โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ระวัง! โดน แมลงก้นกระดก กัด เสี่ยงเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้

MThai.com - Health

เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.
ระวัง!! โดน แมลงก้นกระดก กัด เสี่ยงเป็น ผื่นผิวหนังอักเสบ ได้
แมลงน้ำกรด หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนามของ “แมลงก้นกระดก” เป็นแมลงตัวเล็กๆ แต่ถ้าหากโดนกัดแล้วล่ะก็ อาจทำให้เกิด ผื่นผิวหนังอักเสบ ก็เป็นได้

แมลงน้ำกรด หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนามของ “แมลงก้นกระดก” ด้วงก้นกระดก หรือแมลงเฟรชชี่ เป็นแมลงตัวเล็กๆ แต่ถ้าหากโดนกัดแล้วล่ะก็ อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ ก็เป็นได้

แมลงก้นกระดก

ภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีชื่อว่า ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสโดนสารชนิดหนึ่งจากตัวแมลงที่มีชื่อว่า ด้วงก้นกระดก หรือ ด้วงปีกสั้น หรือ ด้วงก้นงอน (Rove Beetle, ชื่อวิทยาศาสตร์: Paederus fuscipes ) เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า “ด้วงก้นกระดก” แมลงชนิดนี้จัดอยู่ใน Genus Paederus , Family Staphylinidae, Order Coleoptera โดยพบกระจายทั่วโลก มากกว่า 600 สปีชี่ส์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น โดยมักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

หลังโดนกัดจะมีอาการอย่างไร

แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ออกมา ซึ่งสารชนิดนี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน และจะมีอาการแสบร้อนหรือ คันได้เล็กน้อยโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอาการปวดแสบรุนแรงแต่อย่างใด และมีการอักเสบของผิวหนังได้โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความมากน้อย หรือความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน

อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน โดยผื่นตุ่มน้ำตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัดได้ แต่แตกต่างจากผื่นงูสวัดคือผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งที่เกิดผื่นเหมือนเช่นในงูสวัด

ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ในเวลาต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 7 – 10 วัน หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง ได้แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็นนอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

ทำอย่างไร เมื่อโดนแมลงก้นกระดก

หากสัมผัสถูกตัวของ “แมลงก้นกระดก” แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วันไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้น หรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาผื่นก็คือการให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย

วิธีป้องกันแมลงก้นกระดก

คำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก” ก็คือ ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน รวมทั้ง ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน

ที่มา : ผศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0