โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"รักของท่านหญิง" สำรวจความรัก-การแต่งงานของเจ้านายสตรีที่เปลี่ยนไปหลัง 2475

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 พ.ค. 2566 เวลา 05.08 น. • เผยแพร่ 02 พ.ค. 2566 เวลา 05.08 น.
ภาพปก-รักท่านหญิง
(ซ้าย) หม่อมเจ้ากุมารีเฉลิมลักษณ์ ดิศกุล กับ หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ (ขวา) หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล กับ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ส่งผลให้ เจ้านายฝ่ายใน หรือ เจ้านายสตรี สามารถสมรสกับสามัญชนได้ หลังจากนั้นจึงมี เจ้านายสตรี กราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสอย่างต่อเนื่อง “การแต่งงาน” ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมีหลายกรณีที่น่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิดประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ทุกชนชั้นและทุกเพศมากขึ้น แม้ว่าเสรีภาพสำหรับเจ้านายผู้หญิงนั้นอาจต้องแลกกับฐานันดรศักดิ์อันสูงส่งก็ตาม บทความเรื่อง “บันทึกรักท่านหญิง : ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 2475” ของวีระยุทธ ปีสาลี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน 2559) อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าด้วยการแต่งงานไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เจ้านายสตรี แต่งงานกับเจ้านายฝ่ายหน้า, สามัญชน หรือคนต่างชาติ

แต่ก่อนจะพูดถึงการแต่งงานของเจ้านายสตรีที่เปลี่ยนแปลงไป อาจต้องทำความเข้าใจบริบทความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 วีระยุทธ บรรยายว่า การดำเนินชีวิตของเจ้านายผู้หญิงถูกกำหนดจากกฎมณเฑียรบาลประหนึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม และบัญญัติบทลงโทษไว้ในกรณีที่ประพฤติผิดขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี

ส่วนสาเหตุที่การเสกสมรสของเจ้านายผู้หญิงไม่เป็นที่นิยมก็เพราะว่า เจ้านายผู้หญิงต้องสมรสกับเจ้านายฝ่ายหน้า ที่มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าหรือเท่ากันเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าหญิง และพระองค์เจ้าหญิงมักสมรสไม่ได้ เว้นแต่ว่าได้สมรสกับกษัตริย์หรือเจ้านายพี่น้องชั้นที่ใกล้ชิดสนิทกัน ดังเช่นพระธิดาของพระอนุชาในรัชกาลที่ 5 เสกสมรสกับพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5

แต่สำหรับ เจ้านายสตรี ที่ประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีกฎระเบียบไม่เคร่งครัดมากนัก ก็มีโอกาสขัดต่อกฎมณเฑียรบาลไปมีสามีที่สกุลต่ำกว่าได้ ดังที่เกิดขึ้นกับเจ้านายผู้หญิงชั้นหม่อมเจ้าและเจ้านายวังหน้าหลายพระองค์ อาทิ หม่อมเจ้าหญิงสวัสดิ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ซึ่งปรากฏข้อความในบันทึกเอกสารรัชกาลที่ 7 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ร.7 ค. 16/17) เรื่องหม่อมเจ้าหญิงสวัสดิ์ขอพระราชทานเงินเลี้ยงชีพ (27 ก.ค.-29 ส.ค. 2471) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อยังสาวนั้นกระทำตนให้เป็นที่โปรดปรานของเจ้านายฝ่ายหน้าหลายพระองค์ ต่อมาได้ลดตัวลงคบกับนายฉันเปีย (ซึ่งภายหลังเป็นพระยาราชานุประพันธ์) จึ่งเกิดความขึ้น นายฉันเปียต้องรับพระราชอาญา”

ขณะที่เจ้านายผู้หญิงชั้นลูกหลวงและหลานหลวงบางพระองค์ถูกหมายมั่นให้เป็นพระภรรยาเจ้าของกษัตริย์ เพื่อผดุงพระเกียรติยศแห่งพระราชโอรสธิดา ตามแนวคิด “อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี” หมายถึง การเป็นผู้บริสุทธิ์ มีชาติกำเนิดดีทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ มีบิดาและมารดาเป็นเจ้าด้วยกันทั้งคู่

ส่วนการหย่าร้าง อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของการสมรสในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่พระราชวงศ์

ความคิดเรื่อง “การแต่งงาน” ในหมู่เครือญาติของกลุ่มเจ้านาย เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสยามได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก ประกอบกับการที่เจ้านายบางพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศตะวันตก แล้วนำเอาแนวคิดเรื่องการแต่งงานและการเลือกคู่ครองมาเป็นแนวปฏิบัติกับตนเอง

เจ้านายบางพระองค์เริ่มตระหนักว่า การสมรสกันในหมู่พี่น้องนั้นเป็นเครื่องแสดงถึงความล้าหลัง อีกทั้งยังอธิบายด้วยเหตุผลทางการแพทย์สมัยใหม่ ส่วนเจ้านายผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาจากโลกตะวันตกอย่าง หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ วรวรรณ ก็ตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะเสกสมรสกับผู้ชายที่ทรงรักเท่านั้น แม้เจ้านายรุ่นเก่าก็เริ่มคล้อยตาม และเปลี่ยนความคิดเรื่องการแต่งงานของเจ้านายผู้หญิงกับสามัญชน

แต่มโนทัศน์เหล่านี้ เป็นเพียงกรอบแนวคิดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกรอบของกฎหมาย การแต่งงานระหว่างเจ้านายผู้หญิงกับสามัญชนยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น รัฐบาลคณะราษฎรก็ประกาศแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสของเจ้านาย

แต่ก่อนที่คณะราษฎรจะออกประกาศ “กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475” ย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงออกประกาศ “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์” เมื่อ พ.ศ. 2461 เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า การเสกสมรสของเจ้านายในพระราชวงศ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น บ้างก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล บ้างก็กระทำการเสกสมรสกันเองโดยมิได้กราบบังคมทูล ทรงเกรงว่าจะกระทำไปอย่างไม่สมพระเกียรติยศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลขึ้น

โดยมีใจความหลักคือ ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป เมื่อจะเสกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะกระทำการพิธีนั้นได้

เมื่อคณะราษฎรออกประกาศ “กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475″ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2475 เพียง 1 เดือนครึ่งหลังการประชุมสภาครั้งแรก ใจความสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาอยู่ในมาตรา 3, 4 และ 5 คือ

“มาตรา 3 พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะทำการสมรสกับผู้ใด ท่านว่าต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

มาตรา 4 เจ้าหญิงองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ดังนั้นไซร้ ท่านว่าต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน

มาตรา 5 ถ้าพระราชวงศ์องค์ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 4 ไซร้ ท่านว่าให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์”

หลังจากประกาศแล้ว หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์แรกที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เพื่อสมรสกับหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2475 และตามมาอีกหลายพระองค์

บทความของวีระยุทธ แบ่งลักษณะการแต่งงานของ “เจ้านายสตรี” หลังการออกประกาศ “กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475” เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การแต่งงานกับเจ้านายฝ่ายหน้าดังเดิม การแต่งงานกับสามัญชน และการแต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยทั้ง 3 ลักษณะแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งงานของเจ้านายผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกสมัยใหม่

การแต่งงานของเจ้านายสตรีกับเจ้านายฝ่ายหน้า

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังมีเจ้านายผู้หญิงบางส่วนแต่งงานกับเจ้านายฝ่ายหน้าเช่นเดิม ทำให้ไม่ต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ แต่ที่น่าสนใจคือได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบจารีตเกี่ยวกับการแต่งงานของชนชั้นเจ้านายบางประการ ตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 2 ประการ คือ

ประการแรก เจ้านายผู้หญิงสามารถแต่งงานกับเจ้านายฝ่ายหน้า ที่มีพระอิสริยยศต่ำกว่าได้ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเสกสมรสกับพระองค์เจ้าชาย ดังกรณี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสกสมรสกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช

ประการที่ 2 เจ้านายผู้หญิงสามารถแต่งงานกับเจ้านายฝ่ายหน้า ที่มีอายุน้อยกว่า และอยู่ในลำดับชั้นเครือญาติต่ำกว่าได้ เช่น หม่อมเจ้าหญิงที่มีฐานะอยู่ในชั้นอา แต่งงานกับหม่อมเจ้าชายชั้นหลาน ดังกรณีการเสกสมรสของ หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ กับ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่แต่เดิมในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้านายฝ่ายในมีโอกาสพบปะกับเจ้านายฝ่ายหน้าในงานพระราชพิธี งานเทศกาลประจำปี งานประกวดหรือออกร้านต่างๆ โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่คอยเป็นธุระเปิดโอกาสให้ได้พบพูดคุยกัน แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว งานพระราชพิธีและงานเทศกาลประจำปีของเจ้านายเสื่อมความนิยมลง จึงเกิดพื้นที่ใหม่ให้เจ้านายฝ่ายในและเจ้านายฝ่ายหน้า รวมถึงราชนิกุลชายหญิง เช่น หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ได้มาทำความรู้จักกัน นั่นคือ งานช่วยเหลือสังคม ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดขึ้นตามวาระต่างๆ ที่สำคัญคืองานอาสาสมัครกาชาดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อคราวเกิดสงครามอินโดจีนใน พ.ศ. 2482 ต่อเนื่องไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2484

เจ้านายและราชนิกุลหลายคู่ที่ได้รู้จักและแต่งงานกันในครั้งนั้น อาทิ หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล กับ หม่อมหลวงฉายชื่น กำภู และ หม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ ดิศกุล กับ หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์

ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) ก็ได้พบกับ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร ที่งานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ จนเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพแห่งรัก

การแต่งงานของเจ้านายสตรีกับสามัญชน

เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ กล่าวคือ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายผู้หญิงที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชนนั้น ได้สมรสกับสามัญชนหลากหลายฐานะและอาชีพ เช่น ข้าราชการ แพทย์ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ พนักงานบริษัท หรือแม้แต่ศิลปิน ซึ่งวีระยุทธ อธิบายว่า เป็นผลมาจากมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับชายหนุ่มนอกพระราชวงศ์มากขึ้น

การแต่งงานระหว่างเจ้านายผู้หญิงกับสามัญชน ส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานระหว่างหม่อมเจ้าหญิงกับคนสามัญ ส่วนเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าหญิง ที่แต่งงานกับสามัญชนมีเพียง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพียงพระองค์เดียว

ผู้เขียนบทความยังตั้งข้อสังเกตว่า “นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เจ้านายผู้หญิงที่แม้ว่าจะเป็นเจ้านายชั้นสูงระดับเจ้าฟ้าก็ดูเหมือนว่าจะมีอิสระในเรื่องความรักความรู้สึกและการเลือกคู่ครองมากขึ้น นอกจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนเจ้านายที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงยากที่จะหาคู่ครองเป็นเจ้านายในระดับเดียวกันได้”

การแต่งงานของ “เจ้านายสตรี” กับชาวต่างชาติ

กรณีนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสมัยแรกเริ่มประชาธิปไตย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีปรากฏการณ์ลักษณะนี้คือ เจ้านายผู้หญิงมีโอกาสเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ มากกว่าที่จะเป็นการพบรักกันในประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ

หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นเจ้านายผู้หญิงพระองค์แรก ที่ทรงเสกสมรสกับชาวต่างชาติ หลังจากที่ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษใน พ.ศ. 2472

หม่อมเจ้าอุบลพรรณีทรงพบรักกับ นายแฮรี่ แครบบ์ พนักงานบริษัท Union Western Telegraph Ltd. ในระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ทั้งสองได้สมรสกันใน พ.ศ. 2477 โดยมิได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน ถือว่าละเมิดกฎมณเฑียรบาล หม่อมเจ้าอุบลพรรณีถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในเวลาต่อมา

อีกปรากฏการณ์คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเสกสมรสกับนายปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน (Peter Ladd Jensen) ชาวอเมริกัน หลังจากนั้นได้เสด็จไปพำนักอยู่กับพระสวามีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงใช้ชีวิตสมรสแบบสามัญชนอยู่นานถึง 26 ปี และใน พ.ศ. 2541 ทรงประกาศหย่า และเสด็จกลับมาพำนักที่ประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2544

เรียกได้ว่า “การแต่งงาน” กับชาวต่างชาติเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้เจ้านายผู้หญิงในยุคประชาธิปไตยเผชิญโลกใหม่ เป็นการเปลี่ยนขนบธรรมเนียมที่สำคัญของเจ้านายในราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างเจ้าหญิงกับชายต่างชาติในช่วงนั้น ก็ยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำครหามากกว่าเจ้าชายแต่งงานกับหญิงต่างชาติ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมรสกับ นางสาวคัทริน เดสนิตสกี (Catherine Desnitski) (หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก) สตรีชาวรัสเซีย) กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป จึงพบเจ้านายผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “บันทึกรักท่านหญิง : ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 2475” เขียนโดย วีระยุทธ ปีสาลี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0