โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนที่มา ทำไม "นักมวยไทย" ถึงต้องมีชื่อค่ายต่อท้าย?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 11 ส.ค. 2566 เวลา 04.11 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2566 เวลา 05.15 น.
ภาพปก - มวย
การชกมวยไทยที่สนามมวยเวทีลุมพินี (รามอินทรา) ภาพโดย Nick Wang จาก www.unsplash.com

“นักมวยไทย” สมัยนี้เวลาเรียกชื่อมักมีชื่อค่ายพ่วงท้ายเสมอ ซึ่งบางครั้งเมื่อรวมชื่อนักมวยเข้ากับชื่อค่าย เวลาอ่านออกเสียงก็ฟังดูมีเสน่ห์อีกแบบ อาทิ ชื่อนักมวยอย่าง“จอมโหด หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” (หมูปิ้งอร่อยจุงเบย คือชื่อค่ายมวยไทยที่มีจริง) กว่าที่ชื่อนักมวยไทยจะถูกเรียกขานกันเช่นนี้ก็มีที่มาที่ไปไม่น้อยทีเดียว

เส้นทางของมวยไทยในอดีตนั้น อาจกล่าวได้ว่าปรากฏชัดเจนเมื่อมีสนามมวยถาวรอันเป็นพื้นที่ให้นักมวยได้ออกลีลากันกึ่งอาชีพแบบชัดเจนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสนามมวยถาวรยุคแรกๆ คือ สนามมวยเวทีราชดำเนิน เปิดแข่งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2488 จัดแข่งในวันอาทิตย์ ต่อจากราชดำเนินก็มีสนามมวยถาวรอีกแห่งคือ สนามมวยเวทีลุมพินี เปิดแข่งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2496

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้าสนามมวยเวทีราชดำเนิน ก็มีสนามมวยปรากฏขึ้นหลายแห่ง แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน มีชื่อขึ้นแต่ภายหลังก็ยกเลิก ในช่วงก่อนหน้ามีสนามมวยเวทีราชดำเนินมี “คณะมวย” (ต่างจาก “ค่ายมวย” ในปัจจุบันอยู่บ้าง)

ระบบที่กล่าวข้างต้นเป็นการรวมตัวของ นักมวยไทย กลุ่มหนึ่ง การรวมตัวเป็นแบบหลวมๆ ไม่มีข้อกฎหมายผูกพัน มีหัวหน้าคณะ 1 คน ซึ่ง พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว อธิบายไว้ว่า หัวหน้าคณะมักเป็นคนมีบารมีกว้างขวางหรือมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ หัวหน้าคณะจะทำหน้าที่ส่งชื่อนักมวยในคณะเข้ารายการแข่งขันต่อสนามมวย เป็นครูสอนนักมวยหัดใหม่ และดูแลควบคุมการฝึกซ้อม ขณะที่นักมวยในคณะมักไม่ได้พักอาศัยกับหัวหน้าคณะ ยกเว้นคนที่มาจากต่างจังหวัดซึ่งพักกับหัวหน้าคณะเป็นครั้งคราว หรือพักตามสถานที่ซึ่งหัวหน้าคณะจัดหาให้

ทั้งหมดนี้ พ.ต.ท. สมพงษ์ เล่าว่า หัวหน้าคณะไม่ได้รับประโยชน์ใดจากทั้งรางวัลของนักมวย สิ่งที่หัวหน้าคณะได้รับคือค่าหัวหน้าคณะที่ผู้จัดแข่งจ่ายให้เป็นรายครั้ง เมื่อนักมวยจากคณะนั้นขึ้นชก

ส่วนนักมวยที่สังกัดคณะจะใช้ “นามสกุลแฝง” หรือนามสกุลจริงของตัวเองต่อท้ายชื่อ และจะมีชื่อคณะบอกต่อท้ายไว้เพื่อให้เป็นที่รู้กันว่าสังกัดคณะอะไร เช่น นายแอ ม่วงดี คณะกิลโมร์ นายแนบ นิ่มรัตน์ คณะนิวาสวัต (ต่อมาย้ายสังกัดไปอยู่ คณะลูกศร) นายบุญชิต ยอดยิ่ง คณะเทียมกำแหง นายผล พระประแดง คณะพญาไท เป็นต้น

พ.ต.ท. สมพงษ์ อธิบายในบทความ “ตำนานมวยมุสลิม” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558 ว่า ระบบ “คณะ” ซึ่งมีลักษณะเป็นการรวมตัวกันเพื่อจัดหางานชกให้กับนักมวยเช่นนี้ ต่อมาได้พัฒนามาเป็น “ค่าย” ในระบบธุรกิจสมัยใหม่

เริ่มตั้งแต่นักมวยส่วนใหญ่จะพักประจำที่ค่ายมวย หัวหน้าค่ายจะจัดการให้ พร้อมทั้งจัดเลี้ยงดูอาหารและของบำรุงร่างกายให้นักมวย หัวหน้าค่ายยังเป็นผู้เสนอชื่อมวยของตนเข้ารายการแข่งขันต่อโปรโมเตอร์ การฝึกซ้อมจะมีเทรนเนอร์เป็นผู้สอนและควบคุม

สังกัดค่ายอย่างปัจจุบันนี้ นักมวยกับหัวหน้าคณะจะมีข้อผูกพันทางกฎหมาย การย้ายค่ายต้องได้รับความยินยอมจากหัวหน้าค่าย และผลประโยชน์จากเงินรางวัลของนักมวยก็จะต้องแบ่งให้กับหัวหน้าค่ายตามอัตราที่ได้มีการตกลงกันไว้ระหว่างหัวหน้าค่ายกับนักมวย นอกจากนี้นักมวยในระบบปัจจุบันก็จะใช้ชื่อคณะหรือค่ายของตนเป็นนามสกุลแฝงบอกสังกัดไปเลยทีเดียว เช่น อภิเดช ศิษย์หิรัญ (ค่ายศิษย์หิรัญ) อดุลย์ ศรีโสธร (ค่ายศรีโสธร) เป็นต้น

เมื่อมาถึงในยุคที่เกิดระบบ “ค่าย” ขึ้นแล้วนี้ ในการพูดหรือเขียนก็ยังคงใช้คำว่า “คณะ” อยู่ หรือบางทีก็เรียกว่า “ค่าย” สลับเปลี่ยนกันไปตามความสะดวกหรือคุ้นเคย ไม่ได้แน่นอนตายตัว แต่เมื่อกล่าวถึงการสังกัด “คณะ” ของนักมวยในยุคแรกๆ ย่อมเข้าใจว่าเป็นไปในแบบที่กล่าวมาข้างต้น

สำหรับคณะมวยยุคแรกๆ หัวหน้าคณะย่อมเป็นเจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ การตั้งคณะขึ้นก็มิได้หวังผลประโยชน์จากนักมวย นอกจากชื่อเสียงว่าคณะของตนเป็นแหล่งรวมของนักมวยชั้นนำเท่านั้น เมื่อนักมวยในสังกัดของตนชนะก็ได้ชื่อ ทำนองเดียวกับนักดนตรีไทยในอดีตที่สังกัดอยู่กับเจ้านายต่างๆ

หากเอ่ยชื่อคณะมวยใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงในพระนคร ก็มีชื่อ อาทิ

คณะวังเปรมประชากร ในพระอุปการะของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีนายนาวาโท (ยศในขณะนั้น) พระชลัมพิสัยเสนีย์ ร.น. (นักมวยเรียก “คุณพ่อชลัมฯ”) เป็นผู้ควบคุมดูแล และจัดการในความเป็นอยู่ ตลอดจนการขึ้นชก

คณะไชยา มีความเกี่ยวพันกับคณะวังเปรมประชากร กล่าวคือ นักมวยทั้งหมดซึ่งเป็นมวยใต้ที่ขึ้นมาชกที่พระนคร จะไปซ้อมรวมกับคณะวังเปรมประชากร แต่เนื่องจากนักมวยเกือบทั้งหมดมาจากไชยา (โดยมีจากจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้บ้าง) มีพระยาวจีศรีสัตยารักษ์เป็นผู้อุปการะ และมีนางสาวชื่น ศรียาภัย บุตรสาวเป็นผู้จัดการดูแลนักมวยทั้งหมด จึงพอนับเป็นคณะใหญ่คณะหนึ่งได้ นักมวยทั้งหมดมาจากไชยาและจังหวัดอื่นๆ ภาคใต้บ้าง

คณะโรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นคณะที่ก่อกำเนิดนักมวยเอกขึ้นมามากมาย เริ่มเมื่อหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์ สวัสดิกุล ทรงนำเอาวิชามวยฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นคนแรก ได้ให้มีการฝึกวิชามวยให้กับนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยมีหลวงวิศาลดรุณกรเป็นผู้สอนวิชามวยไทย มีหลวงพิพัฒนพลกายเป็นผู้ควบคุมและร่วมฝึกสอน นักมวยมีชื่อจากคณะโรงเรียนสวนกุหลาบ เช่น นายจีน พลจันทร์ (เจ้าของฉายาคู่กับ นายทับ จำเกาะ แห่งคณะวังเปรมประชากร ที่ว่า “หมัดนายจีน ตีนนายทับ”)

คณะลูกศร มี ม.ร.ว. มาณพ ลดาวัลย์ เป็นทั้งครูและผู้อุปการะนักมวยในคณะ สัญลักษณ์ของคณะลูกศรก็คือรูปศรไขว้กันเป็นรูปกากบาท (จึงบางทีเรียกว่าคณะ “ศรไขว้”) นักมวยในยุคแรกๆ จะเป็นนักมวยมุสลิมเป็นส่วนมาก ถือได้ว่าเป็นคณะมวยมุสลิมคณะแรกของไทย นักมวยชื่อดังของคณะคือสะเล็บ คนทั่วไปเรียกว่า “บังสะเล็บ ศรไขว้” เป็นนักมวยเก่าที่ชกมาตั้งแต่ยุคคาดเชือก สนามมวยสวนกุหลาบ และเป็นหัวหน้าคณะนี้สืบต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงใหม่โดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตำนานมวยมุสลิม” โดย พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 27 มกราคม 2565

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0