแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากความน่าอัศจรรย์ทางธรณีวิทยา 2 แห่งด้วยกัน ได้แก “เสาดินนาน้อย” (หรือ “ฮ่อมจ๊อม”) และ “คอกเสือ” ที่ตั้งใกล้ๆ กัน (ห่างกันราว 800 เมตร) ใน ต.เชียงของ และเป็นส่วนหนึ่งของ อช.ศรีน่าน

เสาดินนาน้อยและคอกเสือเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาคล้าย “แพะเมืองผี” ที่ จ.แพร่ ตามข้อมูลระบุว่า ที่นี่น่าจะมีอายุราว 10,000 - 30,000 ปี และเคยเป็นก้นทะเลมาก่อน ก่อนจะการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย แล้วถูก ดิน น้ำ ลม กัดเซาะ เกิดเป็นธรรมชาติรูปร่างประหลาด

สำหรับ “เสาดินนาน้อย” มีพื้นที่ราว 20 ไร่ หากได้เดินเข้าไปด้านในแล้วห็เหมือนกับหลุดออกไปอยู่อีกโลกหนึ่ง มีประติมากรรมธรรมชาติรูปทรงประหลาด เป็นเสา เป็นแท่ง เป็นภูเขาแหลมลูกเล็กๆ หรือเป็นแนวกำแพงดินยึกไปยักมา ซึ่งหลายจุดมีชื่อเรียกขาน ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำเสือโคร่ง เสาปู่เขียว เสาอี่บด ซอกถ้ำโพรงดินมนุษย์ยุคหิน เป็นต้น

ส่วน “คอกเสือ” นั้น มีลักษณะเป็นหลุมดินกว้าง มีบันไดทางเดินลงไปดูประติมากรรมดินที่เด่นไปด้วยแนวกำแพงกินยักษ์และภูเขาดินทรงเจดีย์ให้ได้ตื่นตาตื่นใจกับการสรรค์สร้างของธรรมชาติ เหตุที่บริเวณนี้เรียกว่าคอกเสือ เนื่องมาจากในอดีตแถบนี้มีเสืออาศัยอยู่จำนวนมาก พวกมักจะออกมาไล่กินวัวควาย และหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เหล่าชาวบ้านจึงช่วยกันไล่ต้อนเสือให้ลงไปในหลุมดินแล้วช่วยกันปาก้อนหินและไม้แหลมขว้างใส่เสือจนตาย

จาก อ.นาน้อย ก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง “น่าน” เมืองเล็กแต่น่ารักที่มีเสน่ห์โดดเด่นในความเป็น “เมืองเก่ามีชีวิต” ด้วยมนต์เสน่ห์ของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออกอันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

มาถึงเมืองน่านแล้วก็ต้องมาไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัย เริ่มต้นจากที่ “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง ห่างจากตัวเมืองน่านแค่ราว 3 กิโลเมตร พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย องค์พระธาตุเป็นแบบล้านนาสีทองสุกปลั่ง เล่ากันว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย และบริเวณด้านข้างองค์พระธาตุยังเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามให้ได้สักการะเป็นสิริมงคลกัน

กลับเข้ามาในตัวเมือง มาสัมผัสกับ “หัวแหวนเมืองน่าน” หรือย่านเมืองเก่าอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า เปรียบได้ดังเพชรเม็ดงามบนตัวแหวน โดยหัวแหวนเมืองน่านหมายถึงบริเวณสี่แยกข่วงเมือง (อ.เมืองน่าน) อันเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ “วัดภูมินทร์” วัดงามโดดเด่นแห่งเมืองน่าน ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ที่เป็นไฮไลท์คือในพระวิหารมี “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีทองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4

นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ยังมีความโดดเด่น โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่อยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก ที่ใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

เยื้องกับวัดภูมินทร์ คือ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อพระเจ้าหลวง” ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ส่วนด้านข้างพระวิหารเป็น “หอพระไตรปิฎก” ที่มีสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวิหารหลวง ปัจจุบัน ภายในหอพระไตรปิฎกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงามนามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี”

ส่วนฝั่งตรงข้ามวัดช้างค้ำเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” เมื่อครั้งอดีตเป็นที่ประทับของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เจ้าหลวงเมืองน่าน ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 จนกระทั่งกรมศิลปากรได้รับมอบอาคารจากกระทรวงมหาดไทย และทำการซ่อมแซม จนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530 โดยพื้นที่ภายในนั้นจัดแสดงโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองน่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญจัดแสดงให้ได้ชม อาทิ พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ หีบพระธรรมไม้แกะสลัก ฝีมือช่างสกุลน่าน, สมุดข่อยอาณาจักรหลักคำกฎหมายเมืองน่าน, ศิลาจารึกหลักที่ 64 อักษรสุโขทัย โดยเฉพาะ “งาช้างดำ” ที่ถือว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่าน

บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์มีอนุสาวรีย์พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช โบราณสถานวัดน้อย และมีอุโมงค์ต้นลีลาวดีเป็นจุดถ่ายรูปสุดโรแมนติก

มีอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาดนั่นคือ “วัดมิ่งเมือง” วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านขนาดสูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง นอกจากนั้นความงามโดดเด่นของวัดมิ่งเมืองยังอยู่ที่ลวดลายปูนปั้นสีขาวของพระอุโบสถซึ่งมองเผินๆ อาจคล้ายกับวัดร่องขุ่น แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป โดยเป็นงานฝีมือตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจ

ปิดท้ายที่จุดชมวิวเมืองน่านที่งดงามไม่แพ้จุดไหน นั่นคือ “วัดพระธาตุเขาน้อย” เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ซึ่งด้านในนั้นบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และนอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวสวยๆ ของเมืองน่าน ที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ทำให้ภาพเมืองน่านและด้านหลังของพระพุทธรูปองค์นี้กลายเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแสงสวยๆ ยามเช้าตรู่หรือยามค่ำ หรือแม้แต่ในยามกลางวันที่สามารถเห็นเมืองน่านได้อย่างเต็มตา

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0