โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รวมคำสอนของ ‘พ่อ‘ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แรงบันดาลใจ เรื่องการดำเนินชีวิต และการทำงาน

MotorExpo

เผยแพร่ 06 ต.ค. 2560 เวลา 09.37 น.
รวมคำสอนของ ‘พ่อ‘ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แรงบันดาลใจ เรื่องการดำเนินชีวิต และการทำงาน
ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ได้ให้พระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเป็นคนดี การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม เชื่อว่าหลายๆ พระบรมราโชวาทที่พระองค์มอบให้นั้น พวกเราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่จะมีใครรู้ไหมว่าพระบรม

ตั้งแต่ทรงครองราชย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น 'ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ' ทรงมีพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสกับปวงชนชาวไทยนานัปการ ในการให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม และทรงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเราในทุกๆ ด้าน ซึ่งหากเราใส่ใจและสนใจนำพระราชดำรัสมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเรา ทั้งด้านความคิดด้านการงาน ครอบครัว และการใช้ชีวิตแล้ว เชื่อแน่ว่าจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน

พระราชดำรัสของพระองค์ที่มอบให้แก่พวกเราชาวไทยในหลากหลายเรื่องนั้น ล้วนแล้วแต่มีคติสอนใจที่อยากให้ทุกคนนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุข ความสำเร็จ และความเจริญของเราเปรียบเสมือนเป็น ‘คำสอนของพ่อ’ ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่า

ต่อไปนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ได้ให้พระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเป็นคนดี การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม เชื่อว่าหลายๆ พระบรมราโชวาทที่พระองค์มอบให้นั้น พวกเราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่จะมีใครรู้ไหมว่าพระบรมราโชวาทนั้น เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อใด

● ขอน้อมนำพระบรมราโชวาท มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งพระบรมราโชวาทที่คัดเลือกมานี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และแก้ไขปัญหาการทำงานได้ด้วย ●

● การทำความดี…

‘การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี’ ●

พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร
๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๕

● คนเราต้องเตรียมตัว…

‘คนเราต้องเตรียมตัว เพื่อที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่การเตรียมตัวนั้น ก็ต้องมีความรู้ประกอบด้วย มีการฝึกนิสัยใจคอของตนให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ด้วย สิ่งที่สำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคือ ต้องรู้จัก ตัวเอง รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร รู้ว่าตัวต้องการอะไร’ ●

กระแสพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่
๓ มกราคม ๒๕๑๖

● คนเราต้องมีความสบายใจ…

'ความสบายใจของคนเป็นของที่หายาก คนเราต้องมีความสบายใจ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นได้' ●

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน ‘๕ ธันวา วันมหาราช’ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
๕ เมษายน ๒๕๒๑

● เมื่อมีโอกาสทำงาน…

การทำงาน…'เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น' ●

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐

● ต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา…

'การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้ง
ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ' ●

พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา
๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓

● ต้องช่วยกันทำ…

'ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคน จะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ' ●

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
๔ ธันวาคม ๒๕๓๓

● ต้องตั้งเป้าหมาย

'…การทำงานใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถ ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกัน และขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง…' ●

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐

● การคิดก่อนพูด…

‘หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทําสิ่งไร จําเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชํานาญแล้ว จะกระทําได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม…’ ●

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕

● ความเจริญในการทำงาน…

'ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสําคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับใช้กระทําการทํางาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบ คือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม' ●

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานี
๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙

● คนดี…

'ในบ้านเมืองนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดีไม่มีใครที่จะทําให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทําให้ บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทําให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอํานาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…' ●

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมชนลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี
๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒

● ความสามัคคี…

'สามัคคีนี้ก็คือ การเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม…' ●

พระราชดํารัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล
๑๕ มกราคม ๒๕๑๙

● คนเราจะต้องรับและจะต้องให้…

*'คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่า ต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้' ● *

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
๒๐ เมษายน ๒๕๒๑

● พูดจริง ทำจริง…

*'ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม' ● *

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐

● การปิดทองหลังพระ…

'การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก

เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

● ต้องมีความสุจริต…

'คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้
ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒

● ต้องสร้างพื้นฐาน…

'การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น
ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้
จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆ กันได้' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓

● ต้องมีใจที่เป็นกลาง…

'หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน
เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว
ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕

● ความจริงใจทำการใดก็สำเร็จ…

'ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ
เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ
และเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย
ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕

● ต้องศรัทธาในงาน…

*'งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงาน เช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน *

ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖

● คิดก่อนพูดและทำ…

'ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด
การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐

● พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น…

'ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ
และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ
ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐

*● รู้จักประมาณตน… *

'การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด
และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง
เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้
และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น' ●

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0