โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ระวังเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม?

เดลินิวส์

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 07.18 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 09.10 น. • Dailynews
ระวังเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม?
สัปดาห์นี้แพทย์แนะดูแลตัวเอง อย่ามองข้ามอาการ “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” โรคใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม เตือนปล่อยไว้เสี่ยงเป็นเรื้อรังคันเป็นขุย เสียความมั่นใจในตัวเอง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการคัน ๆ เกา ๆ หรือมีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่าง ๆ ตามร่างกายเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่หลายคนมักมองข้าม ไม่ค่อยจะใส่ใจกันเท่าไหร่นัก และอาจก่อให้เกิดภาวะรุนแรงหรือเรื้อรังขึ้นได้

 

วันนี้จะพามาทำความรู้จักโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิด “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” หรือ “Atopic Dermatitis” ที่อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียสมาธิ สภาพจิตใจแย่ลง และส่งผลกระทบต่อการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โรคนี้เป็นโรคที่มีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ จากปฏิกิริยาภูมิแพ้ และปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคืองง่าย เกิดผื่นแดงคันตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมักจะพบในเด็กร้อยละ 10-20 แต่ก็เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนผู้ใหญ่ก็พบน้อยกว่า

 

ลองสังเกตจากลักษณะอาการของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งจะมี 3 แบบดังนี้

 

“ผื่นระยะเฉียบพลัน” คือ มีผื่นบวมแดงมากและคัน มีตุ่มแดง ตุ่มน้ำ บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา

 

“ระยะกึ่งเฉียบพลัน” คือ ผื่นและตุ่มแดงคันมีขุย อาจมีตุ่มน้ำบ้าง แต่ไม่พบน้ำเหลืองไหลซึมบนผื่น

 

“ระยะเรื้อรัง” คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมาก หรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา คัน มีขุย และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน

 

ส่วนตำแหน่งที่พบผื่นก็จะมีความแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย ในวัยทารก - มักจะพบผื่นผิวหนังอักเสบบ่อยบริเวณใบหน้า ซอกคอ และด้านนอกของแขนขา เนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูไถกับหมอน ผ้าปูที่นอน เพราะคันมาก ส่วนในเด็กวัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ - ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบบ่อยบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และคอ

 

สำหรับผู้ที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะขึ้นทั่วตัว บางคนอาจมีภาวะภูมิแพ้ทางจมูก ตา หรือ หอบหืดร่วมด้วย หรือบางคนอาจพบรอยโรคผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น *กลากน้ำนม ขอบตาคล้ำและมีรอยย่นใต้ตา ริมฝีปากแห้งเป็นขุย เส้นลายมือชัดลึก ขนคุด ผิวสากเหมือนหนังไก่ ผิวบริเวณหน้าแข้งแตกแห้งเป็นแผ่น เป็นต้น *

 

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า “พันธุกรรม” อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หอบหืด หรือมีโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจจะ…ซ่อนเร้นอยู่โดยไม่เกิดอาการ

 

นอกจากนี้ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ โดยผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป หรือสารเคมีที่ระคายผิวหนัง รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น แมลง เชื้อโรค เป็นต้น

 

ศ.พญ.กนกวลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการเริ่มแรกของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร้อยละ 50 จะพบในเด็กช่วงขวบปีแรก และร้อยละ 85 จะพบในเด็กช่วง 5 ขวบปีแรก เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้นพบว่าร้อยละ 40-50 อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี เด็กบางคนอาจยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีผื่นภูมิแพ้ในช่วงวัยผู้ใหญ่

 

“เป้าหมายของการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คือ เราพยายามควบคุมอาการของโรค ป้องกันไม่ให้กำเริบ และให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าโรคจะหายไป ทำให้แนวทางการรักษาเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อาการกำเริบ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น” คุณหมอ กล่าวแนะนำ

 

ดังนั้นหากสงสัยว่า…มีอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โรคที่เป็นเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว เช่น การนอน การเรียน การทำงาน ความมั่นใจ และการเข้าสังคม

 

แม้บางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แต่หากรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันการกำเริบของผื่นได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้เราเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติอีกด้วย.

………………………………..

คอลัมน์ : Healthy Clean  

โดย ทวีลาภ บวกทอง”  

ร่วมสนับสนุนโดย :

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0