โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รอยสักยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งตราบาปในญี่ปุ่น

AFP

เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 04.48 น. • Narueporn Anan
AFP / Behrouz MEHRI มานะ อิซูมิ อดีตดาราหนังเอวีของญี่ปุ่นย้อมผมเป็นสีบลอน์และสักภาพต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกายของเธอ
AFP / Behrouz MEHRI มานะ อิซูมิ อดีตดาราหนังเอวีของญี่ปุ่นย้อมผมเป็นสีบลอน์และสักภาพต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกายของเธอ

มานะ อิซูมิเริ่มสักครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี แต่เธอไม่ได้ต้องการประท้วงหรือพยายามละเมิดสิ่งต้องห้ามในสังคมญี่ปุ่นแต่อย่างใด เธอแค่อยากลอกเลียนลุคสุดเจ๋งของนามิเอะ อะมุโระ ศิลปินดีวาของญี่ปุ่นเท่านั้น

โดยแม้ว่าในสังคมญี่ปุ่นจะยังคงยึดโยงรอยสักเข้ากับอาชญากรรมและสิ่งชั่วร้าย แต่อิซูมิก็ยังตัดสินทำอยู่ดี เธอที่ตอนนี้อยู่ในวัย 29 ปีเล่าว่า “ฉันไม่ใช่แฟนเพลงของอะมุโระ แต่เห็นว่ารอยสักของเธอน่ารักดี ตอนที่แม่เห็นรอยสักครั้งแรกเธอร้องไห้เลยค่ะ และฉันคิดว่าพ่อจะฆ่าฉันแล้วตอนนั้น แต่ฉันชอบที่จะแตกต่างจากคนอื่น”

รอยสักยังคงมาพร้อมกับทัศนคติเชิงลบที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น โดยผู้ที่มีรอยสักจะถูกห้ามลงสระว่ายน้ำ ใช้บริการห้องอาบน้ำ ชายหาดและห้องออกกำลังกายสาธารณะ อย่างไรก็ตาม อิซูมิยังเชื่อมั่นกับรอยสักของเธอ และมองว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนแบ่งแยกกันด้วยรอยสัก

ทั้งนี้ รอยสักมักถูกยึดโยงกับแก๊งยากูซ่าของญี่ปุ่น ซึ่งจะปฏิญาณความภักดีต่อกันด้วยการสักสไตล์ “อิเระซูมิ” ทั่วร่างกาย

ไบรอัน แอชคราฟต์ เจ้าของหนังสือ “Japanese Tattoos: History, Culture, Design” กล่าวว่าญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งเปิดรับโลกภายนอกเมื่อทศวรรษที่ 1800 ได้กำหนดให้การสักเป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเกรงว่าคนภายนอกจะมองว่าพวกเขาเป็นพวก “ป่าเถื่อน” ซึ่งคำสั่งห้ามนั้นคงมีอยู่จนถึงปีค.ศ. 1948 ที่กองทัพอเมริกันเข้ามายกเลิกกฎดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทัศนคติยังคงฝังลึกในสังคม

แอชคราฟต์กล่าวว่า “เวลาที่คนมองรอยสักก็จะนึกถึงยากูซ่า แทนที่จะชื่นชมความงามของมันในฐานะศิลปะรูปแบบหนึ่ง และรอยสักก็จะยังคงอยู่ในพื้นที่สีเทาจนกว่าทัศนคตินั้นจะหายไป”

ไทกิ มาสุดะ ช่างสักในโอซากาเคยถูกจับกุมเมื่อปี 2015 ฐานละเมิดกฎหมายที่ร่างขึ้นอย่างคลุมเครือเมื่อ 70 ปีก่อน โดยเขาถูกปรับ 300,000 เยนฐานทำผิดกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่สั่งห้ามผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ดำเนินกระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งการสักถูกถือให้เป็นหนึ่งในงานทางการแพทย์เพราะมีการใช้เข็ม จึงทำให้งานของมาสุดะกลายเป็นอาชญากรรม

มาสุดะตัดสินใจสู้คดีและศาลก็เพิ่งกลับคำตัดสินเมื่อเดือนที่แล้ว เขากล่าวว่า “มันไม่มีกรอบทางกฎหมายมากำกับดูแลอุตสาหกรรมการสักในญี่ปุ่น การทำมาหากินด้วยอาชีพนี้ตกอยู่ในอันตรายผมจึงต้องต่อสู้ด้วยหวังว่าจะช่วยให้การสักเป็นสิ่งถูกกฎหมายได้”

ทั้งนี้ ศิลปินเก่าแก่ของญี่ปุ่นจำนวนมากคัดค้านแนวคิดที่จะทำให้อาชีพช่างสักถูกกฎหมาย

ทัศนคติต่อรอยสักของญี่ปุ่นจะถูกทดสอบในการแข่งขันโอลิมปิกและการแข่งขันรักบี้ระดับโลกในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีชาวต่างชาติและนักกีฬาที่มีรอยสักเข้ามามากมาย อย่างไรก็ตาม แอชคราฟต์กล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าโอลิมปิกจะเปลี่ยนทัศนคติไปมากเพียงใด” และเสริมว่ารายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นยังคงเบลอรอยสักอยู่เลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0