โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รวมนวัตกรรมสู้ COVID-19 พวกเราต้องผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้! – Think Positive ประจำเดือนมีนาคม 2563

a day magazine

อัพเดต 01 เม.ย. 2563 เวลา 04.08 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 04.08 น. • a team

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

สำหรับเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งนี้รัฐบาลเองก็ไม่มีมาตรการดูแลควบคุมโรคที่เหมาะสม ทำให้องค์กร หน่วยงาน และคนทั่วไป ต้องลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขสถานการณ์กันเอง เกิดเป็นนวัตกรรมน่าสนใจมากมาย ทั้งระบบ Crowdsource ที่อัพเดตพิกัดหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแบบง่ายๆ, แชตบอตในไลน์ไว้เช็กข่าวโควิด-19, เว็บไซต์ที่ช่วยทำให้คุณล้างมือสนุกขึ้น, นวัตกรรมหน้ากากผ้ากันน้ำ รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเชื้อไวรัสแต่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ ทรายแมวจากผักตบชวา และ ‘School Power’ โครงการจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

Crowdsource ที่ช่วยคุณอัพเดตพิกัดหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง

หลังจากที่ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และไวรัส COVID-19 มานานหลายเดือน ส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นกับเชื้อไวรัสอย่างหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือขาดตลาด ทั้งยังมีผู้จัดจำหน่ายบางรายที่กักตุนสินค้าเพื่อโก่งราคาจนคนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้

ไกลก้อง ไวทยการ และทีมงานอนาคตใหม่ จึงเกิดไอเดียร่วมกันสร้าง crowdsource แผนที่ฉบับประชาชน ติดตามสถานการณ์ รวมถึงแนะนำร้านค้าที่ขายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เพื่อสู้ฝุ่นพิษ PM2.5 และไวรัส COVID-19 เนื่องจากเขามีความรู้ด้านนี้จากการทำงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคมมาโดยตลอด

“เราใช้วิธีขอความร่วมมือว่าใครเจอร้านค้าไหนมีหรือไม่มีหน้ากากอนามัยก็ช่วยรายงานด้วย ซึ่งเราจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาแสดงให้ทุกคนดูในรูปแบบแผนที่ บอกสถานะว่ามีหรือไม่มี รวมถึงที่อยู่กับช่องทางติดต่อร้าน เพื่อให้คนที่ต้องการหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือไปหาซื้อได้ อีกอย่างหนึ่งคือเราจะได้มีข้อมูลว่าสินค้าเหล่านี้กลับคืนสู่ตลาดหรือยัง เป็นภาวะปกติหรือยัง รวมถึงเช็กด้วยว่ายังมีการโก่งราคาอยู่หรือเปล่า

“ตอนนี้เราแสดงผลข้อมูลบนเว็บไซต์อนาคตใหม่ โดยมีการอัพเดตทุกวันและพยายามบอกให้คนอื่นๆ ช่วยส่งข้อมูลมาด้วย ซึ่งตอนนี้ข้อมูลก็ยังน้อย มีอยู่ประมาณ 600-700 แห่ง อยากให้ทุกคนส่งข้อมูลมาเรื่อยๆ ว่าตอนนี้คุณหาซื้อหน้ากากอนามัยได้หรือไม่ได้ยังไง ร้านที่คุณไปมีหน้ากากอนามัยขายหรือเปล่า

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือการที่คนช่วยกันแบ่งปันข้อมูล เพราะมันมีทั้งคนที่ต้องการสินค้าและร้านค้าที่ต้องการบอกว่าตัวเองมีหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือขายนะ มาซื้อที่นี่ได้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้มาเจอกันทั้งอุปสงค์กับอุปทาน”

ส่วนวิธีตรวจสอบข้อมูลนั้น ไกลก้องกับทีมงานก็ไม่ละเลยจุดนี้ “เราใช้วิธีสุ่มเช็กดูและพยายามเช็กย้อนหลังทุกวันว่าสถานะปัจจุบันของร้านที่เคยบอกว่ามี ตอนนี้เป็นยังไงแล้วบ้าง มีทีมที่ช่วยดูและสุ่มตรวจ แต่อาจไม่ทั้งหมด ส่วนใหญ่ทำได้เฉพาะร้านที่มีของ ซึ่งเราพยายามสุ่มเช็กว่ามีของจริงไหมและมีอยู่แค่ไหน”

ถึงแม้ตรวจสอบข้อมูลที่รับมาไม่ได้ทั้งหมด แต่ไกลก้องมองว่าอย่างน้อยระบบ crowdsource นี้จะช่วยให้ประชาชนมีแหล่งข้อมูลหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปใช้ในยามฉุกเฉินอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

“เราเป็นตัวกลางทำเครื่องมือให้เป็นระบบ ต่อไปในภายภาคหน้าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภาวะฉุกเฉินหรือมีความต้องการสิ่งของบางอย่างในสภาวะที่จำเป็นต่อทุกคน จะได้มีระบบที่คนสามารถรายงานว่าของอยู่ที่ไหนและกระจายตัวยังไง เพื่อลดแนวโน้มการกว้านซื้อมากักตุน เพราะถ้าได้ข้อมูลว่าของมีอยู่หลายๆ ที่ก็อาจทำให้เกิดการค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ จัดการสินค้าได้ รวมถึงดูการควบคุมราคาและคุณภาพสินค้าได้ในระยะยาวด้วย”

แม้ว่าปัจจุบันระบบ crowdsource นี้อยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ในอนาคตไกลก้องและทีมอนาคตใหม่ตั้งใจว่าจะเปิดระบบพิกัดหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเป็น open source เพื่อให้คนทั่วไปที่มีความรู้ด้านนี้เข้ามาพัฒนาระบบให้สามารถทำตามวัตถุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน

ใครที่สนใจอยากร่วมส่งข้อมูลหรือใช้เป็นแหล่งข้อมูลประกอบการหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และไวรัสโคโรนา สามารถอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ที่ futureforwardparty.org/พิกัดหาซื้อหน้ากาก

สบายดีหรือเปล่า? เช็กทุกข่าวคราว COVID-19 ด้วย ‘สบายดีบอต’ แชตบอตใน LINE จาก Opendream

เป็นหวัดแบบนี้มีความเสี่ยงไหม? กักตัวอยู่บ้านต้องทำยังไง? อยากตรวจ COVID-19 ไปโรงพยาบาลไหนได้บ้าง? หากมีคำถามเหล่านี้ เราอยากชวนใช้ ‘สบายดีบอต บ่เอาโควิด’ แชตบอตในแอพพลิเคชั่น LINE ที่เพิ่งเปิดตัวโดย Opendream เดเวลอปเปอร์ที่เคยพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่าง DoctorMe มาแล้ว

เป้าหมายของแชตบอตนี้คือเพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสารเรื่อง COVID-19 ในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

วิธีการใช้คือเพิ่ม @sabaideebot เป็นเพื่อนหรือกดลิงก์ line.me/R/ti/p/@sabaideebot เท่านี้ก็สามารถแชตกับ ‘สบายดีบอต บ่เอาโควิด’ ได้แล้ว โดยมีฟีเจอร์ดังนี้

– บันทึกสุขภาพ: สบายดีบอตจะถามข้อมูลพื้นฐานคือเขตที่อยู่อาศัยและอายุ (ไม่เก็บข้อมูลที่ระบุตัวบุคคล) และอาการประจำวัน โดยระบบจะประเมินความเสี่ยงและส่งคำแนะนำที่เหมาะสมให้ เช่น หากมีไข้และเพิ่งกลับจากพื้นที่เสี่ยงระบบจะติดตามเก็บข้อมูลเป็นเวลา 14 วัน แต่หากมีไข้ และไอหรือเจ็บคอครบ 3 วันระบบจะแนะนำให้ไปหาหมอทันที

– ประเมินสถานการณ์ระบาด : ข้อมูลที่แชตบอตเก็บได้จะถูกนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากทางการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และประเมินความเสี่ยงสถานการณ์ระบาดในแต่ละพื้นที่ได้ ดูแบบเรียลไทม์ได้ที่ themomentum-coronavirus.web.app

– ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ COVID-19 : แนะนำวิธีเช็กสัญญาณอันตราย, การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกัน COVID-19, แนวทางป้องกันการแพร่เชื้อ, และวิธีป้องกันการติดเชื้อ

– โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง : แนะนำโรงพยาบาลที่รองรับการตรวจ COVID-19 และโรงพยาบาลที่ใกล้คุณ

– ประวัติสุขภาพ : บันทึกประวัติสุขภาพของคุณที่แจ้งไว้กับแชตบอต

– ฝากข้อความถึงทีมงาน : แชตกับบอตเพื่อถามคำถามที่สงสัยหรือจะให้กำลังใจทีมงานเบื้องหลังก็ได้

ที่สำคัญ แม้จะไม่มีอาการป่วยก็เข้าไปบันทึกอาการได้ (บอกแชตบอตว่าสบายดี) เพื่อช่วยกันรวบรวมข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญนำไปประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ยิ่งมีคนใช้เยอะก็ยิ่งมีข้อมูลประชากรเยอะ ยิ่งข้อมูลเยอะก็ยิ่งประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ เมื่อแม่นยำก็ยิ่งเตรียมการรับมือกับเฟสต่อไปได้ดีขึ้นนั่นเอง

Wash Your Lyrics เว็บไซต์ที่ช่วยออกแบบลีลาการล้างมือให้คุณด้วยเพลงโปรด

ถ้าอยากล้างมือให้สะอาด ต้องร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ทเดย์ให้จบ 2 รอบ

หลายคนคงเคยใช้ทริกนี้ในการล้างมือมาก่อน (บางคนอาจคุ้นเคยกับเพลงช้างมากกว่าก็ไม่ว่ากัน) ตามคำแนะนำของหน่วยงานป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา การล้างมือให้สะอาดในเวลา 20 วินาทีขึ้นไปช่วยป้องกันเราให้ห่างไกลจากเชื้อโรค และวิธีการนี้กลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้งเมื่อเราต้องเผชิญกับไวรัส COVID-19

แต่จะให้ร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ทเดย์แบบเดิมๆ มันก็น่าเบื่อไป William Gibson โปรแกรมเมอร์หนุ่มน้อยวัย 17 ปี จากเมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จึงผุดไอเดียเว็บไซต์ washyourlyrics.com ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนการล้างมือแบบเดิมให้สนุกขึ้นด้วยการออกแบบลีลาการล้างมือจากเพลงโปรดของคุณ

วิธีการก็ง่ายแสนง่าย เพียงเข้าไปที่ washyourlyrics.com แล้วกรอกชื่อเพลง ชื่อศิลปิน เลือกออปชั่นในการล้างมือ (สบู่หรือเจล) แล้วกด Generate เว็บไซต์จะออกแบบโปสเตอร์วิธีการล้างมือให้สะอาดด้วยเนื้อเพลงที่ร้องขอ โดยแบ่งเนื้อเพลงเป็นท่อนๆ ตามขั้นตอนการล้างมือให้เสร็จสรรพ

เพียงแค่สัปดาห์เดียว จำนวนคนใช้เว็บไซต์ก็พุ่งสูงมากกว่า 1 ล้านคน และแต่ละคนก็มาแชร์โปสเตอร์ฮาวทูล้างมือด้วยเพลงโปรดของตัวเองอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะล้างมือยั่วๆ ด้วยเพลง …Baby One More Time ของ Britney Spears, สะบัดมือแบบชาวร็อกด้วยเพลง Numb ของ Linkin Park หรือจะล้างมือแบบปล่อยวางด้วยเพลง Let It Be ของ The Beatles ก็ได้เหมือนกัน

ระดมทุนผลิต ‘หน้ากากผ้ากันน้ำ’ นวัตกรรมที่รัฐและเอกชนช่วยกันคิดขึ้นยามขาดแคลนหน้ากากอนามัย

แม้ข่าวคราวปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยจะเงียบลงไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไป หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งคิดค้นหน้ากากอนามัยสำหรับใช้งานในช่วงนี้ ซึ่งบางเจ้าก็เปิดขายให้คนทั่วไปหาซื้อได้ ส่วนบางที่ก็กำลังรอความช่วยเหลือจากทุกคน ช่วยกันระดมทุนให้ถึงยอดที่ต้องการ เพื่อผลิตหน้ากากออกมาได้จริง และนี่คือนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปไม่เพียงพอในช่วงที่ผ่านมา

1. หน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น WIN-Masks จากการร่วมมือกันของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุน

แมสก์ที่ว่าคิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากก็จริง แต่มีประสิทธิภาพดี เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งประชาชนที่ต้องพบปะคนหมู่มาก มีคุณสมบัติกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอน ​ป้องกันการซึมผ่านของสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลวจากภายนอกและจากผู้สวมใส่สู่ภายนอกได้ ความกระชับของหน้ากากก็แนบชิดกับใบหน้าป้องกันอากาศจากภายนอก แต่ยังระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้การหายใจลำบาก และสามารถซักซ้ำได้มากถึง 30 ครั้ง ช่วยลดการเพิ่มขึ้นของขยะได้อีกทาง

ปัจจุบันหลังจากสามารถผลิตเฟสแรกได้แล้วจำนวน 7,000 ชิ้น และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลหลักๆ ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว TCELS ตั้งเป้าผลิตอีกจำนวน 100,000 ชิ้น ภายใน 1-2 เดือน เพื่อแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ตามลำดับความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และเฟสสุดท้ายคือการผลิตในปริมาณมากให้ประชาชนทั่วไปสั่งซื้อ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งให้โครงการนี้สำเร็จได้ด้วยการระดมทุนให้ครบจำนวนเงินที่วางแผนไว้ได้ทาง social.sinwattana.com/viewCampaign/SEI9IB97GNI803#Story จะปิดรับระดมทุนในวันที่ 17 เมษายนนี้

2. หน้ากากสะท้อนน้ำ THAMMASK จากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ หน้ากากผ้า 3 ชั้น ที่ชั้นที่ 1-2 ทำด้วยผ้าคอตต็อนซิลก์ที่มีโครงสร้างเป็นด้ายยืนไมโครไฟเบอร์โพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติกันน้ำ กันไรฝุ่น เนื้อนุ่ม และระบายอากาศได้ดี มีการเคลือบสาร NUVA-1811 แทรกไปในเนื้อผ้า ทำให้น้ำไม่สามารถแทรกซึมได้ และชั้นในสุดทำด้วยผ้าคอตต็อนเพื่อดูดซับความชื้นและสารคัดหลั่ง

ปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางแผนผลิตหน้ากากนี้อีก 60,000 ชิ้น เพื่อมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนด้วย สามารถบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการได้ที่นี่taejai.com/th/d/thammask

3. สุดท้ายคือ ZSafe Thai หน้ากากของภาคเอกชนที่ผลิตขึ้นมาในช่วงที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัยและด้วยความตั้งใจให้ทุกคนเข้าถึงหน้ากากที่กันเชื้อได้อย่างถูกต้องในราคาประหยัด หน้ากากจึงมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำและกันน้ำ เมื่อโดนน้ำแล้วน้ำจะกลิ้งไหลออก ไม่ซึมลงบนผิวผ้า การกันน้ำที่ว่าเกิดจากโครงสร้างของผ้า ไม่ใช่การเคลือบด้วยสารเคมี จึงสามารถซักได้กว่า 50 ครั้ง โดยเสื่อมสภาพและลดประสิทธิภาพลงน้อยมาก

ในช่วงแรกนี้ ZSafe ตั้งใจทำขึ้นเพื่อบริจาคให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเร่งดำเนินการเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ขั้นตอนการสั่งจองสามารถติดตามได้ผ่านทางเพจ ZSafe Thai

นอกจากหน้ากากผ้าที่รวบรวมไว้ด้านบนแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเจ้าที่คิดค้นและเร่งผลิตให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน หากใครมีร้านในดวงใจที่อยากแนะนำก็สามารถบอกไว้ได้ ถึงแม้นวัตกรรมต่างๆ ที่เร่งคิดค้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในภาวะวิกฤตนี้จะทำได้ดีและน่าชื่นชม แต่อีกแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงการจัดการที่ล้มเหลวของภาครัฐเช่นเดียวกัน

‘ทรายแมวจากผักตบชวา’ นวัตกรรมเพื่อกระเป๋าเงินของทาสแมว

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้รายจ่ายอะไรที่ลดได้ก็ต้องลด แต่ทาสแมวทั้งหลายที่กำลังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของเจ้านาย ทั้งอาหาร ของเล่น และของจำเป็นราคาแพงอย่างทรายแมวสำหรับดูดซับปัสสาวะและอุจจาระของเจ้านาย ไม่ต้องกังวล ‘ทรายแมวจากผักตบชวา’ เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นความหวังให้ทุกคน

ทรายแมวจากผักตบชวาคือผลงานที่นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นขึ้นเพื่อเป็นโปรเจกต์จบการศึกษา ‘ปิ่นมณี ดอนจันทร์เยี่ยม’ ตัวแทนสมาชิกเล่าให้เราฟังว่า หลังจากฝึกงานในคลินิกสัตว์เลี้ยง เธอและเพื่อนพบว่าทรายแมวที่วางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีราคาค่อนข้างสูง จึงคิดนำผักตบชวาที่ภายในมีโครงสร้างในการดูดซับน้ำได้ดี แถมยังพบได้ทั่วไปในประเทศไทยมาทำทรายแมวทดแทน

“ทรายแมวที่วางขายทั่วไปมีหลายรูปแบบ และมีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอย่างซังข้าวโพดด้วย พอศึกษาก็พบว่าผักตบชวามีคุณสมบัติที่คล้ายกัน คือด้านในเป็นรูพรุนและดูดซับน้ำได้ ถ้าแมวอุจจาระใส่ก็จะจับตัวเป็นก้อนเหมือนทรายแมวทั่วไป แถมการใช้งานก็คุ้มค่าเพราะเมื่อเปื้อนปัสสาวะก็เพียงตักออกแล้วนำไปตากแดด ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก 2-3 ครั้ง”

ปิ่นมณียังบอกอีกว่า ทรายแมวจากผักตบชวานี้มีราคาถูกกว่าครึ่ง เพราะต้นทุนและวัตถุดิบที่ใช้มีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น และยังมีประโยชน์มากกว่าที่คิดเพราะ “ทรายแมวที่เราคิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างรักโลก ทำจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ง่าย เมื่อใช้งานเสร็จตักออกไปวางใต้ต้นไม้ วางไว้ที่ดิน ก็กลายเป็นปุ๋ยได้อีก เป็นประโยชน์ได้ทั้งสองทาง”

ปัจจุบันทรายแมวจากผักตบชวาของพวกเธอยังไม่มีจำหน่ายที่ไหน เพราะกำลังปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นอยู่ อดใจรอและเป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยต่ออีกนิด อีกไม่นานทาสแมวทั้งหลายอาจมีทรายแมวราคาถูกและคุณภาพดีออกมาใช้กันจริงๆ

‘School Power’ โครงการจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ที่อยากให้โรงเรียนติดชายแดนอยู่ได้อย่างแข็งแรง

‘School Power’ คือโครงการที่มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้รับการสนับสนุนจาก Philanthropy Connections Foundation (PCF) ตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนไทย ซึ่งในอดีตเมื่อได้รับผลกระทบจากสงครามในรัฐกะเหรี่ยงโรงเรียนจะถูกปิด เด็กๆ จากโรงเรียนเหล่านั้นก็จะข้ามฝั่งมาไทยเพื่อทำงานและเรียนหนังสือ ช่วงไหนที่เหตุการณ์สงบก็ย้ายกลับไป โดยมีแนวคิดว่าหากสามารถทำให้โรงเรียนเหล่านั้นเข้มแข็งได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย

พิม–พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เล่าให้ฟังว่าโครงการนี้คือการทำงานร่วมกับ 8 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมศักยภาพทั้งด้านความรู้ของครู การทำกิจกรรมกับเด็ก รวมถึงการร่วมมือกับกรรมการโรงเรียน ให้เขาสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะตอนนี้โรงเรียนอยู่ได้ด้วยการบริจาคจากองค์กรการกุศล ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนครูหรืออุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก

“เราเชื่อมั่นในการศึกษา เด็ก และโรงเรียน คำว่า school power มันทำให้เกิด powerful school และกลายเป็น powerful community ถ้าโรงเรียนของเขาเข้มแข็งเขาก็จะสามารถอยู่ที่ชุมชนซึ่งเป็นบ้านของเขาได้ เราไม่ได้ทำงานด้วยความคิดที่ว่าจะช่วยเหลือเฉพาะคนไทยด้วยกัน หรือไม่ช่วยเหลือเพียงแค่ว่าโรงเรียนเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย”

พิมบอกว่ากิจกรรมที่จะผลักดันให้โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองคือ การส่งเสริมศักยภาพครูในแง่ของการบริหารจัดการกิจกรรมพึ่งตนเอง และอาจยกตัวอย่างผลงานของโรงเรียนอื่นๆ ในฝั่งไทยหรือต่างประเทศให้ โดยที่ครูจะกลับไปคุยกับกรรมการโรงเรียนและนักเรียนเพื่อดูว่าโรงเรียนอยากทดลองทำอะไร

“ตัวอย่างเช่นโรงเรียนจิโพคี ตั้งอยู่ในหมู่บ้านใกล้แม่น้ำเมย ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการ ก็คิดสอนเรื่องการทอผ้าทำย่ามให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน เพราะเห็นว่าปัจจุบันการเรียนรู้ด้านหัตถกรรมและภูมิปัญญานั้นขาดหายไป เราจึงช่วยเสริมโดยการนำสินค้ามาขายใน Friends Without Borders Shop รายได้จากการขายสินค้าทางโรงเรียนก็สามารถเก็บเป็นกองทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ที่ผ่านมาเด็กไม่สบายต้องผ่าตัดไส้ติ่ง จะต้องนำเด็กมารักษาที่ฝั่งไทย ทุนที่ได้ก็จะใช้สำหรับนักเรียนเวลาเจ็บป่วยด้วย”

แม้ปัจจุบันย่ามฝีมือเด็กนักเรียนจากโรงเรียนจิโพคีจะจำหน่ายหมดไปเรียบร้อยแล้ว และอาจต้องรอให้น้องๆ เปิดเทอมถึงจะมีการจัดทำขึ้นอีกครั้ง แต่พิมบอกว่า “วิธีการที่จะช่วยสนับสนุนโครงการนี้ได้ส่วนหนึ่งคือการซื้อข้าวของฝีมือของน้องๆ นักเรียนอย่างนี้ หรือหากมีไอเดีย รู้สึกว่าทรัพยากรในแถบชายแดนน่าจะทำอะไรได้ ก็แนะนำเข้ามาได้ สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือการรับรู้และการเข้าใจกันมากกว่า อยากให้คนที่เข้าใจช่วยกันเผยแพร่ความคิดนี้ต่อไปให้คนรอบข้าง สร้างความเข้าใจว่าเราเป็นพี่น้องกันทั้งหมด ช่วยเหลืออะไรได้เราก็ช่วย”

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทันหรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0